การประมวลข้อมูลพื้นที่การก่อสร้างเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลของสิ่งก่อสร้างทุกประเภทที่เอกชนได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง ต่อเติมหรือดัดแปลงเกี่ยวกับจำนวนผู้ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง จำนวนสิ่งก่อสร้างและพื้นที่ของสิ่งก่อสร้าง ข้อมูลดังกล่าวสามารถนำไปใช้ประโยชน์สำหรับหน่วยงานภาครัฐในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศ สำหรับเอกชนใช้ในการจัดทำตัวชี้วัดด้านที่อยู่อาศัย ใช้ในการติดตามภาวะเศรษฐกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ การส่งเสริมการขายและการลงทุนด้านการก่อสร้าง ข้อมูลพื้นที่การก่อสร้างในไตรมาส 1 ปี 2559 เป็นข้อมูลในระดับภาคและทั่วประเทศเฉพาะพื้นที่ที่มีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และในเขตการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สรุปได้ดังนี้
ในไตรมาส 2 ปี 2559 มีผู้ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างจำนวนทั้งสิ้น 40,898 ราย เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างประเภทอาคารโรงเรือน 36,062 ราย และที่ไม่ใช่อาคารโรงเรือน 4,836 ราย ดังนี้
สิ่งก่อสร้างประเภทอาคารโรงเรือนมีผู้ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง 36,062 ราย โดยร้อยละ 98.2 ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างใหม่ และร้อยละ 1.8 ได้รับอนุญาตให้ต่อเติมหรือดัดแปลง
เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่แล้ว พบว่า มีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3
แต่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วลดลงร้อยละ 1.4
สำหรับสิ่งก่อสร้างที่ไม่ใช่อาคารโรงเรือนมีผู้ ที่ได้รับอนุญาต 4,836 ราย โดยร้อยละ 99.0 ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างใหม่และร้อยละ 1.0 ได้รับอนุญาตให้ต่อเติมหรือดัดแปลง ได้แก่ สิ่งก่อสร้างประเภทท่อ/ทางระบายน้ำ ถนน/ทางรถไฟ รั้ว/กำแพง สะพาน เขื่อน/คันดิน ฯลฯ มีจำนวน 3,920 ราย และได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างประเภทลานจอดรถ สนามกีฬา ปั๊มน้ำมัน/ปั๊มแก๊ส/ปั๊มก๊าซ ป้ายโฆษณา สระว่ายน้ำ ท่าเรือ ฯลฯ มีจำนวน 916 ราย
เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วลดลงร้อยละ 6.0
2. พื้นที่ของสิ่งก่อสร้าง
อาคารโรงเรือนที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง ไตรมาส 2 ปี 2559 มีพื้นที่รวม 14.3 ล้านตร.ม. ประกอบด้วยอาคารเพื่ออยู่อาศัยมีพื้นที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง 9.9 ล้านตร.ม.หรือร้อยละ 69.4 ของสิ่งก่อสร้างที่เป็นอาคารโรงเรือนทั้งสิ้น อาคารเพื่อการพาณิชย์และสำนักงานมีพื้นที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง 1.8 ล้านตร.ม. (ร้อยละ 12.3) เพื่อการอุตสาหกรรมและโรงงานมีพื้นที่ได้รับอนุญาตฯ 1.5 ล้านตร.ม. (ร้อยละ 10.4) อาคารโรงแรมมีพื้นที่ได้รับอนุญาต 0.42 ล้านตร.ม. (ร้อยละ 2.9) เพื่อการศึกษาและสาธารณสุขได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง 0.19 ล้านตร.ม. หรือร้อยละ 1.3
เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า มีพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างโดยรวมลดลงร้อยละ 3.8 เพื่อการศึกษาและสาธารณสุข ลดลงร้อยละ 17.2 เพื่อการอุตสาหกรรมและโรงงานลดลงร้อยละ 10.8 เพื่อการพาณิชย์และสำนักงานลดลงร้อยละ 13.5 การก่อสร้างโรงแรมร้อยละ 0.9 เพื่ออยู่อาศัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ส่วนอาคารโรงเรือนอื่นๆ เช่น เพื่อการบำบัดน้ำเสีย เพื่อการเกษตร เพื่อการบันเทิง มีพื้นที่ของสิ่งก่อสร้าง 520,954 ตารางเมตรลดลงร้อยละ 17.2
หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี ที่แล้ว พบว่าพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างโดยรวมลดลงร้อยละ 24.6
สำหรับสิ่งก่อสร้างที่ไม่ใช่อาคารโรงเรือนนั้น ประกอบด้วย ท่อ/ทางระบายน้ำมีความยาว 279,908 เมตรหรือร้อยละ 55.1 ของสิ่งก่อสร้างที่คิดเป็นความยาวทั้งสิ้น รั้ว/กำแพงมีความยาว 105,099 เมตรหรือร้อยละ 20.7 สิ่งก่อสร้างที่เป็นถนนมีความยาว 70,856 เมตรหรือร้อยละ 13.9 ส่วนที่เหลือเป็นการก่อสร้างสะพาน เขื่อน/คันดินและอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 10.3
เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า ความยาวของสิ่งก่อสร้างโดยรวมลดลงร้อยละ 10.7 และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วลดลง ร้อยละ 11.2
ส่วนพื้นที่ของสิ่งก่อสร้างที่ไม่ใช่อาคารโรงเรือน ได้แก่ ลานจอดรถซึ่งได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง คิดเป็นพื้นที่ 241,234 ตร.ม.หรือร้อยละ 51.3 สนามกีฬา 33,727 ตร.ม.หรือร้อยละ 7.2 ปั๊มน้ำมัน/ปั๊มแก๊ส/ ปั๊มก๊าซ ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างคิดเป็นพื้นที่ 31,070 ตร.ม. หรือร้อยละ 6.6 ป้ายโฆษณา ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างคิดเป็นพื้นที่ 17,039 หรือร้อยละ 3.6 สิ่งก่อสร้างที่ไม่ใช่อาคารโรงเรือนอื่นๆ เช่น สระว่ายน้ำ ท่าเรือ อาคารอเนกประสงค์ ห้องน้ำห้องส้วม หอประชุมฯลฯ มีพื้นที่รวม 147,587 ตารางเมตรหรือร้อยละ 31.4
เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วลดลงร้อยละ 18.9