เมื่อวันที่ 8 กมุภาพันธ์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ว่าที่ประชุมมีการพิจารณาใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การกำหนดตัวชี้วัดเพื่อการทำงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในปี 2553 โดยกรณีผู้ป่วยโรคที่มีภาระค่าใช้จ่ายสูงและเป็นภาระระยะยาว เช่น ไตวายเรื้อรัง โรคเอดส์ โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง ในปี 2553 จะต้องทำให้ภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาประชาชนเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายครัวเรือนไม่เกินร้อยละ 5 ส่วนที่เหลือต้องเป็นภาระของภาครัฐ หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
"ขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนว่าคนไทยมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับโรคเรื้อรังมากน้อยแค่ไหน จากนี้จะร่วมมือกับสำนักงานสถิติแห่งชาติในการทำสำรวจ แต่จากการประมาณการน่าจะเกินร้อยละ 10 ของค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ขณะที่องค์การอนามัยโลกกำหนดว่าไม่ควรเกินร้อยละ 10" นายจุรินทร์กล่าว
นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า ส่วนเกณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้องกับผู้รับบริการโดยตรง เช่น ผู้ป่วยที่ไม่ใช่บริการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือรักษาฟรีต้องไม่เกินร้อยละ 30 ในปี 2553 เพราะในปี 2552 กำหนดไว้สูงกว่านั้น จึงต้องทำระบบรักษาฟรีให้มีคุณภาพมากขึ้น ส่วนการดูแลป้องกันการเกิดโรคเบาหวานและความดัน ซึ่งปัจจุบันคนไทยป่วยโรคนี้สูงมาก ผู้ป่วยเบาหวาน 3.2 ล้านคน เข้าถึงระบบบริการแค่ร้อยละ 41 ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง 10 ล้านคน เข้าถึงระบบบริการแค่ร้อยละ 29 จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการ 2 โรคนี้เป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นบ่อเกิดของโรคที่ต้องใช้ค่ารักษาพยาบาลมาก เช่น ไตวายเรื้อรัง หลอดเลือดหัวใจ และมะเร็ง โดยจากนี้จะต้องจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการดำเนินการ และจัดตั้งกองทุนควบคุมป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง เน้นโรคเบาหวานและความดันโลหิต จำนวน 304.59 ล้านบาท นับว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีงบประมาณเข้ามาดูแลจัดการกับโรคเบาหวานและความดันเป็นการเฉพาะ
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน