บทสรุปสำหรับผู้บริหาร ภาวะการทำงานของประชากร เดือนสิงหาคม 2559

ข่าวผลสำรวจ Thursday September 1, 2016 09:45 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

โครงสร้างกำลังแรงงาน

ผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559 พบว่า จำนวนผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป 55.66 ล้านคน โดยเป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานหรือผู้ที่พร้อมที่จะทำงาน 38.86 ล้านคน ซึ่งประกอบด้วย ผู้มีงานทำ 38.46 ล้านคน ผู้ว่างงาน 3.60 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล 3.84 หมื่นคน ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงานหรือผู้ที่ไม่พร้อมทำงาน 16.80 ล้านคน ได้แก่ แม่บ้าน นักเรียน คนชรา เป็นต้น

ภาวะการทำงาน

- การทำงาน

สำหรับจำนวนผู้มีงานทำ 38.46 ล้านคน ประกอบด้วยผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรม 12.92 ล้านคน และนอกภาคเกษตรกรรม 25.54 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558 พบว่า จำนวนผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรมลดลง 5.9 แสนคน (จาก 13.51 ล้านคน เป็น 12.92 ล้านคน) ส่วนใหญ่เป็นการลดลงในการปลูกข้าวเหนียว การปลูกข้าวจ้าว การปลูกยางพารา และการปลูกลำไย ในขณะที่นอกภาคเกษตรกรรมมีจำนวนผู้ทำงานเพิ่มขึ้น 5.6 แสนคน (จาก 24.98 ล้านคน เป็น 25.54 ล้านคน) ในจำนวนนี้เป็นการเพิ่มขึ้นในสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 3.2 แสนคน สาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และร5จักรยานยนต์ 3.1 แสนคน สาขาการก่อสร้าง 1.2 แสนคน และสาขากิจกรรมการบริการด้านอื่น ๆ เช่น กิจกรรมบริการเพื่อสร้างเสริมสุขภาพร่างกาย การดูแลสัตว์เลี้ยง การบริการซักรีดและซักแห้ง เป็นต้น 1.0 หมื่นคน ส่วนสาขาที่ลดลงคือ สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 1.4 แสนคน สาขากิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ 7.0 หมื่นคน สาขาการศึกษา 5.0 หมื่นคน สาขากิจกรรมด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ 4.0 หมื่นคน สาขาการผลิต 2.0 หมื่นคน และ ที่เหลือกระจายอยู่ในสาขาอื่นๆ

- การทำงานต่ำกว่าระดับ

หากพิจารณาถึงจำนวนผู้ที่ทำงานแต่ยังทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นผู้ทำงานแต่ยังมีเวลาและต้องการที่จะทำงานเพิ่ม หรือเรียกคนทำงานในกลุ่มนี้ว่า ผู้ทำงานต่ำกว่าระดับ (Underemployment workers) จากผลการสำรวจพบว่า มีผู้ที่ทำงานต่ำกว่าระดับ 1.82 แสนคน หรือร้อยละ 0.5 ของจำนวนผู้ทำงานทั้งหมด ซึ่งคนกลุ่มนี้แม้ว่าจะมีงานทำแล้วก็ตาม แต่ยังมีเวลาว่างที่มากพอและต้องการที่จะทำงานเพิ่มขึ้น เพื่อต้องการเพิ่มรายได้ให้กับตนเอง

เมื่อพิจารณาจำนวนผู้ทำงานต่ำกว่าระดับ จำแนกตามเพศ พบว่า โดยปกติแล้วเพศชายมากกว่าเพศหญิง สำหรับเดือนสิงหาคม 2559 เพศชายมีจำนวนผู้ทำงาน ต่ำกว่าระดับ 1.09 แสนคน (ร้อยละ 0.5) และเพศหญิง 7.3 หมื่นคน (ร้อยละ 0.4) ตามลำดับ

ภาวะการว่างงาน

- จำนวนผู้ว่างงาน

สำหรับจำนวนผู้ว่างงานในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559 มีทั้งสิ้น 3.60 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน ร้อยละ 0.9 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 จำนวนผู้ว่างงานลดลง 1.7 หมื่นคน (จาก 3.77 แสนคน เป็น 3.60 แสนคน) และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2559 จำนวนผู้ว่างงานลดลง 3.1 หมื่นคน (จาก 3.91 แสนคน เป็น 3.60 แสนคน)

เมื่อเปรียบเทียบอัตราการว่างงานกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบว่าอัตราการว่างงานลดลง (จาก ร้อยละ 1.0 เป็นร้อยละ 0.9) หากเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมาอัตราการว่างงานลดลงเช่นกัน (จากร้อยละ 1.0 เป็นร้อยละ 0.9)

- การว่างงานตามเพศ

เมื่อเปรียบเทียบอัตราการว่างงาน ตามเพศใน เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559 พบว่า เพศหญิงมีอัตราการว่างงานร้อยละ 1.0 และเพศชายมีอัตราการว่างงานร้อยละ 0.8

  • การว่างงานตามกลุ่มอายุ

สำหรับการว่างงานตามกลุ่มอายุ พบว่า กลุ่ม วัยเยาวชน หรือผู้มีอายุ 15-24 ปี มีอัตราการว่างงานร้อยละ 5.3 ซึ่งปกติในกลุ่มนี้อัตราการว่างงานจะสูง ส่วนกลุ่มวัยผู้ใหญ่ (อายุ 25 ปีขึ้นไป) มีอัตราการว่างงานร้อยละ 0.4 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 กลุ่มวัยเยาวชนมีอัตราการว่างงานลดลงคือจากร้อยละ 5.6 เป็นร้อยละ 5.3 และ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2559 กลุ่มวัยเยาวชน มีอัตราการว่างงานลดลงจากร้อยละ 5.4 เป็นร้อยละ 5.3 สำหรับในกลุ่มวัยผู้ใหญ่อัตราการว่างงานไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมคือร้อยละ 0.4 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

- การว่างงานตามระดับการศึกษาที่สำเร็จ

สำหรับระดับการศึกษาที่สำเร็จของผู้ว่างงานใน เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559 พบว่า ผู้ว่างงานที่สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา 1.68 แสนคน (อัตราการว่างงานร้อยละ 2.1)รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า 7.4 หมื่นคน (ร้อยละ 1.2) ระดับประถมศึกษา 5.6 หมื่นคน (ร้อยละ 0.7) ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 4.6 หมื่นคน (ร้อยละ 0.7) และผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 1.6 หมื่นคน (ร้อยละ 0.2) และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 พบว่า จำนวนผู้ว่างงานในระดับประ5มศึกษาเพิ่มขึ้น 1.2 หมื่นคน ระดับอุดมศึกษาพิ่มขึ้น 1.1 หมื่นคน และผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประ5มศึกษาเพิ่มขึ้น 3.0 พันคน ส่วนจำนวนผู้ว่างงานที่ลดลงคือ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นลดลง 4.3 หมื่นคน สำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า จำนวนผู้ว่างงานไม่เปลี่ยนแปลงไปจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

- การว่างงานตามประสบการณ์ .

เมื่อพิจารณาถึงจำนวนผู้ว่างงาน พบว่า เป็นผู้ว่างงานที่ ไม่เคยทำงานมาก่อน 2.05 แสนคน และผู้ว่างงานที่เคยทำงาน มาก่อน 1.55 แสนคน ซึ่งในกลุ่มนี้ลดลง 1.0 หมื่นคน จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว (จาก 1.65 แสนคน เป็น 1.55 แสนคน) โดยเป็นผู้ว่างงานจากภาคการบริการ และการค้า 9.3 หมื่นคน ภาคการผลิต 4.3 หมื่นคน และภาคเกษตรกรรม 1.9 หมื่นคน ตามลำดับ

ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 2.05 แสนคน

สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษามากที่สุด 1.36 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นผู้สำเร็จสายวิชาการ 1.08 แสนคน สายวิชาการศึกษา 1.6 หมื่นคน สายอาชีวศึกษา 1.2 หมื่นคน รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า 3.9 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 1.7 หมื่นคน ระดับ ประถมศึกษา 1.1 หมื่นคน และไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 1.0 พันคน

ผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 1.55 แสนคน

สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษามากที่สุด 4.5 หมื่นคน รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า 3.5 หมื่นคน ระดับอุดมศึกษา 3.2 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 2.9 หมื่นคน และผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประ5มศึกษา 1.5 หมื่นคน

- การว่างงานแต่ละภูมิภาค

เมื่อพิจารณาจำนวนผู้ว่างงาน เป็นรายภาค พบว่า ภาคกลางมีจำนวนผู้ว่างงานสูงสุด 1.25 แสนคน (ร้อยละ 1.1) รองลงมาเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7.5 หมื่นคน (ร้อยละ 0.7) ภาคใต้ 6.5 หมื่นคน (ร้อยละ 1.3) ภาคเหนือ 6.4 หมื่นคน (ร้อยละ 1.0) และกรุงเทพมหานคร 3.1 หมื่นคน (ร้อยละ 0.6)

เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558 จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ว่างงานทั่วประเทศลดลง 1.7 หมื่นคน (จาก 3.77 แสนคน เป็น 3.60 แสนคน) เมื่อพิจารณาเป็น รายภาค พบว่า กรุงเทพมหานครลดลงมากที่สุด 2.6 หมื่นคน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลง 2.2 หมื่นคน และภาคใต้ลดลง 1.0 พันคน ส่วนภาคเหนือเพิ่มขึ้น 1.9 หมื่นคน และภาคกลางเพิ่มขึ้น 1.3 หมื่นคน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ