สถานการณ์ด้านแรงงานในไตรมาสที่ 2 พ.ศ. 2565 มีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน จำนวน 39.77 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้มีงานทำ 39.01 ล้านคน ผู้ว่างงาน 0.55 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.4 ผู้รอฤดูกาล 0.21 ล้านคน ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงาน 18.82 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ทำงานบ้าน (ดูแลบ้านตนเอง) เรียนหนังสือ ยังเด็ก ชรา ป่วยหรือพิการจนไม่สามารถทำงานได้
เมื่อเปรียบเทียบการมีงานทำในไตรมาสที่ 2 พ.ศ. 2565 กับไตรมาสที่ผ่านมา (ไตรมาสที่ 1 พ.ศ. 2565)พบว่า ผู้มีงานทำเพิ่มขึ้น 0.29 ล้านคน (จาก 38.72 ล้านคน เป็น 39.01 ล้านคน) หากพิจารณาผู้มีงานทำ ที่ไม่ได้ทำงานในรอบสัปดาห์ที่สำรวจ แต่มีงานประจำหรือมีงานที่จะกลับไปทำ พบว่า จำนวนมากถึง 0.52 ล้านคนเป็นผู้ที่ไม่ได้รับค่าจ้าง 0.45 ล้านคน ได้รับค่าจ้างเพียง 0.07 ล้านคน จำนวนผู้มีงานทำ พ.ศ. 2564 - 2565
การจ้างงานโดยรวม เพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2564) (จากผู้มีงานทำ 38.90 ล้านคน เป็น 39.01 ล้านคน) เป็นการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 0.9% (จาก 27.11 ล้านคน เป็น 27.35 ล้านคน) ซึ่งเพิ่มขึ้นในภาคการบริการและการค้า ส่วนการจ้างงานภาคเกษตรกรรมลดลง 1.1% (จาก 11.79 ล้านคน เป็น 11.66 ล้านคน)
ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยปรับตัวดีขึ้น โดยชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยในภาพรวมและภาคเอกชนอยู่ที่ 44.3 และ 46.1 ชั่วโมง/สัปดาห์ เพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชี้ให้เห็นว่าแม้แรงงานจะมีงานทำแต่ยังมีการทำงานไม่เต็มเวลาเหมือนช่วงก่อน Covid-19 ซึ่งอาจจะส่งผลต่อปริมาณผลผลิตและรายได้ของแรงงาน
จำนวนผู้ว่างงาน1/ ในไตรมาสที่ 2 พ.ศ. 2565 มีทั้งสิ้น 5.46 แสนคน ลดลงจาก 7.64 แสนคน ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานที่ร้อยละ 1.4 โดยปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจาก ไตรมาสที่ 3 พ.ศ. 2564 ที่มีอัตราการว่างร้อยละ 2.3 เป็นร้อยละ 1.7 และร้อยละ 1.5 ตามลำดับ หากพิจารณาตามประสบการณ์การทำงาน พบว่า ผู้ว่างงานในไตรมาสที่ 2 พ.ศ. 2565 นั้น เป็น ผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน 2.77 แสนคน และไม่เคยทำงานมาก่อน 2.69 แสนคน โดยผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนเป็นผู้ที่เคยทำงานในภาคการบริการและการค้า 1.75 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 63.2 ภาคการผลิต 0.86 แสนคน (ร้อยละ 31.0) และภาคการเกษตร 0.16 แสนคน (ร้อยละ 5.8) สำหรับผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อนจะเป็นวัยเยาชนอายุ 15-24 ปี มากกว่าวัยผู้ใหญ่อายุ 25 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 72.9 และร้อยละ 27.1 ตามลำดับ)
เมื่อพิจารณาผู้เสมือนว่างงานหรือผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากแรงงานกลุ่มนี้แม้ไม่ตกงาน แต่ก็มีรายได้ลดลงตามชั่วโมงการทำงาน ทำให้มีรายได้ ไม่เพียงพอต่อการยังชีพทั้งครัวเรือน โดยในไตรมาส 2 พ.ศ.2565 มีจำนวน 2.17 ล้านคน ซึ่งลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย และมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ มากขึ้น ส่งผลให้จำนวนผู้เสมือนว่างงานมีแนวโน้มที่ลดลงใกล้เคียงกับไตรมาสที่ 2 พ.ศ.2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ที่มา : สำนักงานสถิติแห่งชาติ