การสำรวจปี 2557 นี้มีสถานประกอบการ ในภาคใต้ ที่ตกเป็นตัวอย่างทั้งสิ้น 5,708 แห่ง ข้อมูลที่นำเสนอเป็นผลการดำเนินงานในรอบปี 2556 (1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2556) ของสถานประกอบการธุรกิจทางการค้าและธุรกิจทางการบริการที่ตั้งอยู่ใน ภาคใต้ สรุปได้ดังนี้
จากการสุ่มตัวอย่างและการประมาณ ค่าทางสถิติ พบว่า มีสถานประกอบการธุรกิจทางการค้าและธุรกิจทางการบริการในภาคใต้ จำนวน 278,186 แห่ง ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 46.2 ประกอบธุรกิจการขายปลีก (ยกเว้นยานยนต์ และจักรยานยนต์) รองลงมาประกอบธุรกิจที่พักแรม การบริการอาหารและเครื่องดื่มและกิจกรรมการบริการอื่นๆประมาณร้อยละ 18.6 และร้อยละ 12.1 ตามลำดับสถานประกอบการที่ประกอบธุรกิจการขายส่งและการขายปลีกการซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ และธุรกิจการขายส่ง(ยกเว้นยานยนต์และจักรยานยนต์)มีประมาณร้อยละ 8.4 และร้อยละ 6.5 ตามลำดับ สำหรับธุรกิจนอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้นแต่ละหมวดมีสัดส่วนต่ำกว่าร้อยละ 4.0 ของจำนวนสถานประกอบการธุรกิจทั้งสิ้น
ขนาดของสถานประกอบการธุรกิจฯ เมื่อวัดด้วยจำนวนคนทำงาน พบว่า เป็นสถานประกอบการที่มีคนทำงาน 1-15 คน จำนวน 275,330 แห่ง หรือร้อยละ 99.0 ส่วนสถานประกอบการที่มีคนทำงาน 16 คนขึ้นไป มีจำนวน 2,856 แห่ง หรือร้อยละ 1.0 เมื่อพิจารณาสถานประกอบการที่มีคนทำงาน 16 คนขึ้นไป ในจำนวนนี้เป็นสถานประกอบการที่มีคนทำงาน 16 - 25 คน จำนวน 1,216 แห่ง สถานประกอบการที่มีคนทำงาน 51-200 คน 31-50 คน และ 26-30 คน มีประมาณ 672 แห่ง 586 แห่ง และ 279 แห่ง ตามลำดับ ส่วนสถานประกอบการที่มีคนทำงานมากกว่า 200 คน มีจำนวนเพียง 103 แห่ง
สถานประกอบการธุรกิจฯ ส่วนใหญ่ร้อยละ 93.1 มีรูปแบบการจัดตั้งตามกฎหมายเป็นส่วนบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนที่ไม่เป็นนิติบุคคล รองลงมามีรูปแบบเป็นส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ สหกรณ์ มูลนิธิ สมาคม และอื่นๆ ประมาณร้อยละ 2.9 สถานประกอบการที่มีรูปแบบการจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัด บริษัทจำกัด (มหาชน) และห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด มีประมาณร้อยละ 2.4 และร้อยละ 1.6 ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาตามขนาดของสถานประกอบการ พบว่า สถานประกอบการที่มีคนทำงาน 1-15 คน ดำเนินกิจการในรูปแบบที่เป็นส่วนบุคคล มากที่สุดถึงร้อยละ 93.9 ในขณะที่สถานประกอบการที่มีคนทำงานมากกว่า 200 คน ดำเนินกิจการในรูปแบบบริษัทจำกัด บริษัทจำกัด (มหาชน) ร้อยละ 88.4
สถานประกอบการธุรกิจฯ ในภาคใต้ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 98.2 มีรูปแบบเป็นสำนักงานแห่งเดียว ไม่มีสำนักงานใหญ่หรือสาขาอยู่ที่ใด ที่มีรูปแบบเป็นสำนักงานสาขาและสำนักงานใหญ่ มีประมาณร้อยละ 1.4 และร้อยละ 0.4 ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาตามขนาดของสถานประกอบการ (ตามจำนวนคนทำงาน) พบว่า มากกว่าร้อยละ 40 ของสถานประกอบการทุกขนาด มีรูปแบบ การจัดตั้งเป็นสำนักงานแห่งเดียว
สถานประกอบการธุรกิจฯในภาคใต้ที่ดำเนินกิจการ 10-19 ปี และ 5-9 ปี มีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันประมาณร้อยละ 35.8 และร้อยละ 35.2 ตามลำดับ รองลงมาดำเนินกิจการน้อยกว่า 5 ปี และ 20-29 ปี ประมาณร้อยละ 14.0 และร้อยละ 9.3 ตามลำดับ ส่วนสถานประกอบการที่ดำเนินกิจการตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปมีเพียงร้อยละ 5.7
เมื่อพิจารณาตามขนาดของสถานประกอบการ (ตามจำนวนคนทำงาน) พบว่า สถานประกอบการทุกขนาดส่วนใหญ่หรือมากกว่าร้อยละ 50 ดำเนินกิจการตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
สถานประกอบการธุรกิจฯในภาคใต้ที่มีทุนจดทะเบียนมีจำนวน 8,296 แห่ง หรือร้อยละ 3.0 ของจำนวนสถานประกอบการทั้งสิ้น ในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.3 มีทุนจดทะเบียนน้อยกว่า 10 ล้านบาท ที่มีทุนจดทะเบียน 10-99 ล้านบาท มีประมาณร้อยละ 7.6 สำหรับสถานประกอบการที่มีทุนจดทะเบียนตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไปมีเพียงร้อยละ 2.1
การประกอบธุรกิจทางการค้าและธุรกิจทางการบริการในภาคใต้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 99.9 ไม่มีการร่วมลงทุนจากต่างประเทศส่วนที่มีต่างประเทศร่วมลงทุนหรือถือหุ้นในกิจการมีเพียงร้อยละ 0.1 ในจำนวนนี้ พบว่าสถานประกอบการที่มีต่างประเทศร่วมลงทุนโดย ถือหุ้น 10-50% มีประมาณร้อยละ 97.4 ที่เหลือร้อยละ 2.6 เป็นสถานประกอบการที่มีต่างประเทศร่วมลงทุนโดยถือหุ้นน้อยกว่า 10%
คนทำงาน ซึ่งหมายถึงเจ้าของกิจการหรือหุ้นส่วนที่ทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างเงินเดือน และรวมลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการ พบว่า ปี 2556 มีคนทำงานในสถานประกอบการธุรกิจฯ ในภาคใต้ ทั้งสิ้นประมาณ 852,940 คน ในจำนวนนี้เป็นคนทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง/เงินเดือน จำนวน 449,543 คน หรือร้อยละ 52.7 มีการจ้างงานหรือลูกจ้างจำนวน 403,397 คนหรือร้อยละ 47.3 โดยเป็นลูกจ้างระดับปฏิบัติการจำนวน 382,080 คน หรือร้อยละ 94.7 และลูกจ้างระดับบริหารจัดการ จำนวน 21,317 คน หรือร้อยละ 5.3
เมื่อพิจารณาการจ้างงานตามขนาดของสถานประกอบการ พบว่า ลูกจ้างที่ปฏิบัติงานในสถานประกอบการที่มีคนทำงาน 1-15 คน มีประมาณร้อยละ 62.4 รองลงมาเป็นลูกจ้างในสถานประกอบการที่มีคนทำงาน 51-200 คน และ มากกว่า 200 คน ประมาณร้อยละ 16.2 และร้อยละ 8.4 ตามลำดับ สำหรับลูกจ้างในสถานประกอบการขนาดอื่นแต่ละขนาดมีสัดส่วนของลูกจ้างต่ำกว่า ร้อยละ 6.0 (ตาราง 1)
เมื่อพิจารณาการจ้างงานตามหมวดย่อยธุรกิจ พบว่า มีการจ้างงานหรือลูกจ้างในธุรกิจที่พักแรม การบริการอาหารและเครื่องดื่ม มากที่สุดจำนวน 138,478 คน หรือร้อยละ 34.3 รองลงมาปฏิบัติงานในธุรกิจการขายปลีก (ยกเว้นยานยนต์ และจักรยานยนต์) มีจำนวน 102,832 คน หรือร้อยละ 25.5 สำหรับลูกจ้างที่ปฏิบัติงานในธุรกิจการขายส่ง (ยกเว้นยานยนต์ และจักรยานยนต์) มีจำนวน 54,226 คน หรือร้อยละ 13.4 ที่เหลือปฏิบัติงานในธุรกิจนอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น
สถานประกอบการธุรกิจฯ ในภาคใต้ที่มีการจ้างงานหรือลูกจ้างในสถานประกอบการมีจำนวน 97,575 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 35.1 ของสถานประกอบการทั้งสิ้น เมื่อพิจารณาจำนวนวันทำงานต่อสัปดาห์ของลูกจ้าง พบว่า สถานประกอบการที่มีลูกจ้างปฏิบัติงาน 5-6 วันต่อสัปดาห์ มีประมาณร้อยละ 64.2 ที่ปฏิบัติงาน 7 วันต่อสัปดาห์ มีประมาณร้อยละ 33.7 และ ร้อยละ 2.1 ปฏิบัติงานน้อยกว่า 5 วันต่อสัปดาห์
เมื่อพิจารณาจำนวนชั่วโมงทำงานเฉลี่ยต่อวันของลูกจ้าง พบว่า สถานประกอบการส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.9 มีลูกจ้างปฏิบัติงานเฉลี่ย 8-10 ชั่วโมงต่อวัน สถานประกอบการที่มีลูกจ้างปฏิบัติงานน้อยกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน มีประมาณ ร้อยละ 13.8 ส่วนที่มีลูกจ้างปฏิบัติงานมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน มีประมาณร้อยละ 8.3
ลูกจ้างที่ปฏิบัติงานในสถานประกอบการธุรกิจทางการค้าฯ ได้รับค่าตอบแทนแรงงาน รวมทั้งสิ้นประมาณ 53,502.6 ล้านบาท หรือโดยเฉลี่ย 132,630 บาทต่อคนต่อปี โดยลูกจ้างที่ปฏิบัติงาน ในธุรกิจเกี่ยวกับกิจกรรมทางวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และเทคนิค ได้รับค่าตอบแทนแรงงานเฉลี่ยต่อคนต่อปีสูงสุดคือ 166,446 บาท รองลงมาคือลูกจ้างที่ปฏิบัติงานในธุรกิจข้อมูลข่าวสาร และการสื่อสาร และธุรกิจเกี่ยวกับกิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ ได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ยต่อคนต่อปี 162,014 บาท และ 147,558 บาท ตามลำดับ สำหรับลูกจ้างที่ปฏิบัติงานในธุรกิจศิลปะความบันเทิง และนันทนาการ ได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ยต่อคนต่อปีต่ำที่สุด คือ 83,683 บาท
ในปี 2556 การประกอบธุรกิจทางการค้าและธุรกิจทางการบริการในภาคใต้ มีรายได้จากการดำเนินงาน รวมทั้งสิ้นประมาณ 840,304.6 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายขั้นกลางประมาณ 655,100.6 ล้านบาท และมูลค่าเพิ่มรวมทั้งสิ้นประมาณ 185,204.0 ล้านบาท โดยมูลค่าเพิ่มต่อรายได้จากการดำเนินงานมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 22.0 สำหรับรายได้จากการดำเนินงานเฉลี่ยต่อสถานประกอบการมีมูลค่าประมาณ 3.0 ล้านบาท และรายได้จากการดำเนินงานเฉลี่ยต่อคนทำงานมีมูลค่าประมาณ 985,200 บาท ส่วนมูลค่าเพิ่มเฉลี่ยต่อสถานประกอบการ และเฉลี่ยต่อคนทำงาน มีมูลค่าประมาณ 665,800 บาท และ 217,100 บาท ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาตามหมวดย่อยธุรกิจ พบว่า ธุรกิจการขายปลีก(ยกเว้นยานยนต์ และจักรยานยนต์) มีรายได้จากการดำเนินงานและมูลค่าเพิ่มสูงที่สุดประมาณ 351,278.7 ล้านบาท และ 64,552.9 ล้านบาท รองลงมาคือธุรกิจการขายส่ง(ยกเว้นยานยนต์และจักรยานยนต์) มีรายได้จากการดำเนินงานประมาณ 203,243.1 ล้านบาทและธุรกิจที่พักแรม การบริการอาหารและเครื่องดื่มมีมูลค่าเพิ่มประมาณ 41,500.9 ล้านบาท สำหรับธุรกิจข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร มีรายได้จากการดำเนินงานและมูลค่าเพิ่มต่ำที่สุดคือประมาณ 894.1 ล้านบาท และ 470.9 ล้านบาท ตามลำดับ
ผู้ประกอบการธุรกิจฯ ในภาคใต้ประมาณร้อยละ 76.6 ได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญในการดำเนินกิจการ ดังนี้ เศรษฐกิจไม่ดี/ชะลอตัว กำลังซื้อของลูกค้าลดลง การแข่งขันทางการค้าเพิ่มมากขึ้น ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจสูงขึ้น และขาดเงินลงทุนและเงินหมุนเวียนในการประกอบกิจการ เป็นต้น
สำหรับความช่วยเหลือที่สถานประกอบการต้องการจากหน่วยงานของรัฐนั้น มีผู้ประกอบการธุรกิจฯ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณร้อยละ 64.8 ได้ระบุความต้องการและข้อเสนอแนะ ดังนี้ รัฐควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการควบคุมราคาสินค้า มาตรการลดอัตราภาษี สร้างเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศฯ รวมทั้งสนับสนุนแหล่งเงินทุน และลดอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น
ภาพรวมของการประกอบการธุรกิจทางการค้าและธุรกิจทางการบริการในภาคใต้ ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า จำนวนสถานประกอบการการจ้างงาน มูลค่ารายรับ และมูลค่าเพิ่ม มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลสำรวจธุรกิจทางการค้าและธุรกิจทางการบริการ ปี 2557 กับปี 2553 ซึ่งเป็นข้อมูลผลการดำเนินกิจการในรอบปีก่อนหน้าการสำรวจ พบว่า ในช่วง 5 ปีนี้ สถานประกอบการธุรกิจฯ ที่มีคนทำงาน 1 คนขึ้นไป ที่ตั้งอยู่ในภาคใต้ มีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 สำหรับจำนวนคนทำงาน และคนทำงานเฉลี่ยต่อสถานประกอบการเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.6 และร้อยละ 14.8 ตามลำดับ
ในด้านการจ้างงาน พบว่า จำนวนลูกจ้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.8 จำนวนลูกจ้างเฉลี่ยต่อสถานประกอบการเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4 สำหรับค่าตอบแทนแรงงานที่ลูกจ้างได้รับมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 66.7 ในช่วงระยะเวลา 5 ปี
สำหรับมูลค่ารายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 52.9 ซึ่งส่งผลให้มูลค่าเพิ่มของสถานประกอบการธุรกิจทางการค้าและธุรกิจทางการบริการในภาคใต้ ในช่วงระยะเวลา 5 ปีนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.1
ผลจากการสำรวจธุรกิจทางการค้าและธุรกิจทางการบริการ พ.ศ. 2557 พบว่ามีสถานประกอบการธุรกิจที่ตั้งอยู่ในภาคใต้ จำนวนประมาณ 278,186 แห่ง ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 99.0 เป็นสถานประกอบการขนาดเล็ก ที่มีคนทำงาน 1-15 คน ธุรกิจที่สำคัญได้แก่ ธุรกิจการขายปลีก(ยกเว้นยานยนต์ และจักรยานยนต์) มีประมาณร้อยละ 46.2 คนทำงานในสถานประกอบการ มีทั้งสิ้นประมาณ 852,940 คน มีการจ้างงานหรือลูกจ้างจำนวน 403,397 คน โดยมีค่าตอบแทนเฉลี่ยของลูกจ้างต่อคนต่อปีประมาณ 132,630 บาท สำหรับรายได้จากการดำเนินงาน ค่าใช้จ่ายขั้นกลางและมูลค่าเพิ่ม มี มูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 840,304.6 ล้านบาท655,100.6 ล้านบาทและ 185,204.0 ล้านบาทตามลำดับ
เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างปี 2552-2556 พบว่า ผลจากการสำรวจสะท้อนให้เห็นว่าในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาการประกอบธุรกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนสถานประกอบการที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งมีการจ้างงานและอัตราค่าตอบแทนแรงงานที่เพิ่มขึ้น แต่มีบางช่วงเวลาที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่ปกติ เช่น ภัยธรรมชาติ ความไม่สงบทางการเมือง และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก