สรุปผลการสำรวจ
ภาวะการทำงานของประชากร
เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2561
โครงสร้างกำลังแรงงาน
ดำเนินการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรหรือสำรวจแรงงานอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เริ่มตั้งแต่ปี 2506 โดยในช่วงแรก สำรวจเพียงปีละ 2 รอบ รอบแรกเป็นการสำรวจนอกฤดูเกษตร รอบที่ 2 เป็นฤดูเกษตร ต่อมาในปี 2527 - 2540 สำรวจปีละ 3 รอบ โดยเพิ่มสำรวจช่วงเดือนพฤษภาคมเพื่อดูแรงงานที่จบการศึกษาใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงาน และในปี 2541 ได้เพิ่มการสำรวจขึ้นอีก 1 รอบ คือเดือนพฤศจิกายนซึ่งเป็นช่วงฤดูกาล เก็บเกี่ยวผลผลิตการเกษตร ทำให้การสำรวจภาวะการทำงานของประชากรครบทั้ง 4 ไตรมาสของปี ในปี 2544 สำนักงาน-สถิติแห่งชาติ ได้ปรับปรุงการสำรวจเป็นรายเดือนทั้งนี้เพื่อให้สามารถติดตาม ภาวะการมีงานทำของประชากรได้อย่างใกล้ชิดและเสนอผลการสำรวจเป็นรายเดือนในระดับประเทศและภาค
ผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 พบว่าจำนวนผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป 56.39 ล้านคน เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานหรือผู้ที่พร้อม จะทำงาน 38.74 ล้านคน ซึ่งประกอบด้วยผู้มีงานทำ38.26 ล้านคน ผู้ว่างงาน 3.69 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล 1.10 แสนคน ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงานหรือผู้ที่ไม่พร้อมทำงาน 17.65 ล้านคน ได้แก่ แม่บ้าน นักเรียน คนชรา เป็นต้น
สำหรับจำนวนผู้มีงานทำ 38.26 ล้านคน ประกอบด้วยผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรม 12.37 ล้านคน และนอกภาคเกษตรกรรม 25.89 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2560 พบว่า ผู้ทำงานเพิ่มขึ้น 5.4 แสนคน (จาก 37.72 ล้านคน เป็น 38.26 ล้านคน) โดยผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรมมีจำนวนผู้ทำงานเพิ่มขึ้น 3.2 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นในกิจกรรมอื่นๆ ที่สนับสนุนการผลิตพืชผล การปลูกข้าวเหนียว และการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นอกภาคเกษตรกรรม จำนวนผู้ทำงานในภาพรวม เพิ่มขึ้น 2.2 แสนคน โดยมีการเพิ่มขึ้นในสาขาการขายส่งและการขายปลีก 3.5 แสนคน สาขากิจกรรมบริการด้านอื่นๆ 1.2 แสนคน สาขาการก่อสร้าง 9.0 หมื่นคน สาขาการบริหารราชการ การป้องกันประเทศ และการประกันสังคมภาคบังคับ 8.0 หมื่นคน สาขาการขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้า 5.0 หมื่นคน สาขากิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ 2.0 หมื่นคน สาขาที่ลดลงคือ สาขากิจกรรมด้านสุขภาพ และงานสังคมสงเคราะห์ 1.1 แสนคน สาขาการผลิต และสาขาการศึกษา ลดลงเท่ากันคือ 8.0 หมื่นคน สาขากิจกรรมทางการเงิน และการประกันภัย ลดลง 4.0 หมื่นคน และสาขาที่พักแรม และบริการด้านอาหารลดลง 1.0 หมื่นคน
เมื่อพิจารณาถึงชั่วโมงทำงาน ของผู้มีงานทำต่อ สัปดาห์ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 พบว่า ส่วนใหญ่ ทำงานตั้งแต่ 35 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์ ซึ่งถือได้ว่าเป็น ผู้ทำงานเต็มที่ในเรื่องชั่วโมงทำงานมีจำนวน 32.96 ล้านคน หรือร้อยละ 86.1 ของผู้มีงานทำทั้งหมด และผู้ที่ทำงาน 1 - 34 ชั่วโมง มีจำนวน 5.10 ล้านคน หรือร้อยละ 13.3 สำหรับผู้ที่ไม่ได้ทำงานในสัปดาห์สำรวจ (ระหว่าง 7 วัน ก่อนวันสัมภาษณ์) แต่เป็นผู้มีงานประจำซึ่งถือว่าสัปดาห์ การสำรวจไม่มีชั่วโมงการทำงาน (0 ชั่วโมง) มีจำนวน 2.0 แสนคน หรือ ร้อยละ 0.6
การทำงานต่ำกว่าระดับ หากพิจารณาถึงจำนวน ผู้ที่ทำงานแต่ยังทำงานได้ไม่เต็มเวลาซึ่งคนกลุ่มนี้ เป็นผู้ทำงานแต่ยังมีเวลาและต้องการที่จะทำงานเพิ่ม หรือเรียก คนทำงานในกลุ่มนี้ว่า ผู้ทำงานต่ำกว่าระดับ (Underemployment workers) จากผลการสำรวจพบว่า มีจำนวน 1.68 แสนคน หรือร้อยละ 0.4 ของจำนวนผู้ทำงานทั้งหมด เมื่อพิจารณาตามเพศ พบว่า โดยปกติแล้วเพศชาย มากกว่าเพศหญิง สำหรับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 เพศชายมีจำนวนผู้ทำงานต่ำกว่าระดับ 9.3 หมื่นคน (ร้อยละ0.4) และเพศหญิง 7.5 หมื่นคน (ร้อยละ 0.4)
การว่างงาน 3.69 แสนคน
จำนวนการว่างงานในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 มีทั้งสิ้น 3.69 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน ร้อยละ 1.0 เมื่อเปรียบเทียบกับ ช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 จำนวนผู้ว่างงานลดลง 6.6 หมื่นคน แต่เมื่อเปรียบเทียบกับ เดือนตุลาคม พ.ศ. 2561 จำนวน ผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 1.5 หมื่นคน
เมื่อเปรียบเทียบอัตราการว่างงานกับช่วงเวลาเดียวกัน ของปีที่ผ่านมา พบว่า อัตราการว่างงานลดลง จากร้อยละ 1.1 เป็น ร้อยละ 1.0 หากเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมาอัตราการว่างงาน ไม่มีการเปลี่ยนแปลงคือ ร้อยละ 1.0
เมื่อพิจารณาอัตราการว่างงานตามเพศในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 พบว่า เพศชายมีอัตราการว่างงาน ร้อยละ 1.1 และเพศหญิงมีอัตราการว่างงาน ร้อยละ 0.8
หากเปรียบเทียบอัตราการว่างงาน กับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบว่า อัตราการ ว่างงานเพศหญิง ลดลงจากร้อยละ 1.2 เป็นร้อยละ 0.8 และเพศชายคงที่คือร้อยละ 1.1
การว่างงานตามกลุ่มอายุ พบว่า กลุ่มวัยเยาวชน หรือผู้มีอายุ 15-24 ปี มีอัตราการว่างงานร้อยละ 4.5 ซึ่งปกติในกลุ่มนี้ อัตราการว่างงานจะสูง ส่วนกลุ่มวัยผู้ใหญ่ (อายุ 25 ปีขึ้นไป) มีอัตราการว่างงานร้อยละ 0.5 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 กลุ่มวัยเยาวชน มีอัตราการว่างงานลดลงจากร้อยละ 6.4 เป็นร้อยละ 4.5
ระดับการศึกษาที่สำเร็จของผู้ว่างงาน เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 พบว่า ผู้ว่างงานที่สำเร็จการศึกษา ในระดับอุดมศึกษา 1.45 แสนคน (อัตราการว่างงานร้อยละ 1.7) รองลงมาเป็นระดับ- มัธยมศึกษาตอนต้น 6.8 หมื่นคน (ร้อยละ 1.0) ระดับมัธยมศึกษา- ตอนปลาย 6.6 หมื่นคน (ร้อยละ 1.0) ระดับประถมศึกษา 6.4 หมื่นคน (ร้อยละ 0.8) และผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 2.4 หมื่นคน (ร้อยละ 0.3) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 พบว่า ผู้ว่างงานระดับอุดมศึกษาลดลง 2.7 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ลดลง 2.4 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ลดลง 1.5 หมื่นคน ในขณะที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษาและระดับประถมศึกษา ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ประสบการณ์การทำงานของผู้ว่างงานพบว่า เป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 1.89 แสนคน หรือร้อยละ 51.2 ของผู้ว่างงานทั้งหมด และผู้ว่างงาน ที่เคยทำงานมาก่อน 1.80 แสนคน หรือร้อยละ 48.8 โดยเป็นผู้ว่างงานจากนอกภาคเกษตรกรรม 1.67 แสนคน ซึ่งประกอบด้วยภาคการผลิต 9.0 หมื่นคน และภาค- การบริการและการค้า 7.7 หมื่นคน ส่วนผู้ว่างงานจาก ภาคเกษตรกรรมมีจำนวน 1.3 หมื่นคน
ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 1.89 แสนคน สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา 9.0 หมื่นคน ในจำนวนนี้เป็น ผู้สำเร็จสายวิชาการ 5.5 หมื่นคน สายอาชีวศึกษา 2.3 หมื่นคน และสายวิชาการศึกษา 1.2 หมื่นคน รองลงมาเป็นระดับประถมศึกษา 3.5 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 3.0 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษา ตอนปลาย 2.7 หมื่นคน และไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 5.0 พันคน
ผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน จำนวน 1.80 แสนคน สำเร็จการศึกษา ระดับอุดมศึกษา 5.5 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 3.9 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 3.8 หมื่นคน ระดับประถมศึกษา 2.9 หมื่นคน และไม่มีการศึกษาและแต่กว่าระถมศึกษา 1.9 หมื่นคน
เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2560 จะเห็นได้ว่า จำนวนผู้ว่างงานทั่วประเทศลดลง 6.6 หมื่นคน (จาก 4.35 แสนคน เป็น 3.69 แสนคน) เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า กรุงเทพมหานครลดลง 5.3 หมื่นคน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลดลง 3.6 หมื่นคน ภาคเหนือลดลง 5.0 พันคน ในขณะที่ภาคกลางเพิ่มขึ้น 2.5 หมื่นคน และภาคใต้ เพิ่มขึ้น 3.0 พันคน
ที่มา : สำนักงานสถิติแห่งชาติ