สรุปข้อมูลเบื้องต้น การสำรวจยอดขายรายไตรมาส พ.ศ. 2552 : ไตรมาส 3

ข่าวทั่วไป Wednesday January 6, 2010 12:14 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจยอดขายรายไตรมาสเป็นประจำทุกปี การสำรวจครั้งนี้เป็นการดำเนินการในไตรมาส 3 ของ ปี 2552 โดยใช้ขนาดตัวอย่างรวม 5,255 สถานประกอบการ จากทั่วประเทศ ข้อมูลที่เก็บรวบรวม ได้แก่ ข้อมูลเกี่ยวกับการจำหน่ายปลีกสินค้าและ บริการของสถานประกอบการ และข้อมูลสินค้าคงเหลือของธุรกิจประเภทขายปลีก

ผลการสำรวจในปี 2552 ไตรมาส 3 ทั่วราชอาณาจักร สรุปได้ดังนี้

1. การเปลี่ยนแปลงมูลค่าขาย/รายรับ ระหว่างไตรมาส

ในไตรมาส 3 ปี 2552 ภาพรวมของธุรกิจทั่วประเทศ มีมูลค่าขาย/รายรับปรับตัวดีขึ้น โดยหดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา เหลือร้อยละ 1.2 สำหรับธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท เกสต์เฮาส์ และหอพัก และการให้เช่าของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน มีรายรับลดลงเท่า กันคือร้อยละ 5.1 และธุรกิจการขายปลีกและกิจกรรมนันทนาการ สำนักข่าว และการกีฬา มีรายรับลดลงเท่ากันคือร้อยละ 1.3 ในขณะที่ธุรกิจ การบริการอื่น ๆ และภัตตาคารและร้านอาหาร มีรายรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 และ 2.0 ตามลำดับ

ประเภทธุรกิจ                            Q3/52
          รวม                          -1.2
การขายปลีก                              -1.3
โรงแรม รีสอร์ท เกสต์เฮาส์ และหอพัก          -5.1
ภัตตาคารและร้านอาหาร                      2.0
การให้เช่าของใช้ส่วนบุคคลฯ                  -5.1
กิจกรรมนันทนาการ สำนักข่าว และการกีฬา       -1.3
การบริการอื่น ๆ                            2.5

1.1 ธุรกิจค้าปลีก

สำหรับธุรกิจค้าปลีก พบว่า ในไตรมาส 3 มียอดขายลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 1 โดยมียอดขายลดลงร้อยละ 1.3

เมื่อพิจารณาตามขนาดของกิจการ พบว่า ในไตรมาส 3 กิจการเกือบทุกขนาดมียอดขายลดลง โดยกิจการที่มีคนทำงาน 26 - 30 คน มียอดขายลดลงสูงที่สุดร้อยละ 12.1 สาเหตุที่มียอดขายลดลง สถานประกอบการร้อยละ 33.4 รายงานว่าเนื่องจากลูกค้ามีกำลังซื้อลดลง

สำหรับกิจการขนาดกลาง (คนทำงาน 51 - 200 คน) และกิจการที่มีคนทำงาน 16 - 25 คน พบว่า ในไตรมาส 3 มียอดขาย เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 และ 1.8 ตามลำดับ

ประเภทของธุรกิจค้าปลีกที่มียอดขายลดลงในไตรมาส 3 ได้แก่ ขายปลีกอาหาร เครื่องดื่ม หรือยาสูบ เป็นสินค้าหลัก ดิสเคาน์สโตร์ ร้านสะดวกซื้อ (ร้อยละ 9.8) และขายปลีกสิ่งทอ เสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องหนัง (ร้อยละ 7.7)

สำหรับธุรกิจค้าปลีกที่มียอดขายเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3 ได้แก่ ขายปลีกของใช้แล้ว ขายโดยไม่มีร้านซ่อมแซมของใช้ (ร้อยละ 5.9) ขายปลีกสินค้าอื่น ๆ (ร้อยละ 5.0) ขายปลีกเครื่องโลหะ สีทา และกระจก (ร้อยละ 4.1) ขายปลีกสินค้าทั่วไป ห้างสรรพสินค้า (ร้อยละ 2.3) ขายปลีกอาหาร เครื่องดื่ม หรือยาสูบ ในร้านเฉพาะอย่าง (ร้อยละ 2.2) ขายปลีกเครื่องใช้สิ่งของและอุปกรณ์ในครัวเรือน (ร้อยละ 0.3) และ ขายปลีกยา เวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง (ร้อยละ 0.1)

ขนาดของสถานประกอบการ           Q3/52
(จำนวนคนทำงาน)
          รวม                   -1.3
1 - 15 คน                       -2.7
16 - 25 คน                       1.8
26 - 30 คน                     -12.1
31 - 50 คน                      -1.2
51 - 200 คน                      3.5
มากกว่า 200 คน                   -0.5

1.2 ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท เกสต์เฮาส์ และหอพัก

ธุรกิจประเภทโรงแรม รีสอร์ท เกสต์เฮาส์ และหอพัก พบว่า ในไตรมาส 3 ยังมีมูลค่ารายรับลดลงจากไตรมาสก่อนอย่างต่อเนื่อง ประมาณร้อยละ 5.1

เมื่อพิจารณาตามขนาดของกิจการ พบว่า ในไตรมาส 3 กิจการเกือบทุกขนาดมีมูลค่ารายรับลดลง โดยกิจการที่มีคนทำงาน 16 - 25 คน มีรายรับลดลงสูงที่สุดร้อยละ 12.8 รองลงมาคือกิจการที่มีคนทำงาน 26 - 30 คน ลดลงร้อยละ 11.8 สาเหตุที่มีรายรับลดลง สถานประกอบการร้อยละ 50.3 รายงานว่าเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งมีผลกระทบต่อการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ทำให้อัตรา เข้าพักแรมลดลง

สำหรับกิจการที่มีคนทำงาน 31 - 50 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 สาเหตุที่มีรายรับเพิ่มขึ้นนั้น สถาน-ประกอบการร้อยละ 57.2 รายงานว่าเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลวันหยุดตามประเพณี ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น

ขนาดของสถานประกอบการ           Q3/52
(จำนวนคนทำงาน)
รวม                             -5.1
1 - 15 คน                       -5.6
16 - 25 คน                     -12.8
26 - 30 คน                     -11.8
31 - 50 คน                       2.5
51 - 200 คน                     -8.2
มากกว่า 200 คน                   -4.2

1.3 ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร

ด้านธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร มีมูลค่ารายรับปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา โดยมีรายรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 2.0

เมื่อพิจารณาตามขนาดของกิจการ พบว่า กิจการเกือบทุกขนาดมีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้น โดยกิจการที่มีคนทำงาน 26 - 30 คน มี รายรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 19.3 สาเหตุที่รายรับเพิ่มขึ้น สถานประกอบการร้อยละ 61.6 รายงานว่าเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ทำให้ลูกค้ามีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น

สำหรับกิจการที่มีคนทำงาน 16 - 25 คน และกิจการขนาดกลาง (คนทำงาน 51 - 200 คน) มีรายรับลดลงเล็กน้อยในไตรมาส 3 ร้อยละ 1.2 และร้อยละ 0.3 ตามลำดับ

ขนาดของสถานประกอบการ           Q3/52
(จำนวนคนทำงาน)
รวม                              2.0
1 - 15 คน                        1.2
16 - 25 คน                      -1.2
26 - 30 คน                      19.3
31 - 50 คน                       5.9
51 - 200 คน                     -0.3
มากกว่า 200 คน                    0.8

1.4 ธุรกิจการให้เช่าของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน

ธุรกิจการให้เช่าของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน เช่น การให้เช่ากล้องและอุปกรณ์การถ่ายภาพ การให้เช่าวีดีโอ วีซีดี และ ดีวีดี การให้เช่าเครื่องแต่งกายที่ใช้ในงานพิธีต่าง ๆ การให้เช่าโต๊ะ เก้าอี้ เครื่องครัว และการให้เช่าหนังสือ เป็นต้น พบว่า ในไตรมาส 3 มี มูลค่ารายรับปรับตัวลดลงร้อยละ 5.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

เมื่อพิจารณาตามขนาดของสถานประกอบการ พบว่า กิจการขนาดเล็ก (คนทำงาน 1 - 15 คน) มีมูลค่ารายรับลดลงร้อยละ 5.3 สาเหตุที่มีรายรับลดลง สถาน-ประกอบการร้อยละ 40.4 รายงานว่าเนื่องจากเศรษฐกิจมีการชะลอตัวลง ทำให้มีลูกค้าลดลง

สำหรับกิจการที่มีคนทำงาน 16 - 25 คน และ 31 - 50 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3 ร้อยละ 3.9 และ 2.6 ตามลำดับ สาเหตุที่มีรายรับเพิ่มขึ้น สถาน-ประกอบการร้อยละ 59.6 รายงานว่าเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลวันหยุดตามประเพณี ทำให้มีผู้มาใช้บริการมากขึ้น

ขนาดของสถานประกอบการ            Q3/52
(จำนวนคนทำงาน)
          รวม                    -5.1
1 - 15 คน                        -5.3
16 - 25 คน                        3.9
26 - 30 คน                          -
31 - 50 คน                        2.6
51 - 200 คน                         -
มากกว่า 200 คน                       -

1.5 กิจกรรมนันทนาการ สำนักข่าว และการกีฬา

กิจกรรมนันทนาการ สำนักข่าว และการกีฬา พบว่า ในไตรมาส 3 มีมูลค่ารายรับปรับตัวลดลงร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับไตรมาส ที่ผ่านมา

เมื่อพิจารณาตามขนาดของสถานประกอบการ พบว่า กิจการขนาดกลาง (คนทำงาน 51 - 200 คน) มีรายรับลดลงสูงที่สุดร้อยละ 6.8 สาเหตุที่มีรายรับลดลง สถานประกอบการร้อยละ 35.8 รายงานว่าเนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝนทำให้มีงานน้อยลง

สำหรับกิจการที่มีคนทำงาน 31 - 50 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในไตรมาส 3 ร้อยละ 5.0 สาเหตุที่มีรายรับเพิ่มขึ้นนั้น สถานประกอบการร้อยละ 39.5 รายงานว่า เนื่องจากลูกค้ามีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น

ธุรกิจที่มีรายรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ การบันเทิงอื่น ๆ นันทนาการอื่น ๆ กิจกรรมสำนักข่าว และผลิต ขาย ให้เช่ารายการวิทยุ โทรทัศน์

ขนาดของสถานประกอบการ             Q3/52
(จำนวนคนทำงาน)
          รวม                     -1.3
1 - 15 คน                          2.7
16 - 25 คน                         3.9
26 - 30 คน                        -5.0
31 - 50 คน                         5.0
51 - 200 คน                       -6.8
มากกว่า 200 คน                     -3.6

1.6 ธุรกิจการบริการอื่น ๆ

ธุรกิจการบริการอื่น ๆ ได้แก่ บริการซักรีด ทำความสะอาด บริการเสริมสวย สถานเสริมความงามต่าง ๆ กิจกรรมเกี่ยวกับการทำศพ และการบริการอื่น ๆ พบว่า ในไตรมาส 3 ยังมีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนอย่างต่อเนื่อง ประมาณร้อยละ 2.5

เมื่อพิจารณาตามขนาดของสถานประกอบการ พบว่า กิจการเกือบทุกขนาดมีมูลค่ารายรับลดลง โดยกิจการขนาดใหญ่ (คนทำงานมากกว่า 200 คน) มีรายรับลดลงสูงที่สุดร้อยละ 10.1

สำหรับกิจการขนาดเล็ก (คนทำงาน 1 - 15 คน) มีรายรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3 ร้อยละ 3.6 สาเหตุที่รายรับเพิ่มขึ้น สถานประกอบการร้อยละ 32.6 รายงานว่าเนื่องจากลูกค้ามีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น

ขนาดของสถานประกอบการ           Q3/52
(จำนวนคนทำงาน)
          รวม                    2.5
1 - 15 คน                        3.6
16 - 25 คน                      -7.8
26 - 30 คน                      -7.9
31 - 50 คน                      -4.7
51 - 200 คน                      -1.1
มากกว่า 200 คน                   -10.1

2. การเปลี่ยนแปลงมูลค่าสินค้าคงเหลือระหว่างไตรมาสของการขายปลีก

ภาพรวมของมูลค่าสินค้าคงเหลือของธุรกิจค้าปลีกในไตรมาส 3 ปี 2552 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา โดย พบว่า ธุรกิจค้าปลีกมีมูลค่าสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยร้อยละ 0.3 ในส่วนของการขายปลีกสินค้าแต่ละประเภท พบว่า ธุรกิจค้าปลีกเกือบ ทุกประเภท มีมูลค่าสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้น โดยการขายปลีกเครื่องโลหะ สีทา และกระจก มีสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 10.0

สำหรับการขายปลีกสินค้าอื่น ๆ สินค้าทั่วไป ห้างสรรพสินค้า และอาหาร เครื่องดื่ม หรือยาสูบ เป็นสินค้าหลัก มีมูลค่าสินค้าคงเหลือ ลดลงในไตรมาส 3 ร้อยละ 6.0 ร้อยละ 3.7 และร้อยละ 0.4 ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงมูลค่าสินค้าคงเหลือ ตามขนาดของสถานประกอบการ พบว่า กิจการที่มีคนทำงาน 16 - 25 คน มี มูลค่าสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 3.8 ในขณะที่กิจการที่มีคนทำงาน 31 - 50 คน มีมูลค่าสินค้าคงเหลือลดลงสูงที่สุดร้อยละ 9.2

รายการ                                        Q3/52
ประเภทธุรกิจ                                      0.3
อาหาร เครื่องดื่ม หรือยาสูบ เป็นสินค้าหลัก               -0.4
สินค้าทั่วไป ห้างสรรพสินค้า                           -3.7
อาหาร เครื่องดื่ม หรือยาสูบ ในร้านเฉพาะอย่าง            5.9
ยา เวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง                            3.8
สิ่งทอ เสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องหนัง                   2.4
เครื่องใช้ในครัวเรือน                                5.3
เครื่องโลหะ สีทา และกระจก                         10.0
สินค้าอื่น ๆ                                       -6.0
ขนาดของสถานประกอบการ (จำนวนคนทำงาน)             0.3
1 - 15 คน                                       1.9
16 - 25 คน                                      3.8
26 - 30 คน                                     -4.0
31 - 50 คน                                     -9.2
51 - 200 คน                                    -3.8
มากกว่า 200 คน                                   1.1

3. สรุปผลและข้อเสนอแนะ

ภาพรวมของธุรกิจทั่วประเทศในไตรมาส 3 ปี 2552 มีรายรับลดลงร้อยละ 1.2 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก

แต่อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสนี้ธุรกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา โดยเฉพาะภาคบริการจากการท่องเที่ยว ได้แก่ ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร กลับมาขยายตัวในไตรมาส 3 ร้อยละ 2.0 ส่วนธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท เกสต์เฮาส์ และหอพัก และการขายปลีก ปรับตัวดีขึ้นโดยหดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา เหลือร้อยละ 5.1 และ 1.3 ตามลำดับเนื่องจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว และมาตรการ กระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

สำหรับความช่วยเหลือที่ต้องการจากหน่วยงานของรัฐนั้น มีผู้ประกอบการธุรกิจและบริการทั่วประเทศ ร้อยละ 15.5 แสดงความคิดเห็น ในเรื่องนี้ โดยได้ระบุความต้องการดังนี้ ร้อยละ 54.1 เห็นว่ารัฐควรสนับสนุนแหล่งเงินทุนให้กู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 19.5 ต้องการให้ กำหนดมาตรฐานการควบคุมราคาสินค้าให้เข้มงวดมากขึ้น และร้อยละ 6.2 ต้องการให้เร่งฟื้นฟูและส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศ ตลอดจน สนับสนุนสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจและบริการทั่วประเทศ ร้อยละ 2.1 ได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมโดยในจำนวนนี้ ร้อยละ 21.8 เห็นว่า รัฐบาลควรมีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 10.0 ควรสนับสนุนและส่งเสริมการแสดงศิลปะพื้นบ้านของไทยทุกสาขา และร้อยละ 8.7 ควรมีการกำหนดมาตรฐานการควบคุมราคาสินค้าให้เข้มงวดมากขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพของภาคธุรกิจ

หมายเหตุ : การสำรวจยอดขายรายไตรมาส

1) คุ้มรวมของการสำรวจ ได้แก่ สถานประกอบการที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการจำหน่ายปลีกสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค โรงแรมและ ภัตตาคาร การให้เช่าของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือนฯ กิจกรรมนันทนาการ สำนักข่าว และการกีฬา และการให้บริการส่วนบุคคลประเภท ต่าง ๆ ที่มีคนทำงาน 1 คนขึ้นไป ทั่วประเทศ

2) ปี 2549 ไม่มีการสำรวจ

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ