สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้สำรวจภาวะการทำงาน
ของประชากรไตรมาสที่ 4 พ.ศ. 2565 เพื่อให้ทราบถึง
ภาวะการทำงานและการว่างงานของประชากร ผลการสำรวจ
พบว่า มีจำนวนผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ทั้งสิ้น
58.73 ล้านคน เป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 40.14 ล้านคน
(ประกอบด้วยผู้มีงานทำ 39.59 ล้านคน ผู้ว่างงาน 0.46 ล้านคน
และผู้รอฤดูกาล 0.09 ล้านคน) และผู้อยู่นอกกำลังแรงงาน
18.59 ล้านคน (ประกอบด้วยผู้ทำงานบ้าน 5.20 ล้านคน
ผู้เรียนหนังสือ 4.54 ล้านคน และอื่น ๆ 8.85 ล้านคน เช่น
ยังเด็ก ชรา ป่วย/พิการจนทำงานไม่ได้ พักผ่อน เกษียณการ
ทำงาน เป็นต้น)
เมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้มีงานทำ จำแนกตาม
อุตสาหกรรม ไตรมาสที่ 4 ปี 2564และ 2565 พบว่าจำนวนผู้มี
งานทำเพิ่มขึ้น 0.59 ล้านคน (จาก 39.00 ล้านคน เป็น
39.59 ล้านคน ตามลำดับ) โดยภาคเกษตรกรรมมีจำนวน
ลดลง 0.42 ล้านคน (จาก 12.64 ล้านคน เป็น 12.22 ล้านคน
ตามลำดับ) ส่วนนอกภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 1.01 ล้านคน
(จาก 26.36 ล้านคน เป็น 27.37 ล้านคน ตามลำดับ) ซึ่งเป็น
การเพิ่มขึ้นในสาขาการผลิต สาขาการบริหารราชการและ
การป้องกันประเทศ สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร
สาขาขายส่ง/ขายปลีก และสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บ
สินค้า ส่วนสาขาที่ลดลง ได้แก่การก่อสร้าง
เมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้มีงานทำ จำแนกตามระดับ
การศึกษาที่สำเร็จ ไตรมาสที่ 4 ปี 2564 และ 2565 พบว่า
ผู้มีงานทำที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีเพิ่มขึ้น 5.8
แสนคน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเพิ่มขึ้น 3.6 แสนคน
ระดับอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้น 2.6 แสนคน และระดับมัธยมศึกษา
ตอนต้นเพิ่มขึ้น 0.4 แสนคน ผู้มีงานทำที่ไม่มีการศึกษาและ
ต่ำกว่าประถมศึกษาลดลง 4.0 แสนคน ระดับประถมศึกษา
ลดลง 1.6 แสนคน และระดับสูงกว่าปริญญาตรีลดลง 1.0
แสนคน
หากพิจารณาถึงการทำงานต่ำกว่าระดับด้านชั่วโมง
การทำงานหรือการทำงานไม่เต็มเวลา (ผู้ทำงานน้อยกว่า 35
ชั่วโมงต่อสัปดาห์ซึ่งมีเวลาเหลือพอและต้องการทำงานเพิ่ม)
ผู้ที่ทำงานในกลุ่มนี้แม้จะเป็นผู้ทำงานแต่เป็นการทำงานที่
ไม่เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากพวกเขาเหล่านี้ยังมีเวลามาก
พอที่จะสามารถทำงานเพิ่มได้อีก โดยในไตรมาสที่ 4 พ.ศ.
2565 มีจำนวน 2.76 แสนคน หรือคิดเป็น ร้อยละ 0.7 และ
เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 พบว่า
จำนวนผู้ทำงานต่ำกว่าระดับ ด้านชั่วโมงการทำงานลดลง
ร้อยละ 37.0
สำหรับจำนวนผู้ว่างงานในไตรมาสที่ 4 พ.ศ. 2565
มีจำนวนทั้งสิ้น 4.62 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน
ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวม เมื่อเปรียบเทียบกับ
ช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ผู้ว่างงานลดลง 1.99 แสนคน
(จาก 6.61 แสนคน เป็น 4.62 แสนคน)
ผู้ว่างงานในกลุ่มเยาวชน (อายุ 15-24 ปี) มีจำนวน
2.33 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน ร้อยละ 6.1
ในขณะที่ผู้ว่างงานในกลุ่มวัยผู้ใหญ่ (อายุ 25 ปีขึ้นไป)
มีจำนวน 2.29 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน
ร้อยละ 0.6 และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน
ของปี 2564 พบว่า อัตราการว่างงานในกลุ่มเยาวชน
ลดลง (จากร้อยละ 7.2 เป็น ร้อยละ 6.1) ส่วนกลุ่มวัยผู้ใหญ่
ลดลง (จากร้อยละ 1.1 เป็น ร้อยละ 0.6)
เมื่อพิจารณาผู้ว่างงานตามประสบการณ์การทำงาน
ในไตรมาสที่ 4 พ.ศ. 2565 จากจำนวนผู้ว่างงาน
4.62 แสนคน พบว่า เป็นผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อน
2.32 แสนคน จำแนกเป็นผู้ที่อยู่ในวัยเยาวชน 1.67 แสน
คน และวัยผู้ใหญ่ 0.65 แสนคน ส่วนผู้ว่างงานที่เคยทำงาน
มาก่อนมีจำนวน 2.30 แสนคน เป็นผู้ว่างงานจากการ
ทำงานครั้งสุดท้ายในภาคเกษตรกรรม 0.21 แสนคน ภาค
การผลิต 0.73 แสนคน และภาคการบริการและการค้า
1.36 แสนคน
สำหรับการว่างงาน ตามระดับการศึกษาที่สำเร็จ
ในไตรมาสที่ 4 พ.ศ. 2565 พบว่า ผู้ที่สำเร็จการศึกษา
ในระดับปริญญาตรีว่างงานมากที่สุด 1.71 แสนคน
รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 0.82 แสนคน
ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 0.60 แสนคน ระดับอาชีวศึกษา
0.57 แสนคน ระดับประถมศึกษา 0.49 แสนคน
ผู้ที่ไม่มีการศึกษาและการศึกษาต่ำกว่าระดับประถมศึกษา
0.33 แสนคน และสูงกว่าปริญญาตรี0.05 แสนคน
ตามลำดับ
เมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้ว่างงานและอัตราการ
ว่างงานเป็นรายภาค กับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564
พบว่า ทุกภาคมีจำนวนและอัตราการว่างงานลดลง
โดยภาพรวมจำนวนผู้ว่างงานลดลง 1.99 แสนคน ภาค
ตะวันออกเฉียงเหนือลดลง 0.57 แสนคน กรุงเทพมหานคร
ลดลง 0.50 แสนคน ภาคใต้ลดลง 0.47 แสนคน ภาคเหนือ
ลดลง 0.36 แสนคน และภาคกลางลดลง 0.09 แสนคน
สำหรับอัตราการว่างงาน พบว่า ทั่วประเทศอัตรา
การว่างงานลดลง ร้อยละ 0.5 เมื่อพิจารณาตามภาค พบว่า
กรุงเทพมหานครและภาคใต้ลดลง ร้อยละ 0.9 ภาคเหนือ
และภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลง ร้อยละ 0.6 และ
ภาคกลางลดลง ร้อยละ 0.1
ที่มา : สำนักงานสถิติแห่งชาติ