วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก รวมทั้งประเทศไทยจนรัฐบาลต้องเข็นมาตรการ และนโยบายต่างๆ ออกมาเพื่อบรรเทาปัญหาการว่างงาน
สำหรับสถานการณ์แรงงานในปี 2553 นี้ หลังจากที่โดนกระหน่ำมาจากหลายทิศทาง ก็พบว่าสถิติว่างงานของประเทศลดลง
จากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่รายงานต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ระบุว่า ไตรมาสแรกของปี 2553 อัตราการว่างงานของประเทศ อยู่ที่ร้อยละ 1.0 หรือจำนวน 384,110 คน ซึ่งลดลงจากไตรมาสแรกของปี 2552 ที่ผ่านมา ที่มีอัตราการว่างงานร้อยละ 2.1
สาเหตุที่อัตราการว่างงานลดลงนั้น นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน กล่าวว่า เป็นผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งบางมาตรการได้เกี่ยวข้องกับกระทรวงแรงงานโดยตรง หรือไม่กระทรวงแรงงานทำหน้าที่อำนวยความสะดวก เช่น การจัดหาแรงงานที่กำลังขาดแคลน ให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ร้องขอเข้ามา
ซึ่งกระทรวงแรงงานมีความพร้อมที่จะจัดหาแรงงานป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมในประเทศ รวมทั้งการส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศด้วย ซึ่งที่ผ่านมาแรงงานไทยนำรายได้กลับประเทศถึงปีละ 5 - 6 หมื่นล้านบาทนับเป็นรายได้หลักของแรงงานไทย
ทิศทางการทำงานของกระทรวงแรงงานปี 2553 นี้ จะเน้นไปที่การจัดเตรียมแรงงานให้มีความพร้อม ทั้งตลาดแรงงานในประเทศ และต่างประเทศ
โดยแรงงานที่ทำงานอยู่แล้ว จะต้องมีการเพิ่มหรือพัฒนาฝีมือแรงงานให้มากขึ้น ตลอดจนการสอดส่องดูแลให้แรงงานที่ยังไม่ได้รับค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ให้ได้รับค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำด้วย ทั้งนี้แรงงานที่มีทักษะฝีมือสูงขึ้น ก็จะต้องได้รับค่าจ้างสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่อง ทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมดีขึ้นตามไปด้วย
นอกจากนี้ ปัญหาสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ใช้แรงงาน ก็เป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่จะต้องดูแลและให้ความสำคัญมากขึ้น
เนื่องจากในแต่ละปีที่ผ่านมา กองทุนเงินทดแทน ต้องจ่ายเงินปีละกว่า 2,000 ล้านบาท สำหรับลูกจ้างที่เจ็บป่วยเนื่องจาการทำงาน และกองทุนประกันสังคมยังมีค่าใช้จ่ายอีกหลายหมื่นล้านบาท ในการรักษาพยาบาลที่เจ็บป่วยนอกเหนือจากการทำงานของลูกจ้าง
ดังนั้น หากผู้ใช้แรงงานมีสุขภาพที่ดี และมีความปลอดภัยในการทำงาน ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายของกองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทนได้มากขึ้น
สำหรับโครงการต่างๆ ของกระทรวงแรงงานที่นำออกมาบรรเทาปัญหาการว่างงานก่อนหน้านี้นั้น นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการต่างๆ ทั้งในรูปแบบการเพิ่มเงินพิเศษและการดุลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นแก่กลุ่มประชาชนและบุคลากรภาครัฐผู้ที่มีรายได้น้อย เช่น โครงการเช็คช่วยชาติ ช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและบุคลากรภาครัฐโดยจ่ายเป็นเงินคนละจำนวน 2,000 บาท เดือนตุลาคม 2552 กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการจ่ายเช็คช่วยชาติให้แก่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 1.5 หมื่นบาท ซึ่งเบิกจ่ายแล้วรวม 15,805,88 ล้านบาท หรือร้อยละ 96.86 ของวงเงินรวม 16,318 ล้านบาท รวมถึงการที่กระทรวงการคลังได้จ่ายเช็คช่วยชาติให้แก่บุคคลากรภาครัฐเบิกจ่ายแล้วรวม 2,112.32 ล้านบาท หรือร้อยละ 98.61 ของวงเงินรวม 2,142 ล้านบาท
โครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงาน วงเงินสินเชื่อ 6,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 5 ต่อปี ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557 ระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 10 ปี มีเป้าหมายเพื่อรักษาสภาพการจ้างงานได้ 1 หมื่นคน ปัจจุบันได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้ววงเงิน 13,448.62 ล้านบาท
การบรรเทาการว่างงานตามโครงการเรนโบว์(Rainbow Project) โดยมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 189,060 ราย ทำให้เกิดการสร้างอาชีพ 7 สาขาธุรกิจ เกิดธุรกิจใหม่กว่า 5 หมื่นราย ในสาขาธุรกิจแฟรนไชส์ ธุรกิจขายตรง ธุรกิจอี - คอมเมิร์ซ ธุรกิจสีเขียวรีไซเคิล ธุรกิจเทล มาร์เก็ตติ้ง ธุรกิจโมเดิร์นเทรด และธุรกิจขายปลีก
นอกจากนี้ มาตรการป้องกันและบรรเทาปัญหาการเลิกจ้างและการว่างงานภายใต้กรอบมาตรการ 3 ลด 3 เพิ่มคือลดการเลิกจ้าง และเพิ่มการจ้างงานส่งผลให้สถานการณ์ว่างงานที่คาดประมาณไว้ว่าจะมีถึง 9 แสน - 1.3 ล้านคนลดลงเหลือเพียง 411,700 คน
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ก็ยังคงต้องติดตามสถานการณ์แรงงานอย่างใกล้ชิด เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือจากวิกฤติเศรษฐกิจ เช่น ปัญหาการเมืองในประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบไปถึงปัญหาเศรษฐกิจ และลามไปถึงปัญหาแรงงานได้
รวมทั้งการวิเคราะห์จากรัฐว่า เราได้ผ่านจุดต่ำสุดของวิกฤติเศรษฐกิจมาแล้ว แต่หลังจากนี้เศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร คงต้องพิสูจน์ฝีมือรัฐบาล รวมทั้งกระทรวงแรงงานว่าจะรับมือและทำงานเชิงรุก เพื่อให้แรงงานไทยได้ลืมตาอ้าปากมากขึ้นได้หรือไม่
รหัสข่าว B-100227014060