100 ปีสำมะโนไทย

ข่าวทั่วไป Thursday January 14, 2010 16:26 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

ประเทศไทยเริ่มดำเนินการนับจำนวนประชากรเป็นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ.2448

การนับจำนวนประชากรครั้งนั้น ครอบคลุมพื้นที่ในเขตบริหาร 12 จากทั้งหมด 17 มณฑล

โดยให้แจกแจงว่าเป็นเพศใด ผู้ชาย ผู้หญิง อายุเท่าไหร่ และชาติพันธุ์อะไรบ้าง เรียกว่า "บัญชีพลเมือง"

ต่อมามีการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประชากรของประเทศ ในรูปแบบของการทำสำมะโนประชากร โดยกระทรวงมหาด ไทย ในปี พ.ศ.2452, 2462, 2472, 2480 และ 2490

เรียกว่า สำรวจ "สำมะโนครัว"

สำนักงานสถิติแห่งชาติ เข้ามารับผิดชอบและดำเนินการจัดทำสำมะโนประชากร โดยจัดการสำรวจสำมะโนประชากรในทุก 10 ปี เริ่มเมื่อ พ.ศ.2503 ต่อมาใน พ.ศ.2513, 2523, 2533 และล่าสุด 2543

และยังจัดทำสำมะโนเคหะไปพร้อมกับการทำสำมะโนประชากรตั้งแต่ พ.ศ. 2513

พ.ศ.2553 จึงเป็นการทำสำมะโนประชากรครั้งที่ 11

และที่พิเศษสุด คือรอบ 100 ปี การทำสำมะโนประชากรประเทศไทย

การทำสำมะโนประชากรและเคหะ คือการนับประชากรทั้งหมดที่อยู่ในประเทศไทย เป็นแหล่งข้อมูลหลักเกี่ยวกับขนาดและการกระจายตัวตามภูมิศาสตร์

รวมทั้งลักษณะทางสังคม เศรษฐกิจ และประชากรของผู้คน

หากข้อมูลไม่ถูกต้องจะส่งผลต่อกระบวนการพัฒนาประเทศอย่างไม่มีทิศทางที่ชัดเจน

เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานของประชากร (เพศ อายุ สัญชาติ การศึกษา การทำงาน เป็นต้น) ตามที่อยู่จริง และที่อยู่อาศัย (ประเภท การมีน้ำดื่ม/น้ำใช้ เป็นต้น)

ให้ได้ข้อมูลในระดับพื้นที่ย่อย (หมู่บ้าน อบต. เทศบาล) เป็นต้น

และเพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงในรอบ 10 ปี

ที่ผ่านมา สำนักงานสถิติแห่งชาติจะรับผิดชอบดำเนินโครง การเบ็ดเสร็จ แต่ในปี 2553 มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ โดยสร้างพันธมิตรกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อบูรณาการองค์ความรู้และทรัพยากร

โดยลงนามความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับ 10 พันธมิตร คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด กทม. และมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

ตลอดจนร่วมกับสถาบันการศึกษาต่างๆ เช่น สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และองค์กรระหว่างประเทศ เช่น World Bank, United Nations Population Fund (UNFPA), International Organization for Migration (IOM)

ร่วมกันศึกษาวิธีการจัดทำสำมะโนประชากรให้มีประสิทธิภาพ

และปรับกลยุทธ์สร้างความเข้าใจให้ประชาชนเห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ภายใต้โครงการ "สร้างเครือข่ายภาคประชาชน" แทนการใช้กฎหมายบังคับ ตาม พ.ร.บ. สถิติ 2550 ที่ให้ประชาชนต้องตอบคำถามอย่างไม่เต็มใจ

โดยจัดประชุมเครือข่ายภาคประชาชนไปแล้ว 1,900 ชุมชน และจะทยอยสร้างเครือข่ายต่อไปให้ครบก่อนการทำสำมะโนจริงในปี 2553

รวมทั้งกำหนดทางเลือกในการให้ข้อมูลที่หลากหลาย เพื่ออำนวยความสะดวก เช่น เลือกว่าจะให้สำนักงานสถิติแห่งชาติส่งพนักงานไปสัมภาษณ์ที่บ้าน ให้ข้อมูลผ่านทาง Internet หรือให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ เป็นต้น

จากการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการดำเนินโครงการดังกล่าวข้างต้น เชื่อว่าจะทำให้สำมะโนประชากรและเคหะครั้งนี้ ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์เป็นเข็มทิศที่เที่ยงตรงที่หน่วยงานภาครัฐจะได้นำไปใช้ประโยชน์ได้ตรงเป้า

เพื่อประโยชน์ประชาชนเอง

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ