สรุปผลการสำรวจความต้องการพัฒนาขีดความสามารถของประชากร ปี 2552

ข่าวทั่วไป Tuesday January 26, 2010 12:07 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

บทสรุปสำหรับผู้บริหาร

การสำรวจความต้องการพัฒนาขีดความสามารถของประชากร พ.ศ. 2552

ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากร โดยได้เน้นคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ซึ่งในการกำหนดยุทธศาสตร์และแผนงาน ของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ โดยเฉพาะหน่วยงานหลัก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวง แรงงาน จำเป็นต้องมีข้อมูลประกอบการวางแผน ติดตาม และประเมินผล ดังนั้น สำนักงานสถิติแห่งชาติ จึงได้จัดทำการสำรวจความต้องการพัฒนาขีดความสามารถของประชากร ขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2538 และได้จัดทำต่อเนื่องมาเป็นประจำทุกปี

ผลการสำรวจนี้ ทำให้ทราบความต้องการพัฒนาขีดความสามารถของผู้อยู่ในกำลังแรงงาน และนอกกำลังแรงงาน หลักสูตรที่ต้องการได้รับการพัฒนาฯ ตลอดจนความต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐที่ผู้ว่างงานต้องการ ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

1. ความต้องการพัฒนาขีดความสามรถของประชากรในปี 2552 มีทิศทางอย่างไร

ในจำนวนประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปประมาณ 52.6 ล้านคนนั้น มีผู้ต้องการพัฒนาขีดความสามารถจำนวน 8.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 16.7 ของประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป โดยเป็นชายจำนวน 4.3 ล้านคน และหญิง 4.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 16.9 และร้อยละ 16.4 ตามลำดับ หากนำมาเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้านี้พบว่า มีผู้ที่ต้องการพัฒนา ขีดความสามารถ เพิ่มขึ้น 6.0 แสนคน (จาก 8.2 ล้านคน เป็น 8.8 ล้านคน)โดยชายเพิ่มขึ้น 2.0 แสนคน (จาก 4.1 ล้านคน เป็น 4.3 ล้านคน) และหญิงเพิ่มขึ้น 4.0 แสนคน (จาก 4.1 ล้านคน เป็น 4.5 ล้านคน

2. ใครบ้างที่ต้องการพัฒนาขีดความสามารถ

ในจำนวนประชากรที่ต้องการพัฒนาขีดความสามารถ 8.8 ล้านคน ถ้าพิจารณาตามโครงสร้างกำลังแรงงาน พบว่า ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานที่ต้องการพัฒนาขีดความสามารถ จำนวน 6.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 17.8 ของผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานทั้งหมด จำแนกเป็นผู้มีงานทำต้องการพัฒนาขีดความสามารถจำนวน 6.2 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 17.1 ของผู้มีงานทำทั้งหมดส่วนผู้ว่างงานนั้น ต้องการพัฒนาขีดความสามารถจำนวน 4.0 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 50.7 ของผู้ว่างงานทั้งหมด ซึ่งเห็นได้ว่ามีสัดส่วนที่สูง เนื่องจากผู้ว่างงานนั้นมีความต้องการที่จะพัฒนาขีดความสามารถของตนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อสามารถหาช่องทางอื่น ๆ ที่จะประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ และผู้ที่รอฤดูกาลต้องการพัฒนาขีดความสามารถ 5.2 หมื่นคน คิดเป็นร้อยละ 20.9 ของผู้รอฤดูกาลทั้งหมด

สำหรับกลุ่มผู้อยู่นอกกำลังแรงงาน ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน แม่บ้าน เป็นต้น มีจำนวนทั้งสิ้น 15.04 ล้านคน แต่มีผู้ที่ต้องการที่จะพัฒนาขีดความสามารถจำนวน 2.1 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 13.7 ของผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงานทั้งหมด

3. ประชากรในภาคใดบ้าง ที่มีความต้องการพัฒนาขีดความสามารถ

เมื่อพิจารณาถึง สัดส่วนของผู้ที่ต้องการพัฒนาฯ ต่อประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่อยู่อาศัยในแต่ละภูมิภาคพบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนของผู้ที่ต้องการพัฒนาฯ มากที่สุดคือร้อยละ 24.5 รองลงมาเป็นภาคเหนือ ร้อยละ 18.1 ภาคใต้ ร้อยละ 15.9 ภาคกลาง ร้อยละ 9.6 และกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 6.4

เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา พบว่า ภาคใต้เป็นภาคที่ต้องการพัฒนาฯ เพิ่มมากที่สุด ร้อยละ 2.3 รองลงมาเป็นกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 1.9 และภาคกลางร้อยละ 1.0 ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือมีสัดส่วนการพัฒนาฯลดลง ร้อยละ 0.9 และ 0.4 ตามลำดับ

4. หลักสูตรที่ต้องการพัฒนาขีดความสามารถ

ในปี 2552 มีผู้สนใจเข้ารับการพัฒนาขีดความสามารถใน 3 ลำดับแรก ได้แก่ ด้านคหกรรม เช่น การประกอบอาหาร การเสริมสวย และ ตัดเย็บเสื้อผ้า ร้อยละ 27.3 รองมาเป็นด้านช่างอุตสาหกรรม ร้อยละ 25.9 และลำดับที่ 3 เป็นด้านเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์ ร้อยละ 18.1 และยังพบว่า ชายและหญิง มีความต้องการพัฒนาฯ ที่แตกต่างกัน โดยชายต้องการพัฒนาฯ ทางด้านช่างอุตสาหกรรม ร้อยละ 50.4 ด้านเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์ ร้อยละ 23.7 และด้านคอมพิวเตอร์ หรือ ICT ร้อยละ 12.4 ในขณะที่หญิงต้องการพัฒนาฯ ทางด้านคหกรรม คิดเป็นร้อยละ 49.4 ด้านคอมพิวเตอร์ หรือ ICT ร้อยละ 16.2 และด้านเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์ ร้อยละ 12.7

5. ผู้ว่างงานมีความต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลืออย่างไรบ้าง

นอกจากนี้แล้วจากการสำรวจ ยังได้สอบถามผู้ว่างงาน ถึงความต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ พบว่าผู้ว่างงานต้องการให้รัฐช่วยหางานให้ทำมากที่สุด ร้อยละ 74.7 โดยในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐช่วยหางานให้ทำภายในจังหวัดที่ตนอาศัยอยู่ รองลงมาต้องการให้รัฐช่วยเรื่องการให้ทุนสำหรับประกอบอาชีพอิสระร้อยละ 12.3 ช่วยพัฒนาฝีมือแรงงาน ร้อยละ 5.2 ช่วยสนับสนุนอาชีพทางการเกษตร ร้อยละ 3.5 ให้ข้อมูลข่าวสารตลาดแรงงาน ร้อยละ 2.2 และให้เงินช่วยเหลือค่าเล่าเรียนบุตร ที่เหลือในเรื่องอื่นๆ ร้อยละ 2.1

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ