2553 ปีแห่งการนับคนของไทย ในชื่อว่า การทำสำมะโนประชากรและเคหะซึ่งถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์ครบรอบ 100 ปี สำมะโนประชากรไทยพอดี โดยกำหนดให้วันที่ 1-31 กรกฎาคม 2553 เป็นช่วงเวลาที่จะนับประชากรที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ณ วันที 1 กรกฎาคม 2553
จะเห็นได้ว่า การทำสำมะโนประชากรเพื่อเก็บข้อมูลประชากรกว่า 60 ล้านคนให้ครบ เป็นเรื่องที่ท้าทายโดยเฉพาะในภาพเศรษฐกิจ สังคมในยุคปัจจุบันที่มีความหลากหลาย ซับซ้อน แม้ว่าสำนักงานสถิติแห่งชาติจะมีประสบการณ์ในการจัดทำมาแล้วหลายครั้งก็ตามดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งในเรื่องงบประมาณ บุคลากร การบริหารจัดการ และด้านวิชาการ เพื่อให้การทำงานครั้งประวัติศาสตร์นี้สำเร็จลุล่วงไปได้ตามเป้าหมาย
สำนักงานสถิติแห่งชาติได้มีการเตรียมความพร้อมไปบ้างแล้ว ที่สำคัญคือ การปรับกลยุทธการทำงาน โดยเปลี่ยนแนวคิดการทำงาน จากเดิมที่สำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการเพียงหน่วยงานเดียว มาเป็นการสร้างเครือข่ายการทำงานกับทุกภาคส่วน
ขณะนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติได้เริ่มสร้างความเข้าใจถึงประโยชน์และความสำคัญของการจัดทำฐานข้อมูลเรื่องนี้ซึ่งจะมีรายละเอียดของประชากรที่อยู่จริงในแต่ละพื้นที่โดยเป้าหมายเพื่อให้ได้รับความร่วมมือจากประชากรในการให้ข้อมูลไปบ้างแล้ว ได้แก่ การสร้างเครือข่าย จากภาคส่วนต่างๆ เช่น เครือข่ายภาคประชาชน ผู้ประกอบการเครือข่ายอาคารสูง/บ้านจัดสรร ฯลฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงยากรวมทั้งการเข้าถึงชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยซึ่งจะต้องสร้างความเข้าใจถึงประโยชน์ที่จะนำไปสู่การจัดหาสวัสดิการ และสาธารณูปโภคต่างๆ มารองรับ ให้แก่พวกเขาได้อย่างเหมาะสม หากให้วามร่วมมือในการให้ข้อมูล
นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมความพร้อมทางด้านวิชาการโดยได้มีการทดลองการดำเนินงานจริงในพื้นที่ต่างๆ เช่น จังหวัดพิษณุโลก ตาก ชลบุรี และเขตหลักสี่ กทม. เป็นต้น เพื่อให้ทราบถึงปัญหาอุปสรรค์ และนำมาปรับปรูปแบบให้เหมาะสมกับการเก็บข้อมูลจริงในเดือนกรกฎาคมนี้
และเพื่อให้มีการนำข้อมูลชุดนี้ไปใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าโดยการนำฐานข้อมูลชุดนี้ไปวิเคราะห์ต่อยอดในมิติต่างๆ สำนักงานสถิติแห่งชาติก็ได้มีการจัดสัมมนาและเสวนาทางวิชาการร่วมกับสถาบันการศึกษา ในภูมิภาค เช่น จังหวัดสงขลา ชลบุรี เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต และนครศรีธรรมราชและที่กำลังเตรียมการคือ จังหวัดอุบลราชธานี
ดังนั้นการนับคนครั้งประวัติศาสตร์ครั้งนี้ จึงนับเป็นโอกาสดีที่ทุกคนในประเทศไทย สามารถแสดงการมีส่วนร่วมในการทำสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ.2553 หรืออย่างภาคภูมิใจ
ฉบับหน้ามาติดตามกันต่อว่า ทำไมจึงเรียกว่า "ข้อมูลเพื่อแผ่นดิน" และที่ว่ามีคุณค่ามหาศาลนั้น มีคุณค่าอย่างไรบ้าง?--จบ--
เหลืออีก 157 วัน ร่วมสร้างประวัติศาสตร์ทำ "สำมะโนประชากรและเคหะ 2553"
รหัสข่าว: B-100125038029
--มติชน ฉบับวันที่ 25 ม.ค. 2553 (กรอบบ่าย)--