ปี 2552 ผ่านไปไวเหมือนโกหก ผ่านไปพร้อมๆ กับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่พรรคพวกนักวิชาการหลายคนเรียกว่า วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เพราะต้นเหตุมาจากสหรัฐอเมริกา จะได้ไม่ซ้ำกับวิกฤตต้มยำกุ้งที่ต้นเหตุเกิดจากเมืองไทยเมื่อปี 2540
จากการที่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ตั้งแต่ปลายปี 2551 จนรวบมาถึงปี 2552 และคนไทยส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ พ่อค้า แรงงาน นักการเมือง ต่างก็ใจหายใจคว่ำว่าเราจะรอดมั้ยเนี่ย ในที่สุดจนถึงบัดนี้ก็นับว่าอาการเศรษฐกิจของไทยดีขึ้นมาก
สิ่งที่เป็นห่วงคือ ที่ผ่านมาผู้ที่เกี่ยวข้อง (ไม่อยากใช้คำว่ารัฐบาล เพราะที่จริงมันก็หลายฝ่ายด้วยกัน) มักจะเอาอัตราการว่างงานมาเป็นข้ออ้าง เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจใหม่ๆ ก็บอกว่าจะเกิดการเลิกจ้างว่างงานมากมายมหาศาล เพื่อตั้งงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้มากๆ พอปลายวิกฤตเศรษฐกิจ ก็เอาตัวเลขการว่างงานมาบอกว่า ดูสิ การว่างงานลดลงแล้ว
ข้อกังวลของผู้เขียนคือ ประการแรก การเอาตัวเลขดังกล่าวมาอ้างเพื่อประโยชน์ของตนหรือคุยโม้ (Abuse)
และประการที่สอง คือ ตัวเลขการว่างงานในบ้านเราไม่ได้สะท้อนปัญหาที่แท้จริงของแรงงานเท่าที่ควร
กรณีแรก เช่นการคุยโม้ว่าสามารถทำให้ตัวเลขการว่างงานที่สูงอยู่เมื่อต้นปีให้ลดลงได้ในตอนปลายปี เช่น ปี 2551 หรือ 2552 ตามที่มีการแถลงการณ์เอิกเกริกนั้น ความจริงไม่ต้องมีใครทำอะไร ตัวเลขการว่างงานปลายปีมันจะลดลงอยู่ตามธรรมชาติอยู่แล้ว ทั้งนี้เพราะประเทศไทยยังมีภาคเกษตรมหึมาอยู่เกือบครึ่งประเทศ
ในตอนต้นปีเป็นหน้าแล้ง แรงงานจากภาคชนบทออกมาหางานทำในเมืองได้บ้างไม่ได้บ้าง การว่างงานจึงสูงกว่าในตอนปลายปีซึ่งเป็นฤดูเกษตร ความต้องการแรงงานในชนบทมีสูงและมีการทำงานเต็มที่มากขึ้น การว่างงานในตอนปลายปีจึงน้อยกว่า
ไม่เชื่อก็ไปดูตัวเลขสถิติที่ผ่านมาทุกปี การว่างงานต้นปีสูงกว่าปลายปีเสมอมา
ตัวอย่างปี 2550 ต้นปี (ไตรมาส 1) อัตราการว่างงานร้อยละ 1.63 และลดเหลือร้อยละ 1.18 ในตอนปลายปี (ไตรมาส 3) และยังมีการว่างงานตามฤดูกาลต้นปีอีก 2.82 แสนคน ซึ่งลดเหลือ 47, 200 คนในตอนปลายปี
ตัวเลขดังกล่าวแทบไม่ได้แตกต่างจากปี 2551 หรือ 2552 เลย
ดูปี 2552 ก็ได้ ต้นปีอัตราการว่างงานร้อยละ 2.08 ปลายปีลดเหลือร้อยละ 1.19 การว่างงานตามฤดูกาล ต้นปีมี 2.48 แสนคน (น้อยกว่าปี 2550 และ 2551 ด้วยซ้ำ) ปลายปีลดเหลือ 50,800 คน มากกว่าปี 2550 เสียอีก
เห็นไหม
กรณีที่สอง ในประเทศไทย สำหรับการวัดปัญหาการมีงานทำ ตัวเลขการว่างงานเปรียบเสมือนเป็นยอดเล็กๆ ของภูเขาน้ำแข็งที่มีส่วนที่อยู่ใต้ทะเลขนาดมหึมา
ตัวเลขอัตราการว่างงานของเราต่ำมาก ไม่ถึงร้อยละ 2 ซึ่งน่าจะต่ำที่สุดในโลก
อัตราการว่างงานต่ำอาจส่งสัญญาณผิดว่าไม่มีปัญหาการมีงานทำ ซึ่งแท้จริงแล้วยังมีปัญหาการจ้างงานในรูปแบบอื่นๆ ที่ร้ายแรงกว่าในแง่ของผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ เช่น ปัญหาการทำงานต่ำระดับ ค่าจ้างและรายได้ที่ลดลง การเปลี่ยนงานเป็นงานที่มีคุณภาพด้อยกว่า การจ้างงานที่เลวลง หรือการเคลื่อนย้ายไปสู่การจ้างงานนอกระบบ การเอาเปรียบและการหลอกลวงโดยนายจ้าง ฯลฯ ไม่นับปัญหาผลกระทบทางสังคมที่เกิดจากการปรับตัวรับวิกฤตเศรษฐกิจของครอบครัวซึ่งเป็นปัญหาที่ร้ายแรง
จะยกตัวอย่างของปัญหาการทำงานต่ำระดับให้ดูเป็นตัวอย่าง
ในตลาดแรงงานของไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอุตสาหกรรม เริ่มมีความตึงตัวมากขึ้น นายจ้างหาคนงานยากขึ้นและจะพยายามรักษาแรงงานของตนไว้ ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นและมีการลดการผลิต สิ่งแรกที่นายจ้างจะจัดการด้านแรงงานไม่ใช่การเลิกจ้างโดยทันที (เพราะไม่ใช่แค่ตลาดตึงตัว แต่การเลิกจ้างยังมีค่าใช้จ่ายด้วย) สิ่งที่นายจ้างส่วนใหญ่จะค่อยๆ ทำคือ ลดการจ้างทำงานข้างนอก (Outsource) ลดผลัดการทำงาน ลดชั่วโมงทำงาน ลดค่าจ้าง (ซึ่งจะติดขัดเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ) โดยทั่วไปชั่วโมงทำงานจะลดลงในภาคอุตสาหกรรม
ดังนั้น เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ จึงควรให้ความสนใจแก้ปัญหาเรื่องชั่วโมงทำงาน ซึ่งถ้าเห็นตัวเลขแล้วจะตกใจ
เฉพาะในปี 2551 การทำงานต่ำระดับ (ดูจากชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์ ถ้าต่ำว่า 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เรียกว่าการทำงานต่ำระดับอย่างปานกลาง และถ้าต่ำกว่า 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เรียกว่า การทำงานต่ำระดับอย่างรุนแรง) มีจำนวนถึง 5.78 ล้านคน โดยเป็นการทำงานระดับปานกลาง 3.88 ล้านคน และการทำงานต่ำระดับอย่างรุนแรง 1.89 ล้านคน
การทำงานต่ำระดับในประเทศไทย (ที่มา : ข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร สำนักงานสถิติแห่งชาติ)
ถ้าดูจากกราฟจะเห็นได้ว่า การทำงานต่ำระดับเริ่มมากขึ้นตั้งแต่ปี 2544 และคงระดับประมาณนี้จนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งสูงกว่าเมื่อสมัยเศรษฐกิจดีก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง (รัฐบาลนี้อาจจะสบายใจได้ ว่าอย่างน้อยตัวก็ไม่ได้เป็นต้นเหตุ)
ปัญหาคือ ทำอย่างไรจะให้การทำงานต่ำระดับลดลง
ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า แรงงานไทยระดับล่างส่วนใหญ่มีชีวิตขึ้นอยู่กับชั่วโมงทำงานและการทำงานล่วงเวลา เพราะรายได้จากการทำงานตามปกติไม่พอใช้
ความจริงการแก้ไขปัญหาคงไม่ยากเกินไปนัก
จะให้โจทย์ง่ายๆ จากตัวเลขการทำงานต่ำระดับข้างต้นเป็นเป้าหมาย คือ มีคนทำงานแค่สัปดาห์ละไม่เกิน 30 ชั่วโมง 3.88 ล้านคน และคนทำงานไม่เกินสัปดาห์ละ 20 ชั่วโมง 1.89 ล้านคน ในขณะที่ตามปกติ (ช่วงก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง) แรงงานไทยทำงานเฉลี่ยสัปดาห์ละ 51 ชั่วโมง ถ้าคำนวณดูง่ายๆ จะเห็นว่าชั่วโมงทำงานหายไปเท่ากับ (3.88 ล้าน x (51-30)) + (1.89 ล้าน x (51-20)) = 140 ล้านชั่วโมงต่อสัปดาห์ ปีหนึ่งมี 52 สัปดาห์ ดังนั้นปีหนึ่งการทำงานต่ำระดับถึง 7,280 ล้านชั่วโมง
รายละเอียดที่เหลือคิดเอาเองบ้าง
คิดเป็นเงินเท่าไร
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้มีเจตนาจะต่อว่ารัฐบาลหรือใครที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด (สาบานได้)
เพียงแค่อยากเตือนสติไม่ให้หลงทางหรือหลงประเด็นว่าได้แก้ปัญหาการว่างงานลุล่วงไปแล้ว
เพราะที่จริงคือยังมีการบ้านที่ยังต้องศึกษาพิจารณากันต่อไป
โดยมีโจทย์คือจะทำอย่างไรให้คนได้ทำงานอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานระดับล่างที่ชีวิตความเป็นอยู่ขึ้นอยู่กับค่าจ้างขั้นต่ำ (ซึ่งนายจ้างหลายรายก็หลีกเลี่ยงไม่จ่ายอยู่) กับค่าทำงานล่วงเวลา ซึ่งแปลว่า ชั่วโมงทำงานมีความหมายกับพวกเขาอย่างยิ่ง
ทำงานกันให้เห็นฝีมือกว่านี้หน่อย