สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2558 เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ ค่าใช้จ่าย ภาวะหนี้สิน และทรัพย์สินของครัวเรือน ตลอดจนลักษณะที่อยู่อาศัย โดยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลทุกเดือน (มกราคม - ธันวาคม 2558) จากครัวเรือนตัวอย่างในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทั้งในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาล เพื่อสนองความต้องการของผู้ใช้ข้อมูล สำนักงานสถิติแห่งชาติได้จัดทำสรุปผลการสำรวจเบื้องต้นเพื่อนำเสนอข้อมูล ในระดับหนึ่งก่อนที่รายงานฉบับสมบูรณ์จะแล้วเสร็จ โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจ 6 เดือนแรก (มกราคม - มิถุนายน 2558) จำนวนครัวเรือนตัวอย่างประมาณ 26,000 ครัวเรือน ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายที่นำเสนอเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่จำเป็นต้องใช้ในการยังชีพเท่านั้น จึงไม่รวมการสะสมทุน เช่น ซื้อบ้าน/ที่ดิน และเงินออมซึ่งสรุปผลการสำรวจที่สำคัญ ได้ดังนี้
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 ครัวเรือนทั่วประเทศ มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 27,545 บาท ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการทำงานร้อยละ 72.6 ซึ่งได้แก่ ค่าจ้างและเงินเดือน ร้อยละ 43.9 กำไรสุทธิจากการทำธุรกิจร้อยละ 19.6 และกำไรสุทธิจากการทำการเกษตรร้อยละ 9.1 และมีรายได้ที่ไม่ได้เกิดจากการทำงาน เช่น เงินที่ได้รับความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นนอกครัวเรือน/รัฐร้อยละ 11.0 รายได้จากทรัพย์สิน เช่นดอกเบี้ยร้อยละ 1.5 นอกจากนั้นยังมีรายได้ที่ไม่เป็นตัวเงินซึ่งอยู่ในรูปสวัสดิการ/สินค้า และบริการต่างๆร้อยละ 13.4
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 ครัวเรือนทั่วประเทศมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 21,818 บาท ค่าใช้จ่ายร้อยละ 33.6 เป็นค่าอาหารและเครื่องดื่ม (ซึ่งในจำนวนนี้มีค่าเครื่องดื่มที่เป็นแอลกอฮอล์ร้อยละ 0.7) รองลงมาเป็นค่าที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้ภายในบ้านร้อยละ 20.3 ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินทางและยานพาหนะร้อยละ 18.3 ของใช้ส่วนบุคคล/เครื่องนุ่งห่ม/รองเท้าร้อยละ 6.4 ใช้ในการสื่อสารร้อยละ 3.3 ใช้เพื่อการศึกษา ค่าเวชภัณฑ์/ค่ารักษาพยาบาล และการบันเทิง/การจัดงานพิธี คือร้อยละ 1.7 1.5 และ 1.2 กิจกรรมทางศาสนามีเพียงร้อยละ 1.1 ในส่วนของค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค เช่นค่าภาษี ของขวัญ เบี้ยประกันภัย ซื้อสลากกินแบ่ง/หวย ดอกเบี้ย พบว่ามีการใช้จ่ายสูงถึงร้อยละ 12.6
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 พบว่าครัวเรือนที่มีหนี้สินมีร้อยละ 49.2 โดยมีจำนวนหนี้สินเฉลี่ย 163,276 บาท ต่อครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการก่อหนี้เพื่อใช้ในครัวเรือน (ร้อยละ 74.9) คือใช้ในการอุปโภคบริโภคร้อยละ 40.4 ซื้อบ้าน/ที่ดินร้อยละ 33.3 และหนี้เพื่อใช้ในการศึกษามีเพียงร้อยละ 1.2 เท่านั้น สำหรับหนี้เพื่อใช้ในการลงทุนและอื่นๆ พบว่าเป็นหนี้ที่ใช้ทำการเกษตรร้อยละ 14.0 และใช้ทำธุรกิจร้อยละ 10.4
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 พบว่าส่วนใหญ่ครัวเรือนเป็นหนี้ในระบบ โดยครัวเรือนที่มีหนี้ในระบบอย่างเดียวร้อยละ 91.4 และครัวเรือนที่มีหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบร้อยละ 3.5 สำหรับครัวเรือนที่มีหนี้นอกระบบอย่างเดียว มีเพียงร้อยละ 5.1 และพบว่าจำนวนเงินเฉลี่ยที่เป็นหนี้ในระบบ สูงกว่าหนี้นอกระบบถึง 49 เท่า (160,012 บาท และ 3,264 บาท ตามลำดับ)
เมื่อพิจารณารายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สินของครัวเรือนเป็นรายภาค พบว่ากรุงเทพ ฯ และ 3 จังหวัด คือ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงกว่าภาคอื่นมาก คือ 44,719 บาท โดยมีค่าใช้จ่ายและจำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงสุดเช่นเดียวกัน คือ 33,199 บาทและ 203,341 บาท ตามลำดับ แต่ในทางกลับกันมีสัดส่วนของค่าใช้จ่ายต่อรายได้ต่ำสุดเมื่อเทียบกับภาคอื่น คือร้อยละ 74.2 และพบว่าครัวเรือนในภาคกลาง เป็นภาคที่มีสัดส่วนของค่าใช้จ่ายต่อรายได้สูงสุดถึงร้อยละ 82.7 ซึ่งจะทำให้เกิดการออม หรือชำระหนี้ได้น้อยมากเมื่อเทียบกับครัวเรือนในภาคอื่น ๆ
เมื่อพิจารณาตามอาชีพ พบว่าครัวเรือนลูกจ้างที่เป็นผู้จัดการ/นักวิชาการ/ผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพ มีรายได้เฉลี่ยสูงสุดถึง 59,733 บาท รองลงมา ได้แก่ครัวเรือนของผู้ประกอบธุรกิจของตนเองที่ไม่ใช่เกษตร เสมียน/พนักงาน/ผู้ให้บริการ และผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการผลิต 35,275 26,399 และ 22,520 บาท ตามลำดับ และรายได้ต่ำสุดคือครัวเรือนประมง ป่าไม้ ล่าสัตว์ฯ 12,925 บาท และพบว่าครัวเรือนอาชีพใดมีรายได้สูง ส่วนใหญ่จะมีค่าใช้จ่ายและจำนวนเงินที่เป็นหนี้สูงเช่นเดียวกัน
เมื่อเปรียบเทียบรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สินต่อรายได้ พบว่า ครัวเรือนทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2549 ถึง 2558 มีรายได้เฉลี่ยมากกว่าค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการยังชีพ และพบว่ารายได้และค่าใช้จ่ายฯ ตั้งแต่ปี 2549 ถึง 2558 เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คือ รายได้เพิ่มจาก 17,787 บาท เป็น 27,545 บาท และค่าใช้จ่ายฯ เพิ่มจาก 14,311 บาท เป็น 21,818 บาท ตามลำดับ และเมื่อพิจารณาผลต่างของรายได้ และค่าใช้จ่ายฯ ในปี 2558 พบว่ารายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการยังชีพ 5,727 บาทต่อครัวเรือน หรือประมาณ 1,975 บาทต่อคน (ขนาดของครัวเรือนเฉลี่ยเท่ากับ 2.9 คน) ซึ่งส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ในการชำระหนี้ เช่น หนี้เพื่อการซื้อบ้าน/ที่ดิน หนี้อุปโภคบริโภค และรายได้ส่วนที่เหลือจากการชำระหนี้และไม่ได้ถูกใช้สอยออกไปก็มีเหลือไว้สำหรับการเก็บออม เป็นต้น
เมื่อเปรียบเทียบหนี้สินต่อรายได้ของครัวเรือนในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ลดลงจากปี 2549 คือ 6.6 เท่า เป็น 5.9 เท่าในปี 2558 มีเพียงปี 2556 เท่านั้นที่หนี้สินต่อรายได้ปรับตัวสูงขึ้น อาจเป็นเพราะมีการก่อหนี้อย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น เพื่อการซ่อมแซมหลังน้ำท่วมในปี 2554 รวมทั้งการกู้เงินเพื่อซื้อบ้านหลังแรก รถยนต์คันแรก ตามโครงการของรัฐในช่วงปี 2555 - 2556
เมื่อพิจารณาจำนวนครัวเรือนที่เป็นหนี้ และหนี้สิน เฉลี่ยต่อครัวเรือนในระหว่าง ปี 2549 - 2558 พบว่าสัดส่วนของครัวเรือนที่เป็นหนี้ลดลงตามลำดับ คือ ลดลงจากร้อยละ 64.4 ในปี 2549 เป็นร้อยละ 49.2 ในปี 2558 แต่จำนวนเงินที่เป็นหนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเพิ่มจาก 116,585 บาท ในปี 2549 เป็น 163,276 บาท ในปี 2558 โดยในปี 2558 เพิ่มขึ้นจากปี 2556 เพียงเล็กน้อยคือ 0.1 เท่านั้น
ในการวิเคราะห์การกระจายรายได้ โดยได้จัดแบ่งครัวเรือนทั่วประเทศเป็น 5 กลุ่มเท่าๆ กัน และนำมาเรียงลำดับตามรายได้ประจำต่อคนต่อเดือนจากน้อยไปมาก (กลุ่มที่ 1 มีรายได้ต่ำสุด และกลุ่มที่ 5 มีรายได้สูงสุด) พบว่าในปี 2558 กลุ่มที่มีรายได้สูงสุด มีส่วนแบ่งของรายได้ร้อยละ 45.2 ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุด มีส่วนแบ่งของรายได้ร้อยละ 6.8 แต่อย่างไรก็ตาม พบว่าความเหลื่อมล้ำ ของรายได้มีแนวโน้มลดลง คือ กลุ่มที่มีรายได้สูงสุดลดลงร้อยละ 1.6 ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุด (กลุ่มที่ 1) และกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง (กลุ่มที่ 2 และ 3) มีส่วนแบ่งของรายได้เพิ่มขึ้น และพบว่าค่าสัมประสิทธิ์ของความไม่เสมอภาค (Gini Coefficient) ด้านการกระจายรายได้ของครัวเรือนทั่วประเทศทั้ง 5 กลุ่มมีค่าลดลง คือ 0.367 ในปี 2556 เป็น 0.347 ในปี 2558 บาท
สำหรับรายได้ประจำต่อคนต่อเดือน โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 8,180 บาท ในปี 2556 เป็น 9,330 บาท ในปี 2558 โดยเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่ม คือครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุด มีรายได้ประจำต่อคนต่อเดือนเพิ่มขึ้นจาก 24,528 บาท เป็น 26,556 บาท และครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุด มีรายได้ประจำต่อคนต่อเดือนเพิ่มขึ้นจาก 1,973 บาท เป็น 2,529 บาท
- 1/ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่จำเป็นต้องใช้ในการยังชีพ โดยไม่รวมค่าใช้จ่ายประเภทสะสมทุน เช่น การซื้อบ้าน/ ที่ดิน และเงินออม เป็นต้น