สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2552 เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ ค่าใช้จ่าย ภาวะหนี้สิน และทรัพย์สินของครัวเรือน ตลอดจนลักษณะที่อยู่อาศัย โดยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลทุกเดือน (มกราคม - ธันวาคม 2552) จากครัวเรือนตัวอย่างในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทั้งในเขตและนอกเขตเทศบาลเพื่อสนองความต้องการของผู้ใช้ข้อมูลในระดับหนึ่งก่อนที่รายงานฉบับสมบูรณ์จะแล้วเสร็จ สำนักงานสถิติแห่งชาติจึงได้จัดทำสรุปผลการสำรวจเบื้องต้นโดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจ 6 เดือนแรก(มกราคม - มิถุนายน 2552) จำนวนครัวเรือนตัวอย่างประมาณ26,000 ครัวเรือน ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายที่นำเสนอเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่จำเป็นต้องใช้ในการยังชีพเท่านั้น จึงไม่รวมการสะสมทุนเช่น ซื้อบ้าน/ที่ดิน และเงินออม ซึ่งสรุปผลการสำรวจที่สำคัญได้ดังนี้
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 ครัวเรือนทั่วประเทศมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 21,135 บาท ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการทำงาน(ร้อยละ 72.2) ซึ่งได้แก่ ค่าจ้างเงินเดือน(ร้อยละ 40.2) จากการทำธุรกิจ(ร้อยละ20.0) และจากการทำการเกษตร(ร้อยละ 12.0) และมีรายได้ที่ไม่ได้เกิดจากการทำงาน เช่น เงินที่ได้รับความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นนอกครัวเรือน/รัฐ(ร้อยละ 10.3) รายได้จากทรัพย์สิน เช่นดอกเบี้ย(ร้อยละ1.5) นอกจากนั้นยังมีรายได้ในรูปสวัสดิการ/สินค้าและบริการต่างๆ(ร้อยละ 14.3)
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 ครัวเรือนทั่วประเทศมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 16,255 บาท ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ร้อยละ 33.5 เป็นค่าอาหารและเครื่องดื่ม (ซึ่งในจำนวนนี้มีค่าเครื่องดื่มที่เป็นแอลกอฮอล์ร้อยละ 1.5) รองลงมาเป็นค่าที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้ภายในบ้าน(ร้อยละ 20.5) ใช้เกี่ยวกับการเดินทางและยานพาหนะ(ร้อยละ 17.5) ใช้ส่วนบุคคล/เครื่องนุ่งห่ม/รองเท้า(ร้อยละ 5.5) ในการสื่อสารร้อยละ 3.2 และใช้ในการบันเทิง/การจัดงานพิธี ใช้ในการศึกษา ค่าเวชภัณฑ์/ค่ารักษาพยาบาลประมาณร้อยละ 2.0 - 2.5 กิจกรรมทางศาสนามีเพียงร้อยละ 1.1 แต่อย่างไรก็ตามพบว่าค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค เช่น ค่าภาษี ของขวัญเบี้ยประกันภัย ซื้อสลากกินแบ่ง/ หวย ดอกเบี้ย สูงถึง ร้อยละ 12.1
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 พบว่าครัวเรือนที่มีหนี้สินมีร้อยละ 61.8 โดยมีจำนวนหนี้สินเฉลี่ย 133,293 บาทต่อครัวเรือนซึ่งส่วนใหญ่(ร้อยละ 68.8) เป็นการก่อหนี้เพื่อใช้ในครัวเรือนคือซื้อบ้าน/ที่ดินร้อยละ 36.3 ใช้ในการอุปโภคบริโภคร้อยละ 29.7 และหนี้เพื่อใช้ในการศึกษามีเพียงร้อยละ 2.8 เท่านั้น สำหรับหนี้เพื่อทำการเกษตร และทำธุรกิจมีใกล้เคียงกันประมาณร้อยละ 14.8
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 พบว่าส่วนใหญ่ครัวเรือนเป็นหนี้สินในระบบ โดยเป็นครัวเรือนที่มีหนี้ในระบบอย่างเดียวร้อยละ 82.9 และเป็นครัวเรือนที่เป็นหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบร้อยละ 9.7 สำหรับครัวเรือนที่มีหนี้นอกระบบอย่างเดียว มีเพียงร้อยละ 7.4 และพบว่าจำนวนเงินเฉลี่ยที่เป็นหนี้ในระบบสูงกว่านอกระบบ ถึง 21 เท่า(127,152 และ 6,140 บาท ตามลำดับ)
เมื่อพิจารณารายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สินของครัวเรือนเป็นรายภาค พบว่ากรุงเทพ ฯ และ 3 จังหวัด คือ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ มีรายได้ต่อครัวเรือนเฉลี่ยสูงกว่าภาคอื่นมาก คือ 36,745 บาท โดยมีค่าใช้จ่ายและจำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงสุดเช่นเดียวกัน คือ 27,636 และ 188,404 บาท ตามลำดับ และมีสัดส่วนของค่าใช้จ่ายต่อรายได้ร้อยละ 75.2 และพบว่าครัวเรือนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภาคที่มีสัดส่วนของค่าใช้จ่ายต่อรายได้สูงสุดถึงร้อยละ 81.5 ซึ่งจะทำให้เกิดการออม หรือชำระหนี้ได้น้อยมากเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ (ภาคกลาง / ใต้ / เหนือ อยู่ระหว่างร้อยละ 73-77)
เมื่อพิจารณาตามอาชีพ พบว่าครัวเรือนลูกจ้างที่ปฏิบัติงานวิชาชีพ/นักวิชาการ/นักบริหาร มีรายได้เฉลี่ยสูงสุดถึง 48,838 บาท รองลงมา ได้แก่ครัวเรือนของผู้ดำเนินธุรกิจที่ไม่ใช่เกษตร เสมียน/พนักงาน/ผู้ให้บริการและครัวเรือนผู้ถือครองทำการเกษตรที่เช่าที่ดิน/ทำฟรี(26,556 20,143 และ 17,735 บาท ตามลำดับ) และรายได้ต่ำสุด คือครัวเรือนผู้ทำประมง/ป่าไม้/ล่าสัตว์/หาของป่า(9,073 บาท) และพบว่าครัวเรือนอาชีพใดมีรายได้สูง ส่วนใหญ่จะมีค่าใช้จ่ายและจำนวนเงินที่เป็นหนี้สูงเช่นเดียวกัน
เมื่อเปรียบเทียบรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สินต่อรายได้พบว่า ครัวเรือนทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2543 ถึง 2552 มีรายได้เฉลี่ยมากกว่าค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการยังชีพ และพบว่ารายได้และค่าใช้จ่ายฯ ตั้งแต่ปี 2543 ถึง 2552 เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คือ รายได้เพิ่มจาก 12,150 เป็น 21,135 บาท และค่าใช้จ่ายฯ เพิ่มจาก 9,848 เป็น 16,255 บาท ตามลำดับ และเมื่อพิจารณาผลต่างของรายได้ และค่าใช้จ่ายฯ ในปี 2552 พบว่ารายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการยังชีพ 4,880 บาทต่อครัวเรือน หรือประมาณ 1,479 บาทต่อคน ซึ่งส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ในการชำระหนี้ เช่น ชำระค่าเช่าซื้อบ้าน/ที่ดิน เป็นต้นหนี้สินต่อรายได้ครัวเรือนในปี 2547 จะสูงสุดเมื่อเทียบกับปีอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตาม พบว่ามีแนวโน้มลดลงตามลำดับจาก 7.0 เท่า เป็น 6.3 เท่า ในปี 2550 และเริ่มทรงตัวในปี 2552
ในภาพรวมครัวเรือนที่มีหนี้ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นตามลำดับตั้งแต่ปี 2543 ถึง 2547 จากร้อยละ 56.3 เป็น 66.4 แต่เริ่มมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2549 ถึง 2552 จากร้อยละ 64.4 เป็น 61.8 แต่จำนวนเงินที่เป็นหนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2543 ถึง 2552 คือ จาก 68,405 เป็น 133,293 บาท
เมื่อเปรียบเทียบอัตราการเปลี่ยนแปลงของรายได้ ค่าใช้จ่ายและหนี้สินของครัวเรือนทั่วประเทศ พบว่าเพิ่มขึ้น แต่ในอัตราการเพิ่มที่แตกต่างกัน กล่าวคือ รายได้มีอัตราการเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าใช้จ่าย(ร้อยละ 6.4 และ 5.9 ต่อปี ตามลำดับ) ทำให้สัดส่วนของค่าใช้จ่ายต่อรายได้ลดลงจากร้อยละ 77.7 ในปี 2550 เป็น 76.9 ในปี 2552 สำหรับหนี้ของครัวเรือนพบว่าครัวเรือนที่เป็นหนี้มีจำนวนลดลงร้อยละ 1.2 แต่จำนวนเงิน ที่เป็นหนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9
ในการวิเคราะห์การกระจายรายได้ โดยได้จัดแบ่งครัวเรือนทั่วประเทศเป็น 5 กลุ่มเท่าๆ กัน และนำมาเรียงลำดับตามรายได้ประจำต่อคนต่อเดือนจากน้อยไปมาก (กลุ่มที่ 1 มีรายได้ต่ำสุด และกลุ่มที่ 5 มีรายได้สูงสุด) พบว่าในปี 2552 กลุ่มที่มีรายได้สูงสุด มีส่วนแบ่งของรายได้ร้อยละ 49.1 ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุด มีส่วนแบ่งของรายได้เพียงร้อยละ 5.9 แต่อย่างไรก็ตาม พบว่าความเหลื่อมล้ำของรายได้มีแนวโน้ม ลดลง คือ กลุ่มที่มีรายได้สูงสุดลดลงร้อยละ 0.1 ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุดมีส่วนแบ่งของรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 และพบว่าค่าสัมประสิทธิ์ของความไม่เสมอภาค (Gini Coefficient) ด้านการกระจายรายได้ของครัวเรือนทั่วประเทศทั้ง 5 กลุ่มมีค่าลดลง คือจาก 0.418 ในปี 2550 เป็น 0.413 ในปี 2552
สำหรับรายได้ประจำต่อคนต่อเดือน โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 5,494 บาท ในปี 2550 เป็น 6,295 บาท ในปี 2552 โดยเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่ม คือครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุด มีรายได้ประจำต่อคนต่อเดือนเพิ่มขึ้นจาก 16,905 เป็น 19,223 บาท และครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุด มีรายได้ประจำต่อคนต่อเดือนเพิ่มขึ้นจาก 1,310 เป็น 1,544 บาท
1/ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่จำเป็นต้องใช้ในการยังชีพ โดยไม่รวมค่าใช้จ่ายประเภทสะสมทุน เช่น การซื้อบ้าน/ ที่ดิน เป็นต้น