สถานการณ์ด้านแรงงานในไตรมาสที่ 1 พ.ศ. 2565 มีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน จำนวน 39.62 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้มีงานทำ 38.72 ล้านคน ผู้ว่างงาน 0.61 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.5 ผู้รอฤดูกาล 0.29 ล้านคน ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงาน 18.89 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ทำงานบ้าน (ดูแลบ้านตนเอง) เรียนหนังสือ ยังเด็ก ชรา ป่วยหรือพิการจนไม่สามารถทำงานได้
เมื่อเปรียบเทียบการมีงานทำในไตรมาสที่ 1 พ.ศ. 2565 กับไตรมาสที่ผ่านมา (ไตรมาสที่ 4 พ.ศ. 2564)พบว่า ผู้มีงานทำลดลง 0.28 ล้านคน (จาก 39.00 ล้านคน เป็น 38.72 ล้านคน) หากพิจารณาผู้มีงานทำ ที่ไม่ได้ทำงานในรอบสัปดาห์ที่สำรวจ แต่มีงานประจำหรือมีงานที่จะกลับไปทำ พบว่า จำนวนมากถึง 0.75 ล้านคนเป็นผู้ที่ไม่ได้รับค่าจ้าง 0.67 ล้านคน ได้รับค่าจ้างเพียง 0.08 ล้านคน จำนวนผู้มีงานทำ พ.ศ. 2564 - 2565
การจ้างงานโดยรวม ลดลง 0.7% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา (ไตรมาสที่ 4 พ.ศ. 2564) (จากผู้มีงานทำ 39.00 ล้านคน เป็น 38.72 ล้านคน) เป็นการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 3.6% (จาก 26.35 ล้านคน เป็น 27.31 ล้านคน) ซึ่งเพิ่มขึ้นทั้งในภาคการผลิต และภาคการบริการและการค้า โดยในภาคการผลิต เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง (สาขาการก่อสร้างอาคาร) ในขณะที่ภาคการบริการและการค้า เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมการขายส่ง ขายปลีกฯ และกิจกรรมโรงแรมฯ ส่วนการจ้างงานภาคเกษตรกรรมลดลง 9.8% (จาก 12.65 ล้านคน เป็น 11.41 ล้านคน)
สำหรับชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยของภาคเอกชน มีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยเท่ากับ 43.8 ชั่วโมง/สัปดาห์ ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (45.7 ชั่วโมง/สัปดาห์) ชี้ให้เห็นว่าแม้แรงงานจะมีงานทำ แต่ยังมีการทำงานไม่เต็มเวลาปกติ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อปริมาณผลผลิต และรายได้ของแรงงาน
จำนวนผู้ว่างงาน1/ ในไตรมาสที่ 1 พ.ศ. 2565 มีทั้งสิ้น 6.08 แสนคน ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าจำนวน 0.53 แสนคน และเมื่อคิดเป็นอัตราการว่างงาน พบว่า อัตราการว่างงานลดลงจากร้อยละ 1.7 ในไตรมาส 4 พ.ศ. 2564 เป็นร้อยละ 1.5 ในไตรมาส 1 พ.ศ. 2565 หากพิจารณาตามประสบการณ์การทำงาน พบว่า ผู้ว่างงานในไตรมาสที่ 1 พ.ศ. 2565 นั้น เป็นผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน 3.50 แสนคน และไม่เคยทำงานมาก่อน 2.57 แสนคน โดยผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เคยทำงานในภาคการบริการและการค้า หากทำการเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า ทุกภาคกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนลดลง ภาคการบริการและการค้าลดลง 0.37 แสนคน (จาก 2.67 แสนคน เป็น 2.30 แสนคน) โดยลดลงจากกิจกรรมโรงแรมและบริการด้านอาหารและสาขาการขนส่งฯ ส่วนผู้ว่างงานภาคการผลิตลดลง 0.02 แสนคน (จาก 1.04 แสนคน เป็น 1.02 แสนคน) โดยลดลงจากกิจกรรมการก่อสร้าง และผู้ว่างงานในภาคเกษตรกรรมก็ลดลงเช่นเดียวกัน โดยลดลงจำนวน 0.05 แสนคน (จาก 0.23 แสนคน เป็น 0.18 แสนคน)
เมื่อพิจารณาผู้เสมือนว่างงานหรือผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากแรงงานกลุ่มนี้แม้ไม่ตกงาน แต่ก็มีรายได้ลดลงตามชั่วโมงการทำงาน ทำให้มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพทั้งครัวเรือน มีจำนวนสูงถึง 3.78 ล้านคน ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่ธุรกิจพยายามประคับประคองธุรกิจไว้ ไม่เลิกจ้าง แต่ใช้วิธีลดเวลาทำงาน แรงงานกลุ่มนี้จึงอาจได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ลดลงตามชั่วโมงการทำงาน และหากเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้า จนส่งผลให้หลายธุรกิจต้องปิดตัวลง กลุ่มคนที่เสมือนว่างงานก็จะเปลี่ยนสถานภาพเป็นผู้ว่างงานได้
ที่มา : สำนักงานสถิติแห่งชาติ