การประมวลข้อมูลพื้นที่การก่อสร้างเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลของสิ่งก่อสร้างทุกประเภทที่เอกชนได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง ต่อเติมหรือดัดแปลงเกี่ยวกับจำนวนผู้ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง จำนวนสิ่งก่อสร้างและพื้นที่ของสิ่งก่อสร้าง ข้อมูลดังกล่าวสามารถนำไปใช้ประโยชน์สำหรับหน่วยงานภาครัฐในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศ สำหรับเอกชนใช้ในการจัดทำตัวชี้วัดด้านที่อยู่อาศัย ใช้ในการติดตามภาวะเศรษฐกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ การส่งเสริมการขายและการลงทุนด้านการก่อสร้าง ข้อมูลพื้นที่การก่อสร้างใน ไตรมาสที่ 4 ปี 2559 เป็นข้อมูลในระดับภาคและทั่วประเทศเฉพาะพื้นที่ที่มีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และในเขตการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สรุปได้ดังนี้
ในไตรมาสที่ 4 ปี 2559 มีผู้ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 39,220 ราย เป็นการได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างประเภทอาคารโรงเรือน 34,349 ราย และไม่ใช่อาคารโรงเรือน 4,871 ดังนี้
สิ่งก่อสร้างประเภทอาคารโรงเรือนมีผู้ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง 34,349 ราย โดยร้อยละ 98.0 ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างใหม่และร้อยละ 2.0 ได้รับอนุญาตให้ต่อเติมหรือดัดแปลง ประกอบด้วยอาคารเพื่ออยู่อาศัย อาคารเพื่อการพาณิชย์และสำนักงาน เพื่อการอุตสาหกรรมและโรงงาน อาคารโรงแรม เพื่อการศึกษาและสาธารณสุข และเพื่อประโยชน์อื่นๆ เช่น เพื่อการบำบัดน้ำเสีย โรงไฟฟ้า อาคารระบบพลังงานแสงอาทิตย์อาคารระบบประปาและโรงกรองน้ำ เพื่อการขนส่ง เพื่อการเกษตร เพื่อการบันเทิง เป็นต้น
เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่าลดลงร้อยละ 4.2 และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2558 ลดลงร้อยละ 0.1
ไตรมาสที่ 4 ปี 2559 มีผู้ที่ได้รับอนุญาต 4,871 ราย ร้อยละ 98.7 ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างใหม่และร้อยละ 1.3 ได้รับอนุญาตให้ต่อเติมหรือดัดแปลง ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างประเภทท่อ/ทางระบายน้ำ ถนน/ทางรถไฟ รั้ว/กำแพง สะพาน เขื่อน/คันดิน ฯลฯ มีจำนวน 3,858 ราย และสิ่งก่อสร้างประเภทลานจอดรถ สนามกีฬา ปั๊มน้ำมัน/ ปั๊มแก๊ส/ปั๊มก๊าซ ป้ายโฆษณา สระว่ายน้ำ ท่าเรือ ฯลฯ มีจำนวน 1,013 ราย
เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาลดลงร้อยละ 3.8 และลดลงร้อยละ 2.1 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2558
ในไตรมาสที่ 4 ปี 2559 ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง อาคารโรงเรือนรวม 16.7 ล้านตร.ม. เมื่อเปรียบเทียบกับ ไตรมาสที่ผ่านมา พบว่าพื้นที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2558 ลดลงร้อยละ 10.4 ประกอบด้วยอาคารเพื่ออยู่อาศัยได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง 10.2 ล้านตร.ม. หรือร้อยละ 61.1 ของสิ่งก่อสร้างที่เป็นอาคารโรงเรือนทั้งสิ้น อาคารเพื่อการพาณิชย์และสำนักงาน 2.6 ล้านตร.ม.หรือร้อยละ 15.6 เพื่อการอุตสาหกรรมและโรงงาน 1.9 ล้านตร.ม. หรือร้อยละ 11.5 เพื่อการศึกษาและสาธารณสุข และอาคารโรงแรม ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างมีพื้นที่ใกล้เคียงกัน 0.50 ล้านตร.ม. หรือร้อยละ 3.0
สำหรับสิ่งก่อสร้างประเภทความยาว ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างทั้งสิ้น 649,158 เมตร ได้แก่ ท่อ/ทางระบายน้ำมีความยาว 351,767 เมตรหรือร้อยละ 54.2 ถนนมีความยาว 149,188 เมตรหรือร้อยละ 23.0 รั้ว/กำแพงมีความยาว 94,527 เมตรหรือร้อยละ 14.5 ส่วนที่เหลือเป็นการก่อสร้างสะพาน เขื่อน/คันดิน และอื่นๆ รวม 53,676 เมตรคิดเป็นร้อยละ 8.3
เมื่อเปรียบเทียบความยาวที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างในภาพรวม 649,158 เมตร กับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2558
ส่วนสิ่งก่อสร้างที่ไม่ใช่อาคารโรงเรือนประเภทพื้นที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างทั้งสิ้น 616,981 ตร.ม.ได้แก่ ลานจอดรถได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง 395,399 ตร.ม.(ร้อยละ 64.1) ปั๊มน้ำมัน/ ปั๊มแก๊ส/ปั๊มก๊าซ 42,944 ตร.ม. หรือร้อยละ 7.0 สนามกีฬา 26,050 ตร.ม. หรือร้อยละ 4.2 ป้ายโฆษณา 18,743 ตร.ม. หรือร้อยละ 3.0 และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ เช่น สระว่ายน้ำ ท่าเรือฯลฯ ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างรวม 133,845 ตร.ม.หรือร้อยละ 21.7
เมื่อเปรียบเทียบพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างในภาพรวม 616,981 ตร.ม. กับไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 และลดลงร้อยละ 10.5 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2558
ที่มา : สำนักงานสถิติแห่งชาติ