สรุปผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เดือน มีนาคม พ.ศ. 2561

ข่าวผลสำรวจ Tuesday April 10, 2018 11:24 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

สรุปผลการสำรวจ

ภาวะการทำงานของประชากรเดือน มีนาคม พ.ศ. 2561

สำนักงานสถิติแห่งชาติ

ดำเนินการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรหรือสำรวจแรงงานอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เริ่มตั้งแต่ปี 2506 โดยในช่วงแรก สำรวจเพียงปีละ 2 รอบ รอบแรกเป็นการสำรวจนอกฤดูเกษตร รอบที่ 2 เป็นฤดูเกษตร ต่อมาในปี 2527 - 2540 สำรวจปีละ 3 รอบ โดยเพิ่มสำรวจช่วงเดือนพฤษภาคมเพื่อดูแรงงานที่จบการศึกษาใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานและในปี 2541 ได้เพิ่ม การสำรวจขึ้นอีก 1 รอบ เดือนพฤศจิกายนเป็นช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตการเกษตรทำให้การสำรวจภาวะการทำงานของประชากรครบทั้ง 4 ไตรมาสของปี ในปี 2544 สำนักงานสถิติแห่งชาติปรับปรุง การสำรวจเป็นรายเดือนทั้งนี้เพื่อให้สามารถติดตาม ภาวะการมีงานทำของประชากรได้อย่างใกล้ชิดและเสนอผลการสำรวจเป็นรายเดือนในระดับประเทศและภาค

โครงสร้างกำลังแรงงาน

ผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรเดือน มีนาคม พ.ศ. 2561 พบว่าจำนวนผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป 56.19 ล้านคน เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานหรือผู้ที่พร้อม จะทำงาน 38.11 ล้านคน ซึ่งประกอบด้วยผู้มีงานทำ37.34 ล้านคน ผู้ว่างงาน 4.40 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล 3.29 แสนคน ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงานหรือผู้ที่ไม่พร้อมทำงาน 18.08 ล้านคน ได้แก่ แม่บ้าน นักเรียน คนชรา เป็นต้น

การมีงานทำ 37.34 ล้านคน

เปรียบเทียบจำนวนผู้ทำงาน จำแนกตามอุตสาหกรรม

สำหรับจำนวนผู้มีงานทำ 37.34 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรม 11.84 ล้านคน และนอกภาคเกษตรกรรม 25.50 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม พ.ศ. 2560 พบว่า ผู้ทำงานลดลง 1.2 แสนคน (จาก 37.46 ล้านคน เป็น 37.34 ล้านคน) โดยผู้ทำงานนอกภาคเกษตรกรรมมีจำนวนผู้ทำงานลดลง 6.2 แสนคน (จาก 26.12 ล้านคน เป็น 25.50 ล้านคน) ในจำนวนนี้เป็นการลดลง ในสาขาการก่อสร้าง 2.3 แสนคน สาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และรถจักรยานยนต์ 1.7 แสนคน สาขากิจกรรมด้าน สุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ 1.5 แสนคน สาขาที่พักแรมและบริการ ด้านอาหาร 1.3 แสนคน สาขากิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ และสาขาการศึกษา 4.0 หมื่นคน สาขาการบริหารราชการการป้องกันประเทศ และการประกันสังคมภาคบังคับ 3.0 หมื่นคน และสาขาการขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้า 1.0 หมื่นคน ส่วนสาขาที่เพิ่มขึ้นคือสาขาการผลิต 2.1 แสนคน สาขากิจกรรมการบริการด้านอื่นๆ เช่น กิจกรรมบริการ เพื่อสร้างเสริมสุขภาพร่างกายการดูแลสัตว์เลี้ยง การบริการซักรีดและซักแห้ง 6.0 หมื่นคน และสาขากิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย 2.0 หมื่นคน และที่เหลือกระจายอยู่ในสาขาอื่นๆ ภาคเกษตรกรรม มีจำนวนผู้ทำงานเพิ่มขึ้น 5.0 แสนคน (จาก 11.34 ล้านคน เป็น 11.84 ล้านคน) ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นในการ ปลูกข้าวจ้าว การปลูกข้าวเหนียว และกิจกรรมอื่นๆ ที่สนับสนุนการผลิตพืชผล

เปรียบเทียบจำนวนผู้มีงานทำ จำแนกตามชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์และเพศ เดือนมีนาคม พ.ศ. 2560 และ 2561

เมื่อพิจารณาถึงชั่วโมงทำงาน ของผู้มีงานทำต่อ สัปดาห์ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2561 พบว่า ส่วนใหญ่ ทำงานตั้งแต่ 35 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์ ซึ่งถือได้ว่าเป็น ผู้ทำงานเต็มที่ในเรื่องชั่วโมงทำงานมีจำนวน 31.38 ล้านคน หรือร้อยละ 84.0 ของผู้มีงานทำทั้งหมด และผู้ที่ทำงาน 1 - 34 ชั่วโมง มีจำนวน 5.37 ล้านคน หรือร้อยละ 14.4 สำหรับผู้ที่ไม่ได้ทำงานในสัปดาห์สำรวจ (ระหว่าง 7 วัน ก่อนวันสัมภาษณ์) แต่เป็นผู้มีงานประจำซึ่งถือว่าสัปดาห์ การสำรวจไม่มีชั่วโมงการทำงาน (0 ชั่วโมง) มีจำนวน 5.9 แสนคน หรือ ร้อยละ 1.6

จำนวนผู้ทำงานเต็มเวลาและต่ำกว่าระดับเดือนมีนาคม พ.ศ. 2561

การทำงานต่ำกว่าระดับ หากพิจารณาถึงจำนวน ผู้ที่ทำงานแต่ยังทำงานได้ไม่เต็มเวลาซึ่งคนกลุ่มนี้ เป็น ผู้ทำงานแต่ยังมีเวลาและต้องการที่จะทำงานเพิ่ม หรือเรียก คนทำงานในกลุ่มนี้ว่า ผู้ทำงานต่ำกว่าระดับ (Underemployment workers) จากผลการสำรวจพบว่า มีจำนวน 2.02 แสนคน หรือร้อยละ 0.5 ของจำนวนผู้ทำงานทั้งหมด เมื่อพิจารณาตามเพศ พบว่า โดยปกติแล้วเพศชาย มากกว่าเพศหญิง สำหรับเดือนมีนาคม พ.ศ. 2561 เพศชายมีจำนวนผู้ทำงานต่ำกว่าระดับ 1.13 แสนคน (ร้อยละ0.6) และเพศหญิง 8.91 หมื่นคน (ร้อยละ 0.5)

การว่างงาน 4.40 แสนคน

เปรียบเทียบจำนวนและอัตราการว่างงาน พ.ศ. 2560 และ 2561

จำนวนการว่างงานในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2561 มีทั้งสิ้น 4.40 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน ร้อยละ 1.2 เมื่อเปรียบเทียบกับ ช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 จำนวนผู้ว่างงานลดลง 5.6 หมื่นคน และเมื่อเปรียบเทียบกับ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 จำนวน ผู้ว่างงานลดลง 5.1 หมื่นคน

เมื่อเปรียบเทียบอัตราการว่างงานกับช่วงเวลาเดียวกัน ของปีที่ผ่านมา พบว่า อัตราการว่างงานลดลง (จากร้อยละ 1.3 เป็นร้อยละ 1.2) หากเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมาอัตราการว่างงาน ลดลง (จากร้อยละ 1.3 เป็นร้อยละ 1.2)

เปรียบเทียบอัตราการว่างงาน จำแนกตามเพศ พ.ศ. 2561

เมื่อพิจารณาอัตราการว่างงานตามเพศในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2561 พบว่า เพศชายมีอัตราการว่างงาน ร้อยละ 1.4 และเพศหญิงมีอัตราการว่างงาน ร้อยละ 0.9

หากเปรียบเทียบอัตราการว่างงาน กับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบว่า อัตราการ ว่างงานเพศชาย ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่ เพศหญิงลดลงจากร้อยละ 1.2 เป็นร้อยละ 0.9

เปรียบเทียบอัตราการว่างงาน จำแนกตามกลุ่มอายุเดือนมีนาคม พ.ศ. 2560 และ 2561

การว่างงานตามกลุ่มอายุ พบว่า กลุ่มวัยเยาวชน หรือผู้มีอายุ 15-24 ปี มีอัตราการว่างงานร้อยละ 6.1 ซึ่งปกติในกลุ่มนี้ อัตราการว่างงานจะสูง ส่วนกลุ่มวัยผู้ใหญ่ (อายุ 25 ปีขึ้นไป) มีอัตราการว่างงานร้อยละ 0.6 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 กลุ่มวัยเยาวชน มีอัตราการว่างงานลดลงจากร้อยละ 6.4 เป็นร้อยละ 6.1

เปรียบเทียบจำนวนผู้ว่างงาน จำแนกตามระดับการศึกษาที่สำเร็จ เดือนมีนาคม พ.ศ. 2560 และ 2561

ระดับการศึกษาที่สำเร็จของผู้ว่างงาน เดือน มีนาคม พ.ศ.2561 พบว่า ผู้ว่างงานที่สำเร็จการศึกษา ในระดับอุดมศึกษา 1.57 แสนคน (อัตราการว่างงานร้อยละ 2.0) รองลงมาเป็นระดับ มัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเท่ากัน 9.0 หมื่นคน (ร้อยละ 1.4) ระดับประถมศึกษา 8.1 หมื่นคน (ร้อยละ 1.0) และผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 1.8 หมื่นคน (ร้อยละ 0.2) ที่เหลือกระจายอยู่ในอื่นๆ เมื่อเปรียบเทียบ กับช่วงเวลาเดียวกัน ของปี 2560 พบว่า ผู้ว่างงานระดับมัธยมศึกษาตอนปลายลดลง 3.7 หมื่นคน ระดับอุดมศึกษาและผู้ไม่มีการศึกษา และต่ำกว่าประถมศึกษา ลดลง 1.2 หมื่นคน ส่วนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเพิ่มขึ้น 2.0 พันคน สำหรับระดับประถมศึกษาไม่เปลี่ยนแปลง

จำนวนผู้ว่างงาน จำแนกตามประสบการณ์การทำงานเดือนมีนาคม พ.ศ. 2561

ประสบการณ์การทำงานของผู้ว่างงานพบว่า เป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 2.13 แสนคน หรือร้อยละ 48.4 ของผู้ว่างงานทั้งหมด และผู้ว่างงาน ที่เคยทำงานมาก่อน 2.27 แสนคน หรือร้อยละ 51.6 โดยเป็นผู้ว่างงานจากนอกภาคเกษตรกรรม 2.12 แสนคน ซึ่งประกอบด้วยภาคการบริการและการค้า 1.28 แสนคน และภาคการผลิต 8.4 หมื่นคน ส่วนผู้ว่างงานจาก ภาคเกษตรกรรมมีจำนวน 1.5 หมื่นคน

จำนวนผู้ว่างงาน จำแนกตามประสบการณ์การทำงานและการศึกษาที่สำเร็จ เดือนมีนาคม พ.ศ. 2561

ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 2.13 แสนคน สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา 8.5 หมื่นคน ในจำนวนนี้เป็น ผู้สำเร็จสายวิชาการ 4.3 หมื่นคน สายอาชีวศึกษา 3.7 หมื่นคน และสายวิชาการศึกษา 5.0 พันคน รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 6.2 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 3.7 หมื่นคน ระดับประถมศึกษา 2.0 หมื่นคน ผู้ที่ไม่มีการศึกษา และต่ำกว่าประถมศึกษา 5.0 พันคน และที่เหลือกระจายอยู่ในอื่นๆ

ผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน จำนวน 2.27 แสนคน สำเร็จการศึกษา ระดับอุดมศึกษา 7.2 หมื่นคน ระดับประถมศึกษา 6.1 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 5.3 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 2.8 หมื่นคน และผู้ที่ไม่มีการศึกษา และต่ำกว่าประถมศึกษา 1.3 หมื่นคน

เปรียบเทียบจำนวนผู้ว่างงาน จำแนกตามภาค เดือนมีนาคม พ.ศ. 2560 และ 2561

เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม พ.ศ. 2560 จะเห็นได้ว่า จำนวนผู้ว่างงานทั่วประเทศลดลง 5.6 หมื่นคน (จาก 4.96 แสนคน เป็น 4.40 แสนคน) เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ภาคกลาง มีจำนวนผู้ว่างงานลดลง 4.8 หมื่นคน ภาคหนือมีจำนวนผู้ว่างงาน ลดลง 3.3 หมื่นคน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลง 1.5 หมื่นคน และกรุงเทพมหานครจำนวนผู้ว่างงานลดลง 5.0 พันคน ส่วนภาคใต้ จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 3.2 หมื่นคน

ที่มา : สำนักงานสถิติแห่งชาติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ