สำนักงานสถิติแห่งชาติ จัดทำการสำรวจพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของประชากร พ.ศ. 2552 ในด้านการบริโภคอาหาร เช่น การบริโภคอาหารมื้อหลัก การบริโภคอาหารว่าง รสชาติอาหารและวิธีการปรุงอาหารที่รับประทานเป็นประจำ และความถี่ในการบริโภคอาหารแต่ละประเภท ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวมีผลต่อภาวะสุขภาพของประชากร โดยเก็บรวบรวมข้อมูลในเดือนเมษายน 2552 จากประชากรที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป จำนวน 67,700 คน ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ สำหรับผลการสำรวจสรุปไดดั้งนี้
จากผลการสำรวจ พบว่า ร้อยละ 87.1 ของคนไทยทานอาหารมื้อหลักในแต่ละวันครบ 3 มื้อรองลงมา คือ ผู้ที่ทานอาหาร 2 มื้อและทานมากกว่า 3 มื้อ (ร้อยละ 8.0 และร้อยละ 4.7 ตามลำดับ) ส่วนผู้ที่ทานเพียง 1 มื้อมีเพียงร้อยละ 0.2
ประชากรวัยเด็ก (6-14 ปี) มีสัดส่วนของการบริโภคอาหารมื้อหลักครบ 3 มื้อสูงสุด (ร้อยละ 90.1) รองลงมา คือ วัยสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) วัยเยาวชน (15-24 ปี) และต่ำสุดคือ วัยทำงาน (25 — 59 ปี) ร้อยละ 86.0
เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2548 พบว่าประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไป มีพฤติกรรมการบริโภคอาหารมื้อหลักครบ 3 มื้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 คือจาก ร้อยละ 82.2 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 87.1 ในปี 2552
ประชากรวัยเด็ก ซึ่งมีสัดส่วนการบริโภคอาหารมื้อหลักครบ 3 มื้อสูงสุดนั้นมีสัดส่วนของการบริโภคอาหารมื้อหลักครบ 3 มื้อเพิ่มขึ้นอีก ร้อยละ 2.9 ส่วนกลุ่มอายุอื่นๆ พบว่า มีสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะเยาวชน (15-24 ปี) และผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) คือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 และ 5.8 ตามลำดับ
จากผลการสำรวจพบว่า ผู้ที่บริโภคอาหารว่างมีทั้งสิ้น 46.8 ล้านคน หรือประมาณ 3 ใน 4 ของประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไป(ร้อยละ 76.3) โดยประชากรวัยเด็กมีอัตราการบริโภคอาหารว่างสูงสุด(ร้อยละ 87.6) รองลงมาคือวัยเยาวชน(ร้อยละ 82.6) วัยทำงาน(ร้อยละ 74.1) และต่ำสุดคือวัยสูงอายุ(ร้อยละ 64.9)
ในกลุ่มผู้ที่ทานอาหารว่างนั้น เกือบครึ่งหนึ่งที่ทานเพราะอยากทาน(ร้อยละ 48.6) รองลงมาคือทานเพราะหิว(ร้อยละ 35.8) และเพราะได้เวลาทาน/เคยทานเป็นประจำ(ร้อยละ 15.6) และเป็นลักษณะที่เหมือนกันในทุกกลุ่มอายุ
สำหรับรสชาติอาหารที่ทานเป็นประจำ พบว่าประชากรส่วนใหญ่ทานรสจืดมากที่สุด (ร้อยละ 36.8) รองลงมาคือรสเผ็ด(ร้อยละ 28.7) รสเค็ม(ร้อยละ 13.0) รสหวาน(ร้อยละ 11.2) และรสอื่นๆ เช่น รสเปรี้ยวและรสชาติกลางๆ (ร้อยละ 10.3)
เมื่อพิจารณาตามกลุ่มอายุ พบว่า พฤติกรรมการบริโภคมีลักษณะแตกต่างกันตามวัย คือ วัยเด็กเกินกว่าครึ่งหนึ่งบริโภคอาหารรสจืดเป็นประจำ รองลงมาคือรสหวาน ส่วนเยาวชนและวัยทำงานบริโภคอาหารรสเผ็ดมากขึ้นและรสจืดน้อยลง แต่เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ จะบริโภคอาหารรสจืดมากขึ้นและรสเผ็ดลดลง
ประชากรไทยมากกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 57.7)ทานอาหารที่ปรุงด้วยวิธีต้มหรือลวกสุก รองลงมาคือ ผัด ทอด ปิ้ง/ย่าง ตุ๋น/นึ่ง และวิธีอื่น ๆ
ประชากรในภาคกลางและกรุงเทพมหานครมีสัดส่วนการทานอาหารที่ปรุงโดยใช้น้ำมัน ได้แก่อาหารประเภทผัดและทอดสูงกว่าภาคอื่นๆ (ร้อยละ 48.5 และร้อยละ 41.9 ตามลำดับ) สำหรับภาคใต้ ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากกว่าร้อยละ 60 ที่ทานอาหารปรุงด้วยวิธีต้มหรือลวกสุก แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า การทานอาหารที่ปรุงด้วยวิธีปิ้ง/ย่างพบสูงสุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ร้อยละ 6.8)
เมื่อจำแนกอาหารเป็น 8 กลุ่ม พบว่า ความถี่ในการบริโภคอาหารแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกันดังนี้ การบริโภคอาหารกลุ่มที่ร่างกายต้องการเป็นประจำได้แก่ กลุ่มเนื้อสัตว์และกลุ่มผัก/ผลไม้สด ผู้ที่ทาน 3-4 วันขึ้นไป /สัปดาห์ มีสัดส่วนสูงสุด(ร้อยละ 79.7 และร้อยละ 90.4 ตามลำดับ) โดยเฉพาะกลุ่มผัก/ผลไม้สดมีผู้ที่ทานทุกวันเกินครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 58.0)
สำหรับกลุ่มอาหารที่ทานเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและกลุ่มแร่ธาตุ วิตามิน พบว่ามีเพียงร้อยละ 9.2 และ 11.7 ที่ทาน โดยกลุ่มผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) มีสัดส่วนของการทานอาหารกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและกลุ่มแร่ธาตุ วิตามินสูงกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ (ร้อยละ 15.8 และร้อยละ 17.0 ตามลำดับ)
ส่วนอาหารในกลุ่มที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพหากบริโภคมากเกินพอดี ได้แก่ กลุ่มอาหารที่มีไขมันสูง กลุ่มขนมสำหรับทานเล่น/ขนมกรุบกรอบ กลุ่มอาหารประเภทจานด่วนทางตะวันตก และกลุ่มเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม/เครื่องดื่มที่มีรสหวานพบว่าในกลุ่มอาหารที่มีไขมันสูง ส่วนใหญ่คนไทย ทาน 1-2 วัน/สัปดาห์(ร้อยละ 47.3) รองลงมาคือทาน 3-4 วัน/สัปดาห์ และมีประมาณร้อยละ 10 ที่ไม่ทาน
สำหรับกลุ่มขนมสำหรับทานเล่น/ขนมกรุบกรอบ พบว่า เกือบครึ่งหนึ่งที่ไม่ทาน (ร้อยละ 49.0) และเมื่อพิจารณาความถี่ของการทานขนม กรุบกรอบตามวัย พบว่ากลุ่มเด็ก(6-14 ปี) ทานทุกวันสูงกว่าวัยอื่น คือ ร้อยละ 36.8 ส่วนวัยเยาวชนและวัยทำ งานส่วนใหญ่จะทาน 1-2 วัน/สัปดาห์รองลงมาคือ 3-4 วัน/สัปดาห์
กลุ่มอาหารประเภทจานด่วนทางตะวันตกพบว่ามากกว่า 4 ใน 5 ที่ไม่ทาน (ร้อยละ 85.8) ส่วนกลุ่มเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม/เครื่องดื่มที่มีรสหวาน พบว่าประมาณ 1 ใน 3 ไม่ดื่ม ส่วนกลุ่มที่ดื่มพบว่ามีสัดส่วนของการดื่มทุกวันและดื่ม 1-2 วัน/สัปดาห์ใกล้เคียงกัน คือ ร้อยละ 25.3 และร้อยละ 22.9 ตามลำดับ และพบว่าผู้ที่อยู่ในวัยทำงานทานทุกวันถึงร้อยละ 31.3