สำรวจสถานภาพการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย พ.ศ. 2552

ข่าวทั่วไป Friday January 15, 2010 14:50 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

สำรวจสถานภาพการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย พ.ศ. 2552

บทสรุปสำหรับผู้บริหาร

สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ทำการสำรวจสถานภาพการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2550 และครั้งนี้เป็นการ สำรวจครั้งที่ 3 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับสถานภาพของธุรกิจที่มีการขายสินค้าและบริการผ่านอินเทอร์เน็ต ทั้งในเรื่องของประเภท ธุรกิจที่ทำ จำนวนคนทำงาน มูลค่าขาย ค่าใช้จ่าย การจัดส่งสินค้า และการชำระเงิน ในมุมมองของผู้ประกอบการซึ่งภาครัฐต้องเข้าไปสนับสนุน รวมทั้งทิศทางการปรับตัวที่สำคัญ ๆ ของภาคธุรกิจเพื่อให้มีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น

การสำรวจครั้งนี้เก็บรวบรวมข้อมูลในเดือนเมษายน — มิถุนายน 2552 โดยวิธีส่งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสถิติแห่งชาติออกไปสัมภาษณ์เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ ตามแบบสอบถาม รวมทั้งนำแบบสอบถามขึ้นเว็บไซต์ให้ผู้ประกอบธุรกิจ e-Commerce เข้ามาตอบจากจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมดประมาณ 47,000 ราย มีแบบสอบถามที่สามารถนำมาประมวลผลได้ทั้งสิ้นประมาณ 1,606 ราย

ผลจากการสำรวจ สรุปได้ดังนี้

1. ลักษณะทั่วไปของธุรกิจ

ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของไทยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 76.5) เป็นธุรกิจขนาดเล็กมีคนทำงานไม่เกิน 5 คน และเป็นธุรกิจประเภท B2C ถึง ร้อยละ 82.6

หากแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่ทำ พบว่า อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น เครื่องแต่งกาย อัญมณีและเครื่องประดับมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 42.1 ของธุรกิจทั้งหมด รองลงมาเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอินเทอร์เน็ตคิดเป็นร้อยละ 17.7

เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2550 และ ปี 2551 พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในปี 2552 ได้แก่ กลุ่มแฟชั่น เครื่องแต่งกาย อัญมณีและเครื่องประดับ จากร้อยละ 18.0 ในปี 2550 เป็นร้อยละ 29.4 ในปี 2551 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 42.1 ในปี 2552

เมื่อพิจารณาในรายละเอียดตามประเภทอุตสาหกรรมของธุรกิจ B2B พบว่า อุตสาหกรรมที่ทำกันมาก 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) น้ำหอม เครื่องสำอางและอุปกรณ์เสริมความงาม 2) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 3) รถยนต์ เครื่องยนต์ อะไหล่ชิ้นส่วนรถยนต์ 4) Software System 5) สิ่งทอหัตถกรรม เสื้อผ้า และเครื่องหนัง

ส่วนอุตสาหกรรมที่มีมากในธุรกิจ B2C คือ 1) สิ่งทอ หัตถกรรมเสื้อผ้า และเครื่องหนัง 2) น้ำหอม เครื่องสำอาง และอุปกรณ์เสริมความงาม 3) การท่องเที่ยว/จองตั๋วเดินทาง/ที่พัก 4) คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้อง 5) อาหาร อาหารแปรรูป และเครื่องดื่ม และการพิมพ์/หนังสือ และสิ่งพิมพ์

ธุรกิจ e-Commerce ประมาณร้อยละ 51.2 ขายผ่านอิเล็กทรอนิกส์มาไม่เกิน 1 ปี หากพิจารณาตามลักษณะการขาย ประมาณร้อยละ 60.5 ของธุรกิจ e-Commerce ทั้งหมด ขายผ่านอิเล็กทรอนิกส์เพียงอย่างเดียว นอกจากนั้นธุรกิจ e-Commerce มีการขายผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) ด้วย ประมาณร้อยละ 4.5 ของธุรกิจทั้งหมด

2. ผลการประกอบการ

ในปี 2551 ธุรกิจ e-Commerce มียอดขายผ่านอิเล็กทรอนิกส์ทั้งสิ้นประมาณ 527,538 ล้านบาท (ในจำนวนนี้เป็นมูลค่าที่เกิดจากการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ (e-Auction) จำนวน 288,749 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 54.7 ของยอดขายทั้งหมด)

ส่วนที่เป็นยอดขายของผู้ประกอบการ B2B มีประมาณ 190,751 ล้านบาท (ร้อยละ 36.2) ส่วนที่เหลือ 45,951 ล้านบาท (ร้อยละ 8.7) เป็นยอดขายของผู้ประกอบการ B2C

เมื่อพิจารณามูลค่าขายแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า ในปี 2551 มูลค่าขายเกิดจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และผลิตภัณฑ์มากที่สุดประมาณ 71,617 ล้านบาท (ร้อยละ 30.0) รองลงมาเกิดจากกลุ่มคอมพิวเตอร์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอินเทอร์เน็ตประมาณ 59,420 ล้านบาท (ร้อยละ 24.9) กลุ่มแฟชั่น เครื่องแต่งกาย อัญมณี และเครื่องประดับประมาณ 11,811 ล้านบาท (ร้อยละ 4.9)

เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2550 พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนของมูลค่าขายเพิ่มขึ้น คือ กลุ่มยานยนต์ และผลิตภัณฑ์ จากร้อยละ 16.8 ในปี 2550 เป็นร้อยละ 30.0 ในปี 2551 และกลุ่มคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอินเทอร์เน็ต จากร้อยละ 16.1 ในปี 2550 เป็นร้อยละ 24.9 ในปี 2551

สำหรับตลาดของธุรกิจ e-Commerce (ที่ไม่รวม e-Auction ของภาครัฐ)จะเป็นตลาดในประเทศประมาณร้อยละ 85.9 ของมูลค่าขายทั้งหมด ส่วนที่ขายไปยังตลาดต่างประเทศมีประมาณร้อยละ 14.1 โดยมีลูกค้าที่สั่งซื้อสินค้า/บริการจากหลายประเทศ เช่น อเมริกา ออสเตรเลีย อังกฤษ ญี่ปุ่น แคนาดา เยอรมนี เป็นต้น

3. วิธีการดำเนินธุรกิจ

ประมาณร้อยละ 39.9 ของธุรกิจ e-Commerce ทั้งหมด มีการประชา-สัมพันธ์และส่งเสริมการตลาดผ่านสื่อออนไลน์อย่างเดียว ในขณะที่เป็นธุรกิจที่ทำ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ประมาณร้อยละ 18.3 โดยวิธีการประชาสัมพันธ์แบบออนไลน์ที่ใช้กันมากที่สุด คือ การโฆษณาผ่านเว็บบอร์ด ตามเว็บไซต์ต่าง ๆ (ร้อยละ 65.2) ทางอีเมล์ (ร้อยละ 53.8) และการโฆษณาผ่านแบนเนอร์บนเว็บไซต์ต่าง ๆ (ร้อยละ 46.9)

ธุรกิจ e-Commerce ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 73.8) มีเว็บไซต์เป็นของตนเองร้อยละ 18.7 ไม่มีแต่มีแผนที่จะจัดทำ ส่วนที่เหลือร้อยละ 7.5 ไม่มีและไม่มีแผนที่จะจัดทำ โดยในกลุ่มที่มีเว็บไซต์ส่วนใหญ่จะใช้โปรแกรมสำเร็จรูปในการพัฒนาเว็บไซต์มากที่สุด (ร้อยละ 69.9) ส่วนที่จ้างพัฒนา มีร้อยละ 17.1

สำหรับระบบการชำระเงินค่าสินค้า/บริการนั้น ร้อยละ 31.3 ของธุรกิจทั้งหมดเปิดให้ชำระได้ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ และที่เป็นออนไลน์อย่างเดียวมีร้อยละ 23.5 โดยส่วนใหญ่นิยมชำระผ่าน e-Banking/ATM (ร้อยละ 68.2) ชำระผ่านบัตรเครดิต (ร้อยละ 38.7) และชำระผ่านผู้ให้บริการกลาง เช่น Paysbuy Thai e-pay (ร้อยละ 29.6)

วิธีการจัดส่งสินค้าธุรกิจ e-Commerce ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 74.9) ใช้วิธีส่งทางไปรษณีย์ ร้อยละ 35.5 ใช้พนักงานขนส่งของตนเอง ร้อยละ 23.9 ใช้บริการขนส่งของบริษัทเอกชนอื่นๆ

สำหรับระยะเวลาการส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าของธุรกิจ e-Commerce กว่าครึ่งหนึ่งของธุรกิจ e-Commerce (ร้อยละ 53.9) ส่งมอบได้ภายใน 2 — 3 วัน

ส่วนปัญหาเกี่ยวกับการจัดส่งสินค้าที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นอุปสรรคมากที่สุดคือปัญหาเกี่ยวกับราคาค่าขนส่งที่ค่อนข้างสูง (ร้อยละ 64.1) รองลงมาคือ ความล่าช้าของการจัดส่ง (ร้อยละ 43.4) ปัญหาเรื่องคุณภาพในการจัดส่ง (ร้อยละ 39.2)

4. ความคิดเห็น

ผู้ประกอบการธุรกิจ e-Commerce ทั้งหมดประมาณร้อยละ 53.1 ตอบว่ายอดขายในปี 2551 เหมือนเดิมเมื่อเทียบกับปี 2550 ส่วนที่คาดว่าในปี 2552 จะมียอดขายที่ดีขึ้นกว่าปี 2551 มีมากถึงร้อยละ 68.3

ปัญหาอุปสรรคที่ผู้ประกอบการพบในการดำเนินธุรกิจ e-Commerce มีดังนี้ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่นิยม/ไม่มั่นใจในการซื้อสินค้าทาง อินเทอร์เน็ต (ร้อยละ 46.3) รองลงมา ลูกค้าใช้ข้อมูลปลอมในการสั่งซื้อสินค้าหรือจองแล้วไม่ชำระเงิน (ร้อยละ 20.0) การทำการตลาด/การประชาสัมพันธ์ ธุรกิจ e-Commerce ทำได้ยาก (ร้อยละ 17.8)

สำหรับความต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ ผู้ประกอบธุรกิจ e-Commerce ต้องการให้ภาครัฐประชาสัมพันธ์/ส่งเสริม/สนับสนุนธุรกิจ e-Commerce ให้มากขึ้น (ร้อยละ 31.9) ควรมีหน่วยงานที่ดูแลโดยตรงเพื่อให้คำปรึกษาแนะนำการกำหนดมาตรฐานในการทำธุรกิจ e-Commerce (ร้อยละ 30.0) ควรมีการอบรมให้ความรู้และทักษะในการประกอบธุรกิจ e-Commerce แก่ผู้ประกอบการ (ร้อยละ 16.9)

สรุปผลการสำรวจ

1. ลักษณะทั่วไปของธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

1.1 ประเภทผู้ประกอบการ

จากการสำรวจ พบว่า ธุรกิจ e-Commerce ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 82.6) เป็นผู้ประกอบการประเภท B2C รองลงมา คือ ผู้ประกอบการ B2B ร้อยละ 16.8 ส่วนผู้ประกอบการ B2G ที่ไม่นับรวมการรับงานจัดซื้อจัดจ้างจากภาครัฐโดยการ e-Auction นั้น จะมีเพียงร้อยละ 0.6 เท่านั้น

1.2 ประเภทอุตสาหกรรม

ในภาพรวมของธุรกิจ e-Commerce ส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น เครื่องแต่งกาย อัญมณีและเครื่องประดับคิดเป็นร้อยละ 42.1 ของธุรกิจทั้งหมด รองลงมาเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอินเทอร์เน็ตคิดเป็นร้อยละ 17.7 กลุ่มธุรกิจบริการ ร้อยละ 10.0 กลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโรงแรมและรีสอร์ทร้อยละ 7.8 กลุ่มสิ่งพิมพ์/เครื่องใช้สำนักงานร้อยละ 4.1 อุตสาหกรรมยานยนต์และผลิตภัณฑ์ร้อยละ 3.2

หากพิจารณาในรายละเอียดแยกตามประเภทอุตสาหกรรมย่อย พบว่าผู้ประกอบการ B2B จะอยู่ในอุตสาหกรรมน้ำหอม เครื่องสำอางและอุปกรณ์เสริมความงามมากที่สุด (ร้อยละ 21.7) ผู้ประกอบการ B2C จะอยู่ในอุตสาหกรรมประเภทสิ่งทอ หัตถกรรม เสื้อผ้าและเครื่องหนัง (ร้อยละ 23.5) ส่วนผู้ประกอบการ B2G จะเป็นอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องมากที่สุด (ร้อยละ 20.3)

หากจำแนกธุรกิจตามขนาด โดยใช้จำนวนคนทำงานเต็มเวลาเป็นเกณฑ์ พบว่า ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (มีคนทำงานเพียง 1 — 5 คน) ร้อยละ 76.5 ขนาดกลาง (6 — 50 คน) มีอยู่ร้อยละ 15.2 ส่วนธุรกิจขนาดใหญ่ (มีคนทำงานมากกว่า 50 คน) มีเพียงร้อยละ 8.3 เท่านั้น

เมื่อพิจารณาตามประเภทผู้ประกอบการ พบว่า ผู้ประกอบการ B2B และ B2C ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (มีคนทำงานเพียง 1 — 5 คน) คิดเป็นร้อยละ 46.6 ร้อยละ 82.9 ตามลำดับ (ตาราง 3) ส่วนผู้ประกอบการ B2G ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลาง (มีคนทำงาน 6 — 15 คน) คิดเป็นร้อยละ 35.2 หากพิจารณาตามกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก มีคนทำงานเพียง 1 -5 คน

1.4 ระยะเวลาที่ทำธุรกิจ

ส่วนใหญ่ของธุรกิจ e-Commerce ดำเนินการมาไม่เกิน 1 ปีร้อยละ 51.2 รองลงมามากกว่า 2 ปี แต่ไม่เกิน 5 ปี ร้อยละ 17.9 มากกว่า 1 ปีแต่ไม่เกิน 2 ปี ร้อยละ 16.7 ส่วนที่ดำเนินกิจการมามากกว่า 5 ปี มีร้อยละ 14.2

1.5 ลักษณะการขายสินค้าและบริการ

ประมาณร้อยละ 60.5 ของธุรกิจ e-Commerce ทั้งหมด ขายผ่านอิเล็กทรอนิกส์อย่างเดียว ส่วนที่ขายผ่านอิเล็กทรอนิกส์และมีหน้าร้านด้วยมีร้อยละ 36.8 และอีกร้อยละ 2.7 จะขายผ่านอิเล็กทรอนิกส์ผสมผสานกับการขายในลักษณะอื่น เช่น ส่งพนักงานออกไปขายตรง หรือฝากขาย เป็นต้น

หากพิจารณาตามประเภทผู้ประกอบการ พบว่า ผู้ประกอบการ B2C ส่วนใหญ่ขายผ่านอิเล็กทรอนิกส์อย่างเดียวร้อยละ 62.9 ส่วนผู้ประกอบการ B2B และ B2G มีผู้ประกอบการที่ขายผ่านอิเล็กทรอนิกส์อย่างเดียว และที่มีหน้าร้านด้วยในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน

และเมื่อพิจารณาตามกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่ส่วนใหญ่ขายผ่านอิเล็กทรอนิกส์อย่างเดียว ได้แก่ ธุรกิจบริการ คอมพิวเตอร์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอินเทอร์เน็ต แฟชั่น เครื่อง แต่งกาย อัญมณี และเครื่องประดับ และสินค้า และอื่นๆ

ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ส่วนใหญ่ขายผ่านอิเล็กทรอนิกส์และมีหน้าร้านด้วย ได้แก่ ยานยนต์และผลิตภัณฑ์ ท่องเที่ยวโรงแรม รีสอร์ท และ สิ่งพิมพ์และเครื่องใช้สำนักงาน

นอกจากนั้น ในการสำรวจนี้ยังพบว่า ธุรกิจ e-Commerce มีการขายผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วยประมาณร้อยละ 4.5 ของธุรกิจทั้งหมด

2. ผลการประกอบการ

2.1 มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

ในภาพรวม ธุรกิจ e-Commerce มียอดขายผ่านอิเล็กทรอนิกส์ ในปี 2551 ทั้งสิ้น ประมาณ 527,538 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นมูลค่าขายที่เกิดจากการประมูลการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ(e-Auction) ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากกรมบัญชีกลาง รวมทั้งสิ้น 288,749 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 54.7 ของมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ขณะที่มูลค่าขายซึ่งเกิดจากผู้ประกอบการ B2B มีประมาณ 190,751 ล้านบาท และ B2C มีประมาณ 45,951 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 36.2 และร้อยละ 8.7 ตามลำดับ

สำหรับตลาดของธุรกิจ e-Commerce (ที่ไม่รวม e-Auction ของภาครัฐ) จะเป็นตลาดในประเทศประมาณร้อยละ 85.9 ของมูลค่าขายทั้งหมดส่วนที่ขายไปยังตลาดต่างประเทศมีประมาณร้อยละ 14.1

เมื่อพิจารณาในกลุ่มที่มีมูลค่าขายต่างประเทศ ธุรกิจ e-Commerce ที่มีลูกค้าสั่งซื้อสินค้า/บริการจากประเทศอเมริกา มีสัดส่วนสูงสุดคือร้อยละ 40.6 รองลงมาออสเตรเลีย ร้อยละ 34.6 อังกฤษ ร้อยละ 28.6 ญี่ปุ่น ร้อยละ 11.7 แคนาดา ร้อยละ 10.2 และเยอรมนีร้อยละ 10.1

หากพิจารณามูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ จำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรมพบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มากที่สุด ได้แก่ กลุ่มยานยนต์และผลิตภัณฑ์ประมาณ 71,617 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 30.0 ของมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด รองลงมากลุ่มอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอินเทอร์เน็ตประมาณ 59,420 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24.9

เมื่อพิจารณาแยกตามประเภทผู้ประกอบการ และกลุ่มอุตสาหกรรมพบว่า มูลค่าขายในกลุ่มผู้ประกอบการ B2B เกิดจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และผลิตภัณฑ์มากที่สุดประมาณ 59,167 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 31.0 ของมูลค่าขายในกลุ่มนี้ และมูลค่าขายในกลุ่มผู้ประกอบการ B2C ก็เกิดจากอุตสาหกรรมยานยนต์และผลิตภัณฑ์มากที่สุดเช่นเดียว ประมาณ 12,440 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 27.0 ของมูลค่าขายในกลุ่มนี้ ส่วนมูลค่าขายในกลุ่มผู้ประกอบการ B2G เกิดจากกลุ่มคอมพิวเตอร์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอินเทอร์เน็ตมากที่สุดประมาณ 970 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 46.5 ของยอดขายในกลุ่มนี้

2.2 การสั่งซื้อสินค้า

สำหรับการสั่งซื้อสินค้า/บริการผ่านอินเทอร์เน็ตในรอบปี 2551 ประมาณร้อยละ 30.3 ของธุรกิจประเภทนี้มีการสั่งซื้อโดยเฉลี่ย 1-5 ครั้งต่อเดือน ส่วนธุรกิจที่มีการสั่งซื้อมากกว่า 100 ครั้งต่อเดือนมีประมาณร้อยละ 4.1 ของธุรกิจทั้งหมด หากพิจารณาแยกตามประเภทผู้ประกอบการ พบว่า ผู้ประกอบการ B2B ส่วนใหญ่มีการสั่งซื้อโดยเฉลี่ย 11-50 ครั้งต่อเดือน (ร้อยละ 35.7) ส่วนผู้ประกอบการ B2C และB2G ส่วนใหญ่มีการ สั่งซื้อโดยเฉลี่ย 1-5 ครั้งต่อเดือน (ร้อยละ 29.8 และร้อยละ 26.3 ตามลำดับ)

สำหรับการจัดพนักงานเพื่อดูแลลูกค้า e-Commerce พบว่า ประมาณร้อยละ 30.3 ของธุรกิจประเภทนี้ได้จัดพนักงานไว้ดูแลลูกค้าโดยเฉพาะโดยมีจำนวนพนักงานที่ดูลูกค้า e-Commerce โดยเฉพาะ เฉลี่ย 1.6 คนต่อแห่ง

2.3 ค่าใช้จ่ายด้าน ICT

ธุรกิจ e-Commerce ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 60.8 ของทั้งหมด ระบุว่าในปี 2551 ไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) (ซึ่งหมายรวมถึง ค่าใช้จ่ายสำหรับฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์บริการออกแบบ วางระบบ ติดตั้งและเครือข่าย โดยไม่รวมบุคลากร) รองลงมา มีค่าใช้จ่ายประเภทนี้เป็นเงินไม่เกิน 200,000 บาท (ร้อยละ31.0) ส่วนธุรกิจที่มีค่าใช้จ่ายประเภทนี้มากกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป มีอยู่ร้อยละ 0.1

เมื่อพิจารณาแยกตามประเภทผู้ประกอบการ พบว่า ทั้งผู้ประกอบการ B2B B2C ส่วนใหญ่ ระบุว่า ในรอบปี 2551ไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) (ร้อยละ 51.5 ร้อยละ 62.8 ตามลำดับ) สำหรับผู้ประกอบการประเภท B2G ส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายสำหรับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ทั้งหมดเป็นเงินไม่เกิน 200,000 บาท (ร้อยละ 46.0)

  • ค่าใช้จ่ายด้าน ICT เฉพาะระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

หากพิจารณาค่าใช้จ่าย ICT เฉพาะเพื่อพัฒนาระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น พบว่า โดยเฉลี่ยธุรกิจ e-Commerce จะมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการนี้ประมาณร้อยละ 30.4 ของค่าใช้จ่ายสำหรับ ICT ทั้งหมด

โดยในปี 2551 ธุรกิจ e-Commerce มีค่าใช้จ่ายด้าน ICT ในการพัฒนาระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมประมาณ 2,314 ล้านบาท โดยที่ผู้ประกอบการ B2B มีค่าใช้จ่ายประมาณ 646 ล้านบาท กลุ่มผู้ประกอบการ B2C ประมาณ 1,627 ล้านบาท และกลุ่มผู้ประกอบการB2G ประมาณ 41 ล้านบาท หากเฉลี่ยค่าใช้จ่ายต่อแห่ง ผู้ประกอบการ B2B จะมีค่าใช้จ่ายในด้านนี้ 18,800 บาทต่อแห่ง ผู้ประกอบการ B2C เฉลี่ย 37,000 บาทต่อแห่ง ส่วนผู้ประกอบการ B2G เฉลี่ย 1,400 บาทต่อแห่ง

3. วิธีการดำเนินธุรกิจ

3.1 การใช้เทคโนโลยี

1) การส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์ธุรกิจ

ประมาณร้อยละ 39.9 ของธุรกิจ e-Commerce ใช้วิธีการส่งเสริมการตลาด และประชาสัมพันธ์ โดยวิธีออนไลน์อย่างเดียว วิธีออฟไลน์มีเพียงร้อยละ 3.4 ส่วนที่ใช้ทั้งสองวิธีมีประมาณ ร้อยละ 18.3

สำหรับรูปแบบการประชาสัมพันธ์ทางออนไลน์ส่วนใหญ่ที่นิยมใช้มากที่สุด คือ การโฆษณาผ่านเว็บบอร์ดตามเว็บไซต์ต่าง ๆ (ร้อยละ 65.2) รองลงมาเป็นการโฆษณาทางอีเมล์ การโฆษณาผ่านแบนเนอร์บนเว็บไซต์ต่าง ๆ และทาง Search Engine (ร้อยละ 53.8 ร้อยละ 46.9 และร้อยละ 32.0 ตามลำดับ) ส่วนออฟไลน์ ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบแผ่นพับ/โบรชัวร์/นามบัตรมากที่สุด (ร้อยละ 62.8) รองลงมาสื่อสิ่งพิมพ์ นิตยสาร นสพ. (ร้อยละ 49.1) ป้าย โปสเตอร์ Bill board (ร้อยละ 43.5) สื่อวิทยุ โทรทัศน์ (ร้อยละ 19.6)

เมื่อพิจารณาตามประเภทผู้ประกอบการ พบว่า ผู้ประกอบการ B2B และ B2G ส่วนใหญ่ใช้ทั้งวิธีออนไลน์และออฟไลน์ในการส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์ (ร้อยละ 35.0 และร้อยละ 36.6 ตามลำดับ) ส่วนผู้ประกอบการ B2C ส่วนใหญ่ใช้วิธีออนไลน์อย่างเดียว (ร้อยละ 42.7)

2) วัตถุประสงค์การใช้เว็บไซต์

ส่วนใหญ่ของธุรกิจ e-Commerce จะใช้เว็บไซต์เพื่อเพื่อเพิ่มช่องทางการสั่งซื้อสินค้า/บริการ (ร้อยละ 81.6) รองลงมาคือ เพื่ออำนวยความสะดวกกับผู้บริโภค (ร้อยละ 69.5) การประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการ (ร้อยละ 65.4)

สำหรับวัตถุประสงค์การใช้เว็บไซต์ในแต่ละประเภทผู้ประกอบการพบว่า กลุ่มผู้ประกอบการ B2B และ B2C ส่วนใหญ่ใช้เว็บไซต์เพื่อเพิ่ม ช่องทางการสั่งซื้อสินค้าและบริการ (ร้อยละ 64.6 และร้อยละ 85.3 ตามลำดับ) ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการ B2G ส่วนใหญ่ใช้เพื่อการประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการ (ร้อยละ 69.7)

3) การมีเว็บไซต์และการพัฒนาเว็บไซต์

ธุรกิจ e-Commerce ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 73.8) มีเว็บไซต์เป็นของตนเอง ส่วนที่ยังไม่มีเว็บไซต์แต่มีแผนที่จะจัดทำเว็บไซต์ มีอยู่ประมาณร้อยละ 18.7 ส่วนที่ไม่มีและยังไม่มีแผนการจัดทำเลย มีประมาณร้อยละ 7.5

เมื่อพิจารณาตามประเภทผู้ประกอบการ พบว่า ทั้งผู้ประกอบการ B2B B2C และ B2G ส่วนใหญ่มีเว็บไซต์เป็นของตนเอง ร้อยละ 71.9 ร้อยละ 74.1 และร้อยละ 78.5 ตามลำดับ

ธุรกิจที่มีเว็บไซต์อยู่แล้วมีการพัฒนาเว็บไซต์โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปมากที่สุดร้อยละ 69.9 รองลงมามีทีมพัฒนาเองร้อยละ 23.2 ส่วนธุรกิจที่แจ้งว่ามีการจ้างบริษัทอื่นมาพัฒนาให้มีร้อยละ 17.1

3.2 การรับรองความน่าเชื่อถือ

การบริการเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ธุรกิจ e-Commerce ร้อยละ 40.9 มีการจัดทำนโยบาย ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy/Statement) ใช้ Trust Mark ของกระทรวงพาณิชย์ ร้อยละ 24.4 ใช้ TRUSTe ร้อยละ 14.3 ใช้ Better Web และ BBB online มีประมาณร้อยละ 8.6 และร้อยละ 6.4 ตามลำดับ

สำหรับการใช้เทคโนโลยีเพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยหรือการจัดทำ Security Policy ธุรกิจ e-Commerce ร้อยละ 42.1 มีการใช้เทคโนโลยีเข้ารหัสลับ ร้อยละ 27.0 จัดทำ Security Policy และร้อยละ 20.6 มีการใช้เทคโนโลยีลายน้ำ ส่วนการใช้ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์มีร้อยละ 11.9

3.3 รูปแบบการชำระเงิน

ธุรกิจ e-Commerce ประมาณร้อยละ 45.1 มีบริการการชำระค่าสินค้า/บริการของลูกค้าในรูปแบบออฟไลน์อย่างเดียว ส่วนที่มีแบบ ออนไลน์อย่างเดียวประมาณร้อยละ 23.5 และที่เปิดให้ชำระได้ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ มีประมาณร้อยละ 31.3

สำหรับบริการการชำระเงินแบบออนไลน์ที่ธุรกิจส่วนใหญ่เปิดให้บริการมากที่สุด คือ การชำระเงินผ่านระบบ e-Banking/ATM (ร้อยละ 68.2) รองลงมาเป็นการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต (ร้อยละ 38.7) การชำระเงินผ่านผู้ให้บริการกลาง (ร้อยละ 29.6) ในขณะที่การชำระแบบออฟไลน์ที่ธุรกิจส่วนใหญ่ใช้กันมากที่สุด คือ การโอนเงินผ่านบัญชีธนาคาร (ร้อยละ 88.6) รองลงมาคือ การชำระกับพนักงานโดยตรง (ร้อยละ 41.3) โอนเงินทางไปรษณีย์ (ร้อยละ 12.0)

3.4 การจัดส่งสินค้า

การจัดส่งสินค้า ธุรกิจ e-Commerce ประมาณร้อยละ 74.9 จัดส่งสินค้าทางไปรษณีย์ ร้อยละ 35.5 ใช้พนักงานขนส่งของตนเอง ร้อยละ 23.9 ใช้บริการขนส่งของบริษัทเอกชน ร้อยละ 12.7 จัดส่งออนไลน์

สำหรับระยะเวลาการส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าของธุรกิจ e-Commerce กว่าครึ่งหนึ่งของธุรกิจ e-Commerce (ร้อยละ 53.9) ส่งมอบ ได้ภายใน 2 — 3 วัน มีร้อยละ 17.6

ส่วนปัญหาเกี่ยวกับการจัดส่งสินค้าที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นปัญหา/อุปสรรคมากที่สุดคือปัญหาเกี่ยวกับราคาค่าขนส่งที่ค่อนข้างสูง (ร้อยละ 64.1) รองลงมาคือ ความล่าช้าของการจัดส่ง (ร้อยละ 43.4) ปัญหาเรื่องคุณภาพในการจัดส่ง (ร้อยละ 39.2) และการรับประกันการส่งมอบสินค้า (ร้อยละ 28.8) เมื่อพิจารณาตามประเภทผู้ประกอบการในเรื่องอุปสรรคในการจัดส่งสินค้า พบว่า ผู้ประกอบการ B2B B2C และ B2G ส่วนใหญ่เห็นว่าราคาค่าขนส่งสูงเป็นปัญหามากที่สุด

4. ความคิดเห็น

4.1 พฤติกรรมของลูกค้า

ผู้ประกอบธุรกิจ e-Commerce ประมาณร้อยละ 76.2 เห็นว่าพฤติกรรมของลูกค้าที่เป็นอุปสรรคมากที่สุด คือ ลูกค้ากลัวการฉ้อโกง เช่น ซื้อของแล้วไม่ได้สินค้า รองลงมา คือ กลัวได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่โฆษณา ร้อยละ 60.2 ปัญหาการที่ลูกค้าไม่เห็นสินค้าก่อนสั่งซื้อสั่งจอง ร้อยละ 57.7 และลูกค้าไม่มีความเชื่อมั่นในการชำระเงิน ร้อยละ 52.3

4.2 แนวโน้มและการคาดการณ์

ประมาณร้อยละ 53.1 ของธุรกิจ e-Commerce ทั้งหมดตอบว่ายอดขายในปี 2551 เหมือนเดิมเมื่อเทียบกับปี 2550 ส่วนที่คาดว่าในปี 2552 จะมียอดขายที่ดีขึ้นกว่าปี 2551 มีถึงร้อยละ 68.3 ของผู้ประกอบธุรกิจประเภทนี้ทั้งหมด

4.3 ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ e-Commerce

ผู้ประกอบการธุรกิจ e-Commerce ประมาณร้อยละ 39.0 ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรคที่พบในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งในกลุ่มนี้ได้ระบุปัญหาอุปสรรค มากที่สุดคือ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่นิยม/ไม่มั่นใจในการซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ต ร้อยละ 46.3 รองลงมา ลูกค้าใช้ข้อมูลปลอมในการสั่งซื้อสินค้าหรือจองแล้วไม่ชำระเงิน ร้อยละ 20.0 การทำการตลาด/การประชาสัมพันธ์ ธุรกิจ e-Commerce ร้อยละ 17.8 เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารไม่ทันสมัยทำให้การใช้งานบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตช้าร้อยละ 14.8

4.4 ความต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ

สำหรับความต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ ผู้ประกอบธุรกิจ e-Commerce ประมาณร้อยละ 28.8 ได้แสดงความคิดเห็น ในกลุ่มนี้ได้ระบุความต้องการความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ มากที่สุดคือ ประชาสัมพันธ์/ส่งเสริม/สนับสนุนธุรกิจ e-Commerce ให้มากขึ้น ร้อยละ 31.9 รองลงมาควรมีหน่วยงานที่ดูแลโดยตรงเพื่อให้คำปรึกษาแนะนำการกำหนดมาตรฐานในการทำธุรกิจ e-Commerce ร้อยละ 30.0 การจัดอบรมให้ความรู้และทักษะในการประกอบธุรกิจ e-Commerce ร้อยละ 16.9

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ