สำนักงานสถิติแห่งชาติ ดำเนินการสำรวจข้อมูลด้านอนามัยและสวัสดิการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2517 ซึ่งการสำรวจในปี พ.ศ. 2552 นี้นับเป็นการสำรวจครั้งที่ 16 โดยเก็บข้อมูลจากครัวเรือนตัวอย่างประมาณ 26,500 ครัวเรือนในทุกจังหวัดทั่วประเทศทั้งในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาลในเดือนเมษายน 2552
การสำรวจอนามัยและสวัสดิการ มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับหลักประกันด้านสุขภาพการเจ็บป่วย การไปรับบริการสาธารณสุข และพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของประชากร ซึ่งสรุปผลการสำรวจได้ดังนี้
จากผลการสำรวจ พบว่า คนไทยมีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ จากร้อยละ 93.4 ในปี 2547 เป็นร้อยละ 97.4 ในปี 2552 โดยเป็นสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลประเภทบัตรประกันสุขภาพ(บัตรทอง) มากที่สุด(ร้อยละ 78.6) รองลงมา คือ บัตรประกันสังคม/กองทุนเงินทดแทนและสวัสดิการข้าราชการ/ข้าราชการบำนาญ/รัฐวิสาหกิจ (ร้อยละ 12.9 และร้อยละ 8.2 ตามลำดับ) แต่มีข้อสังเกตว่ามีผู้ที่มีการประกันสุขภาพกับบริษัทประกันเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.3 ในปี 2550 เป็นร้อยละ 3.7 ในปี 2552
ในระหว่าง 1 เดือนก่อนวันสัมภาษณ์ พบว่ามีผู้ป่วย1/ที่ไม่ต้องนอนพักรักษาในสถานพยาบาลทั้งสิ้น 19.4 ล้านคน(ร้อยละ 29.0 ของประชากร) เป็นชาย 8.4 ล้านคนและหญิง 11.0 ล้านคน โดยเป็นผู้ที่มีอาการป่วย/รู้สึกไม่สบาย 13.5 ล้านคน(ร้อยละ 20.3) เป็นผู้ที่มีโรคเรื้อรัง/โรคประจำตัว 10.5 ล้านคน(ร้อยละ 15.8) และเป็นผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุ/ถูกทำร้าย 1.6 ล้านคน(ร้อยละ 2.5) และเมื่อพิจารณาตามลักษณะ ของการเจ็บป่วยและเพศ พบว่า ผู้หญิงมีผู้ที่มีอาการป่วย/รู้สึกไม่สบาย รวมทั้งมีโรคเรื้อรัง/โรคประจำตัวสูงกว่าผู้ชายอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่ผู้ชายมีสัดส่วนของการเกิดอุบัติเหตุ/ถูกทำร้ายสูงกว่าหญิงเล็กน้อย
ในการรับบริการส่งเสริมสุขภาพ เช่น การไปรับการฉีดวัคซีน การฝากครรภ์ การตรวจสุขภาพประจำปี เป็นต้นพบว่าในระหว่าง 1 เดือนก่อนวันสัมภาษณ์ มีผู้รับบริการประมาณ 2.0 ล้านคน(ร้อยละ 3.0 ของประชากร) ซึ่งในจำนวนนี้พบว่าผู้หญิงไปใช้บริการสูงกว่าผู้ชายประมาณ 1 เท่า
การเจ็บป่วยระหว่าง 12 เดือนก่อนวันสัมภาษณ์พบว่า มีผู้ป่วยที่ต้องนอนพักรักษาในสถานพยาบาล 3.6 ล้านคน(ร้อยละ 5.4) เป็นชาย 1.4 ล้านคนและหญิง 2.2 ล้านคน ส่วนการไปรับบริการทันตกรรมเช่น การขูดหินปูน การตรวจรักษาสุขภาพในช่องปากการรักษารากฟัน เป็นต้น พบว่ามีผู้ไปรับบริการ6.1 ล้านคน(ร้อยละ 9.1) โดยเพศชายมีจำนวนผู้ที่รับบริการน้อยกว่าเพศหญิงอย่างเห็นได้ชัด (2.5 ล้านคนและ 3.6 ล้านคน ตามลำดับ)
เมื่อพิจารณาอัตราการเจ็บป่วยของผู้ป่วยที่ไม่ต้องนอนพักรักษาในสถานพยาบาล จำแนกตามภาคพบว่าภาคเหนือมีอัตราการเจ็บป่วยสูงสุด (ร้อยละ 34.2)รองลงมาคือ ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร ภาคตะวันออก-เฉียงเหนือและภาคใต้ ซึ่งมีอัตราการเจ็บป่วยใกล้เคียงกัน (ร้อยละ 26—30)
สำหรับการเจ็บป่วยที่ต้องนอนพักรักษาในสถานพยาบาล พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ มีอัตราเท่ากันคือร้อยละ 5.6 รองลงมาคือ ภาคกลางและภาคเหนือ(ร้อยละ 5.3) ส่วนกรุงเทพมหานครมีอัตราต่ำสุด (ร้อยละ 4.5)
เมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจในปี 2549 พบว่าผู้ป่วยที่ไม่ต้องนอนพักรักษาในสถานพยาบาลในระหว่าง 1 เดือนก่อนวันสัมภาษณ์ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 28.2 ในปี 2549 เป็นร้อยละ 29.0 ในปี 2552 และเมื่อพิจารณาตามลักษณะของการเจ็บป่วย พบว่า ผู้ที่ป่วย เพราะมีอาการป่วย/รู้สึกไม่สบาย และป่วยเพราะมีโรคเรื้อรัง/โรคประจำตัวมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ16.3 และร้อยละ 15.6 ในปี 2549 เป็นร้อยละ 20.3 และร้อยละ 15.8 ในปี 2552 แต่ผู้ที่เจ็บป่วยเพราะได้รับอุบัติเหตุ/ถูกทำร้ายและพบว่ามีสัดส่วนลดลง คือ จากร้อยละ 4.9 ในปี 2549 เป็นร้อยละ 2.5 ในปี 2552
สำหรับผู้ป่วยที่ต้องนอนพักรักษาในสถานพยาบาลในระหว่าง 12 เดือนก่อนวันสัมภาษณ์ พบว่ามีสัดส่วนลดลงร้อยละ 1.0 (ร้อยละ 6.4 ในปี 2549 และร้อยละ 5.4 ในปี 2552)
จากผลการสำรวจ พบว่าภาคตะวันออก-เฉียงเหนือมีอัตราการรับบริการส่งเสริมสุขภาพสูงสุด (ร้อยละ 4.0) รองลงมาคือภาคเหนือ(ร้อยละ 3.2) ส่วนภาคอื่นๆ ที่เหลือ มีอัตราการรับบริการส่งเสริมสุขภาพไม่ต่างกันมากนัก (ร้อยละ 2.0-2.4) สำหรับอัตราการรับบริการทันตกรรม พบว่ากรุงเทพมหานครมีผู้ที่รับบริการทันตกรรมสูงสุดคือ ร้อยละ 13.9 ส่วนภาคอื่นๆ มีอัตราการรับบริการต่ำกว่าอย่างเห็นได้ชัด (ร้อยละ 8 — 10)
เมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจที่ผ่านมา พบว่าผู้รับบริการส่งเสริมสุขภาพ มีสัดส่วนลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง คือจากร้อยละ 5.3 ในปี 2546 เป็นร้อยละ 3.0 ในปี 2552 ส่วนผู้ที่รับบริการทันตกรรม พบว่ามีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 10.2 ในปี 2546 เป็นร้อยละ 7.4 และร้อยละ 9.1 ในปี 2549 และ 2552 ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า คนไทยมีการดูแลตนเองด้านสุขภาพที่น้อยลง
5.1 การเจ็บป่วยที่ไม่ต้องนอนพักรักษาในสถานพยาบาล
จากจำนวนผู้ป่วยที่ไม่ต้องนอนพักรักษาในสถานพยาบาลทั้งสิ้น 19.4 ล้านคนนั้น พบว่าเป็นผู้ที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง/โรคประจำตัวที่ไม่ได้ไปรับบริการทางการแพทย์ 2.5 ล้านคน (ซึ่งอาจจะเป็นผู้ที่ไม่ได้รักษาหรือกำลังรักษาแต่ยังไม่ถึงเวลาที่แพทย์นัดตรวจ) และเป็นผู้ป่วยที่ไม่ได้รักษาใดๆ 1.3 ล้านคน ที่เหลือจำนวน15.6 ล้านคน เป็นผู้ป่วยที่ไปรับบริการสาธารณสุขโดยไปรับการรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลของรัฐสูงสุด รองลงมาคือ ซื้อ/หายากินเอง และไปรับการรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลของเอกชน ตามลำดับ ส่วนที่เหลือเป็นการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น ไปหาหมอพื้นบ้านมีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ มาให้บริการ เป็นต้น
5.2 การเจ็บป่วยที่ต้องนอนพักรักษาในสถานพยาบาลii/จากผลการสำรวจ พบว่ามากกว่า 4 ใน 5 ของผู้ป่วยที่ต้องนอนพักรักษาในสถานพยาบาล (ร้อยละ 86.5)รับบริการจากสถานพยาบาลของรัฐ และมีเพียงร้อยละ 13.5ที่รับบริการจากสถานพยาบาลของเอกชน
5.3 การรับบริการด้านการส่งเสริมสุขภาพi/และทันตกรรม ii/สำหรับการรับบริการสาธารณสุขในด้านการส่งเสริมสุขภาพและทันตกรรม พบว่าคนไทยมีพฤติกรรมในการรับบริการในลักษณะเดียวกัน คือรับบริการจากสถานพยาบาลของรัฐสูงสุด (ร้อยละ 78.5 และร้อยละ 59.4 ตามลำดับ) รองลงมา คือรับบริการจากสถานพยาบาลของเอกชน และที่อื่นๆ
ในระหว่าง 1 เดือนก่อนวันสัมภาษณ์ ผู้ป่วยที่ไม่ต้องนอนพักรักษาในสถานพยาบาล และผู้ที่รับบริการส่งเสริมสุขภาพมากกว่าครึ่งหนึ่ง(ร้อยละ 53.9และร้อยละ 86.0 ตามลำดับ) ได้รับการบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และเมื่อพิจารณาแนวโน้มของการได้รับบริการสาธารณสุขโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พบว่ามีแนวโน้ม เพิ่มขึ้น
สำหรับระหว่าง 12 เดือนก่อนวันสัมภาษณ์ผู้ป่วยที่ต้องนอนพักรักษาในสถานพยาบาล และผู้รับบริการทันตกรรมที่ไม่เสียค่ารักษาพยาบาลพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยผู้ป่วยที่ต้องนอนพักรักษาในสถานพยาบาลที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คือเพิ่มจากร้อยละ 45.1 ในปี 2549เป็นร้อยละ 76.4 ในปี 2552
เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการรับบริการสาธารณสุขกับการสำรวจที่ผ่านมา พบว่าผู้ป่วยที่ไม่ต้องนอนพักรักษาในสถานพยาบาลและผู้ป่วยที่ต้องนอนพักรักษาในสถานพยาบาล มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยลดลงจาก 164 บาทในปี 2549 เป็น 157 บาทในปี 2552และจาก 2,346 บาทในปี 2549 เป็น 1,919 บาทในปี 2552 ตามลำดับ
สำหรับค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของผู้ที่รับบริการส่งเสริมสุขภาพ พบว่ามีแนวโน้มที่ลดลงจาก 144 บาทในปี 2546 เป็น 127 บาทในปี 2552 และค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของผู้ที่รับบริการทันตกรรม พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 644 บาทในปี 2549 เป็น748 บาทในปี 2550 แม้ว่าสัดส่วนของผู้ที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นก็ตาม
1/ ผู้ป่วย หมายถึง ผู้ที่มีลักษณะของการเจ็บป่วยลักษณะใดลักษณะหนึ่ง หรือหลายลักษณะรวมกัน ได้แก่
การมีอาการป่วย/รู้สึกไม่สบาย การได้รับอุบัติเหตุ/ถูกทำร้าย การมีโรคเรื้อรัง/โรคประจำตัว
i/ ระหว่าง 1 เดือนก่อนวันสัมภาษณ์
ii/ ระหว่าง 12 เดือนก่อนวันสัมภาษณ์