สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ได้จัดทำโครงการสำรวจข้อมูลศักยภาพพื้นฐานระบบโลจิสติกส์ภาคการค้า พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นการจัดทาครั้งที่ 5(สสช. ทำการสำรวจทุก 2 ปี) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยความสามารถในการจัดการด้านโลจิสติกส์ของสถานประกอบการในด้านต่าง ๆ ได้แก่ 1) ด้านความพร้อมของบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านโลจิสติกส์ในสถานประกอบการ 2) ด้านการดำเนินกิจกรรมด้านโลจิสติกส์ เช่น การว่าจ้างบุคคลภายนอกดำเนินการกิจกรรมด้านโลจิสติกส์ การบริหารจัดการสินค้าคงคลัง เป็นต้น และ 3) ด้านการลงทุนในอุปกรณ์และเครื่องมือด้านโลจิสติกส์ เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการจัดทำดัชนีชี้วัด (KPIs) สำหรับการประเมินผลระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย
การสำรวจข้อมูลศักยภาพพื้นฐานระบบ โลจิสติกส์ภาคการค้า พ.ศ. 2562 ครอบคลุม สถานประกอบการธุรกิจทางการค้าที่มีคนทำงานตั้งแต่ 16 คนขึ้นไป ทั่วประเทศ ซึ่งประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับการขายส่ง การขายปลีก ยกเว้น การซ่อมยานยนต์ รถจักรยานยนต์ และแผงลอย ตามการจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรมประเทศไทย ปี 2552 (Thailand Standard Industrial Classification : TSIC 2009)
สำหรับการเก็บรวบรวมข้อมูลจะสอบถามสถานประกอบการที่ตกเป็นตัวอย่างระหว่างเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม 2562 ซึ่งข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นผลของการดำเนินกิจการในรอบปีที่ผ่านมา (1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2561) สรุปได้ดังนี้
ผลจากการสำรวจสถานประกอบการภาคการค้าเฉพาะที่ประกอบธุรกิจการขายส่งและการขายปลีกที่มีคนทำงานตั้งแต่ 16 คนขึ้นไป ทั่วประเทศ จำนวน 17,841 แห่ง พบว่า ร้อยละ 45.6 ประกอบธุรกิจการขายส่ง และร้อยละ 39.6 ประกอบธุรกิจการขายปลีก ส่วนสถานประกอบการที่ประกอบธุรกิจการขายส่งและการขายปลีก คิดเป็นร้อยละ 14.8
สถานประกอบการภาคการค้าส่วนใหญ่ (ร้อยละ 78.9) เป็นสถานประกอบการที่มีคนทำงาน 16 - 50 คน และร้อยละ 18.9 เป็นสถานประกอบการที่มีคนทำงาน 51 - 200 คน สำหรับสถานประกอบการที่มีคนทำงานมากกว่า 200 คน คิดเป็นร้อยละ 2.2
ผลจากการสำรวจ พบว่า สถานประกอบการภาคการค้าในภาพรวมทั่วประเทศ มีบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านโลจิสติกส์ จำนวน 240.6 พันคน หรือคิดเป็นร้อยละ 27.3 ของจำนวนบุคลากรทั้งหมด (882.5 พันคน) ซึ่งในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 80 เป็นพนักงานหรือลูกจ้างรายเดือน (193.3 พันคน) ที่เหลือเป็นพนักงานหรือลูกจ้างรายวัน (47.3 พันคน)
ส่วนใหญ่ปฏิบัติงานในตำแหน่งพนักงานคลังสินค้า จำนวน 78.2 พันคน รองลงมาปฏิบัติงานในตำแหน่งพนักงานจัดส่ง และพนักงานจัดซื้อ จำนวน 74.7 พันคน และ 40.4 พันคน ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาตามระดับการศึกษา พบว่า ในตำแหน่งพนักงานจัดซื้อส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่า จำนวน 23.4 พันคน สำหรับตำแหน่งพนักงานจัดส่ง และพนักงานคลังสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นผู้จบการศึกษาในระดับต่ำกว่า ปวช. จำนวน 32.9 พันคน และ 32.7 พันคน ตามลำดับ
ส่วนใหญ่ปฏิบัติงานในตำแหน่งพนักงานคลังสินค้าจำนวน 23.2 พันคน รองลงมาปฏิบัติงานในตำแหน่งพนักงานจัดส่ง จำนวน 18.6 พันคน และพนักงานจัดซื้อ จำนวน 5.5 พันคน
หากพิจารณาตามระดับการศึกษาจะพบว่าพนักงานหรือลูกจ้างรายวันที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งพนักงานจัดซื้อ พนักงานจัดส่ง และพนักงานคลังสินค้า ส่วนใหญ่จะจบการศึกษาในระดับต่ำกว่า ปวช. ในทุกตำแหน่งงาน
ผู้จัดการกลุ่มงานด้านโลจิสติกส์ ได้แก่ ผู้จัดการงานจัดซื้อ ผู้จัดการงานจัดส่ง และผู้จัดการงานคลังสินค้า พบว่า สถานประกอบการส่วนใหญ่ (มากกว่าร้อยละ 80.0) จ่ายเงินเดือนให้กับผู้จัดการกลุ่มงานด้านโลจิสติกส์น้อยกว่า 40,000 บาทต่อเดือน ส่วนสถานประกอบการที่จ่ายเงินเดือนให้กับผู้จัดการกลุ่มงานด้านโลจิสติกส์มากกว่า 80,000 บาทต่อเดือน มีไม่เกินร้อยละ 8.0 ของแต่ละกลุ่มงาน
กิจกรรมด้านโลจิสติกส์ที่สถานประกอบการภาคการค้าว่าจ้างผู้ประกอบการภายนอกดำเนินการมากที่สุด คือ การจัดส่งสินค้า (ร้อยละ 42.9) ส่วนกิจกรรมอื่น เช่น การจัดการสินค้าคงคลัง พิธีการศุลกากร การจัดการคลังสินค้า และการบรรจุสินค้า จะมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน คือ ไม่เกินร้อยละ 17.0
จากการสำรวจสถานประกอบการภาคการค้า ทั่วประเทศ พบว่า มีสถานประกอบการเพียงร้อยละ 18.3 (จากจำนวนสถานประกอบการทั้งสิ้น) ที่มีการวัดประสิทธิภาพการจัดส่งสินค้า โดยพิจารณาจากความผิดพลาดในการจัดส่งสินค้าของสถานประกอบการ ซึ่งในภาพรวมมีสัดส่วนเพียงเล็กน้อย คือ มีเที่ยวการจัดส่งสินค้าที่ไม่ตรงเวลา คิดเป็นร้อยละ 14.9 สินค้าเสียหายจากการจัดส่ง ร้อยละ 11.2 และความผิดพลาดอื่น ๆ เช่น เอกสารไม่สมบูรณ์ คิดเป็นร้อยละ 9.6
โลจิสติกส์ หมายถึง กระบวนการทำงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการองค์กร ได้แก่ การจัดซื้อจัดหาวัตถุดิบ การวางแผนการผลิต การบริหารจัดการคลังสินค้า การหีบห่อและบรรจุภัณ และการขนส่งสินค้า
ที่มา : สำนักงานสถิติแห่งชาติ