สรุปผลเบื้องต้นการสำรวจสุขภาพจิตคนไทย ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552

ข่าวทั่วไป Thursday December 24, 2009 16:51 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ร่วมมือกับกรมสุขภาพจิตสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จัดทำการสำรวจสุขภาพจิตคนไทยไปพร้อมกับการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2552 (ซึ่งจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับ รายได้ ค่าใช้จ่าย ภาวะหนี้สิน และทรัพย์สินของครัวเรือนตลอดจนลักษณะที่อยู่อาศัย โดยในแต่ละปีทำการเก็บรวบรวมข้อมูลทุกเดือน (มกราคม - ธันวาคม) จากครัวเรือนตัวอย่างในทุกจังหวัดทั่วประเทศจำนวนประมาณ 52,000 ครัวเรือนทั้งในเขตและนอกเขตเทศบาล) โดยใช้ข้อถามสุขภาพจิตคนไทยฉบับสั้น 15 ข้อ1/ (ที่กรมสุขภาพจิตได้พัฒนาจากข้อถามฉบับสมบูรณ์ 54 ข้อ) โดยให้ผู้ตอบอายุ 15 ปีขึ้นไป สำรวจตัวเองและประเมินเหตุการณ์ อาการ ความคิดเห็น และความรู้สึกของตนในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา

สำหรับผลการสำรวจเบื้องต้นที่สำคัญ จากข้อมูลที่สำรวจได้ใน 6 เดือนแรก (มกราคม - มิถุนายน) ผู้ตอบสัมภาษณ์ประมาณ 35,700 คน สรุปได้ดังนี้

1. การเปรียบเทียบสุขภาพจิตคนไทย ตามลักษณะที่สำคัญของประชากร ปี 2551 - 2552

จากการสำรวจพบว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปมีคะแนนสุขภาพจิตอยู่ที่ 32.73 คะแนนซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้สำหรับสุขภาพจิตของคนทั่วไป(คือ 27.01-34 คะแนน) และในจำนวนนี้เป็นผู้ที่มีสุขภาพจิตต่ำกว่าคนทั่วไปร้อยละ 14.7 และผู้ที่สูงกว่าคนทั่วไปร้อยละ 35.1

เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2551 พบว่าคนไทยมีสุขภาพจิตโดยเฉลี่ยดีขึ้น(ปี 2551 31.80 คะแนน) โดยมีสัดส่วนของคนที่มีสุขภาพจิตสูงกว่าคนทั่วไปเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7.4(จากร้อยละ 27.7 เป็นร้อยละ 35.1) และสัดส่วนของคนที่มีสุขภาพจิตต่ำกว่าคนทั่วไปลดลงร้อยละ 3.1(จากร้อยละ 17.8 เป็นร้อยละ 14.7)

เพศและอายุ

เมื่อพิจารณาสุขภาพจิตของคนไทยตามเพศ และอายุพบว่าเป็นไปในลักษณะเช่นเดียวกันทั้ง 2 ปี คือชายมีสุขภาพจิตดีกว่าหญิง และผู้ที่มีอายุ 40 - 59 ปี เป็นกลุ่มที่มีสุขภาพจิตสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่ากลุ่มอายุนี้มีอาชีพและฐานะทางการเงินที่มั่นคงมากกว่ากลุ่มอายุอื่น สำหรับกลุ่มคนสูงอายุ(60 ปีขึ้นไป) พบว่าในปี 2551 มีคะแนนสุขภาพจิต 31.44 คะแนน ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเท่ากับคนทั่วไปแต่เมื่อเทียบกับกลุ่มอายุอื่น พบว่ามีคะแนนสุขภาพจิตต่ำสุดแต่ในปี 2552 กลับมีคะแนนสุขภาพจิตสูงขึ้นเป็น 32.62 คะแนนและสูงกว่ากลุ่มอายุ 15 - 24 ปี ซึ่งอาจจะเป็นเพราะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ ทำให้การยังชีพดีขึ้น จึงส่งผลให้สุขภาพจิตดีขึ้นด้วย

การศึกษาสูงสุด

จากการสำรวจ พบว่าระดับการศึกษาและสุขภาพจิตมีความสัมพันธ์ไปในทางเดียวกันทั้ง 2 ปี นั่นคือผู้ที่มีการศึกษาสูงกว่าจะมีสุขภาพจิตดีกว่าผู้ที่มีการศึกษาต่ำกว่า คือผู้ที่มีการศึกษาในระดับอุดมศึกษามีสุขภาพจิตดีที่สุด และผู้ที่ไม่มีการศึกษา/มีการศึกษาต่ำกว่าประถม มีสุขภาพจิตต่ำสุดทั้ง 2 ปีแต่อย่างไรก็ตาม พบว่ากลุ่มผู้ที่ไม่มีการศึกษาฯมีสุขภาพจิตดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คือเพิ่มจาก 30.29 เป็น 32.17 คะแนน

เขตการปกครอง/ภาค

เมื่อพิจารณาสุขภาพจิตของคนไทยในปี 2552 ตามเขตการปกครอง พบว่าคนไทยทั้งในเขตและนอกเขตเทศบาลมีสุขภาพจิตดีกว่าปี 2551 โดยเฉพาะผู้ที่อยู่นอกเขตเทศบาลที่มีสุขภาพจิตดีขึ้นมากกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด และดีกว่าผู้ที่อยู่ในเขตเทศบาล ซึ่งจะแตกต่างกับปี 2551

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่าในปี 2552 คนไทยทุกภาค ยกเว้นกรุงเทพฯ มีสุขภาพจิตดีขึ้นกว่าปี 2551 โดยภาคใต้ยังเป็นภาคที่มีคะแนนสุขภาพจิตสูงสุดเช่นเดิมสำหรับผู้ที่อยู่ในกรุงเทพฯ พบว่าคะแนนสุขภาพจิตลดลงจาก 32.09 เป็น 31.68 คะแนน ซึ่งอาจเนื่องจากผลกระทบทั้ง ด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองในช่วงปีที่ผ่านมา

2. สุขภาพจิตคนไทย ตามภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2552

รายได้ทั้งสิ้นของครัวเรือน

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 พบว่าสุขภาพจิตและรายได้มีความสัมพันธ์ไปในทางเดียวกัน นั่นคือผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้สูงกว่าจะมีสุขภาพจิตดีกว่า แต่อย่างไรก็ตามพบว่าทุกกลุ่มรายได้มีคะแนนสุขภาพจิตอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานขึ้นไป กล่าวคือผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 3,001 ถึง 50,000 บาท มีสุขภาพจิตอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเท่ากับคนทั่วไปขณะที่ผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้สูงกว่า 50,000 บาทจะมีสุขภาพจิตดีกว่าคนทั่วไป

รายได้ ค่าใช้จ่าย หนี้สิน และสถานะทางเศรษฐสังคมของครัวเรือน (ตามอาชีพ3/)

เมื่อพิจารณาตามอาชีพของครัวเรือน พบว่าครัวเรือนลูกจ้างที่ปฏิบัติงานวิชาชีพ/นักวิชาการ/นักบริหาร ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยสูงสุดถึง 48,838 บาท/เดือน ถึงแม้ว่าจะมีรายจ่ายของครัวเรือนสูงถึง 33,519 บาท/เดือน และมีหนี้สินสูงสุดถึง 406,331 บาท/ครัวเรือน แต่สมาชิกในครัวเรือนดังกล่าวยังมีสุขภาพจิตดีกว่าสมาชิกในครัวเรือนอาชีพอื่นๆ คือมีคะแนนสุขภาพจิตสูงถึง 34.13 คะแนนซึ่งสูงกว่าระดับสุขภาพจิตของคนทั่วไป สุขภาพจิตดีรองลงมาคือผู้ที่อยู่ในครัวเรือนผู้ถือครองทำการเกษตรที่เป็นเจ้าของที่ดิน (33.55 คะแนน) และครัวเรือนที่ประกอบธุรกิจของตนเอง (32.98 คะแนน) ตามลำดับ สำหรับครัวเรือนที่สมาชิกมีสุขภาพจิตต่ำสุด คือครัวเรือนประมง/ป่าไม้/ล่าสัตว์ฯ ครัวเรือนคนงานทั่วไป(31.08 และ 31.45 คะแนน ตามลำดับ)

จำนวนผู้ทำงานหารายได้ และภาระพึ่งพิงในครัวเรือน

จากผลการสำรวจ พบว่าผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่มีคนทำงานหารายได้มากจะมีสุขภาพจิตดีกว่าครัวเรือนที่มีคนทำงานน้อยซึ่งอาจเนื่องจากรู้สึกว่ามีความมั่นคงในชีวิตเมื่อพิจารณาภาระพึ่งพิงของครัวเรือน พบว่าผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่มีภาระพึ่งพิงน้อย คือมีสัดส่วนของคนทำงานมากกว่าคนไม่ทำงาน จะมีสุขภาพจิตดีกว่าผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่มีภาระพึ่งพิงมาก(มีคนทำงานน้อยกว่าหรือเท่ากับคนไม่ทำงานหรือไม่มีคนทำงานเลย) แต่มีข้อสังเกตว่าผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่ไม่มีคนพึ่งพิง คือมีเฉพาะคนทำงาน กลับมีสุขภาพจิตต่ำกว่าผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่มีภาระพึ่งพิง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะคนที่มีภาระพึ่งพิงในครัวเรือนมีความรู้สึกเป็นสุขที่ได้มีโอกาสช่วยเหลือผู้อื่น และมีความอบอุ่นในครัวเรือน เช่น เลี้ยงดูพ่อ แม่หรือลูก จึงทำให้มีสุขภาพจิตดีกว่าคนที่ไม่มีภาระพึ่งพิงในครัวเรือน ซึ่งส่วนหนึ่งพบว่าเป็นผู้ที่อยู่คนเดียว อาจจะมีความรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่มีสิ่งยึดเหนี่ยวในชีวิต จึงทำให้สุขภาพจิตต่ำกว่า

การกระจายรายได้ของครัวเรือน

เมื่อพิจารณาการกระจายรายได้ของครัวเรือน โดยจัดแบ่งครัวเรือนทั่วประเทศเป็น 5 กลุ่มเท่าๆ กัน โดยเรียงลำดับตามรายได้ประจำต่อคนต่อเดือนจากน้อยไปมาก(กลุ่มที่ 1 มีรายได้ต่ำสุด และกลุ่มที่ 5 มีรายได้สูงสุด) พบว่าคนที่อยู่ในกลุ่มที่มีรายได้สูงสุด(กลุ่มที่ 5 ซึ่งมีรายได้ประจำต่อคนต่อเดือนมากกว่ากลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุดถึง 12 เท่า) มีสุขภาพจิตดีที่สุด(33.97 คะแนน) ในขณะที่คนที่อยู่ในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุด(กลุ่มที่ 1) มีสุขภาพจิตต่ำสุด(32.02 คะแนน)แต่อย่างไรก็ตาม พบว่าคะแนนสุขภาพจิตของทุกกลุ่มอยู่ในระดับปกติเท่ากับคนทั่วไป

1/ ข้อถามแต่ละข้อมีคะแนนอยู่ระหว่าง 0 - 3 คะแนน ซึ่งคะแนนเต็มของข้อถามสุขภาพจิตชุดนี้ คือ 45 คะแนน
การแปลผล : คะแนนรวม 0 - 27 คะแนน หมายถึง สุขภาพจิตต่ำกว่าคนทั่วไป

27.01 - 34 คะแนน หมายถึง สุขภาพจิตเท่ากับคนทั่วไป

34.01 - 45 คะแนน หมายถึง สุขภาพจิตสูงกว่าคนทั่วไป 2/ สำรวจสุขภาพจิตคนไทยไปพร้อมกับการสำรวจสภาวะทางสังคม และวัฒนธรรม พ.ศ.2551 3/ พิจารณาตามอาชีพที่ก่อให้เกิดรายได้สูงสุดของครัวเรือน

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ