สรุปผลข้อมูลเบื้องต้นการสำรวจการประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทาง พ.ศ. 2552 (ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งฯ)

ข่าวทั่วไป Tuesday March 23, 2010 14:52 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

สรุปผลข้อมูลเบื้องต้นการสำรวจการประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทาง พ.ศ. 2552 (ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งฯ)

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ดำเนินการสำรวจการประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทางขึ้น เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทาง ทั่วประเทศ ได้แก่ จำนวนผู้ประกอบการ ลักษณะการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการ รายรับ-ค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการ จำนวนพนักงานที่ปฏิบัติงาน และค่าตอบแทนแรงงาน ประเภทและมูลค่าสินทรัพย์ เป็นต้น

ข้อมูลการประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทางที่นำเสนอในเอกสารนี้ เป็นข้อมูลของผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้โดยสารประจำทางในเส้นทางการเดินรถหมวด 1 - 4 คือ

หมวด 1 เป็นเส้นทางการขนส่งประจำทางด้วยรถโดยสารภายในเขตกรุงเทพมหานคร เทศบาล เมือง และเส้นทางต่อเนื่องภายในจังหวัด

หมวด 2 เป็นเส้นทางเดินรถโดยสารที่มีจุดเริ่มต้นจากกรุงเทพฯ ไปยังส่วนภูมิภาค

หมวด 3 เป็นเส้นทางเดินรถระหว่างจังหวัด หรือคาบเกี่ยวระหว่างจังหวัดในภูมิภาค

หมวด 4 เป็นเส้นทางเดินรถระหว่างอำเภอ หมู่บ้านหรือเขตชุมชนภายในจังหวัด

ผลการสำรวจที่สำคัญ สรุปได้ดังนี้

1) จำนวนผู้ประกอบการ

ในปี 2551 มีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทาง ทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 852 รายหากพิจารณาผู้ประกอบการเป็นรายภาค พบว่า มีผู้ประกอบการอยู่ในภาคกลาง (รวมกรุงเทพมหานคร) มากกว่าภาคอื่นๆ คือมีทั้งสิ้น 354 ราย (ร้อยละ 41.5) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 274 ราย (ร้อยละ 32.2) ภาคเหนือ 119 ราย (ร้อยละ 14.0) และที่อยู่ในภาคใต้มีเพียง 105 รายหรือร้อยละ 12.3

2) รูปแบบการจัดตั้งตามกฎหมาย

การดำเนินกิจการของผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทางทั่วประเทศในปี 2551 นั้น ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.2 ดำเนินการในรูปแบบที่เป็นบริษัทจำกัด รองลงมาเป็นสหกรณ์ร้อยละ 16.2 ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนจำ กัดร้อยละ 14.6 ส่วนที่เหลือมีลักษณะการดำเนินการในรูปแบบอื่น ๆ คือ ส่วนบุคคลร้อยละ 1.8 และส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจร้อยละ 0.2

3) ขนาดของกิจการ

เมื่อจำแนกกิจการของผู้ได้รับใบอนุญาตฯ ตามขนาดโดยใช้จำนวนรถโดยสารที่มีอยู่ในกิจการเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา พบว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตฯ ที่ไม่มีรถโดยสารเป็นของตนเองมีอยู่มากกว่าครึ่งหนึ่ง คือ 509 รายหรือคิดเป็นร้อยละ 59.7 ของผู้ได้รับใบอนุญาตฯ ทั้งสิ้นทั่วประเทศ ผู้ประกอบการดังกล่าวดำเนินการโดยให้ผู้ประกอบการรายอื่นนำรถโดยสารมาวิ่งร่วมในเส้นทางที่ตนได้รับใบอนุญาตฯ สำหรับผู้ประกอบการที่มีรถโดยสาร 1-5 คัน มี 177 รายหรือร้อยละ 20.8 สำหรับกิจการขนาดใหญ่ที่มีรถโดยสารมากกว่า 50 คันขึ้นไป มีผู้ประกอบการประมาณ 22 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 2.6ของจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตฯ ทั้งสิ้น

4) จำนวนรถโดยสาร

ในปี 2551 ในการประกอบกิจการของผู้ได้รับใบอนุญาตฯ ทั่วประเทศ มีรถโดยสารเป็นจำนวนทั้งสิ้น 8,715 คัน หรือเฉลี่ย 10.2 คันต่อกิจการ ในจำนวนนี้เป็นรถปรับอากาศจำนวน 3,997 คัน และเป็นรถไม่ปรับอากาศ จำนวน 4,718 คัน

หากพิจารณาจำนวนรถโดยสารเป็นรายภาค พบว่าภาคกลางมีรถโดยสารเป็นจำนวนมากที่สุดถึง 6,313 คัน รองลงมา คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวน 1,067 คัน ภาคเหนือมีจำนวน 752 คัน และภาคใต้มีรถโดยสารจำนวนน้อยที่สุดเพียง 583 คัน

5) จำนวนพนักงาน

ในปี 2551 การประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทางของผู้ได้รับใบอนุญาตฯ ทั่วประเทศ มีพนักงานซึ่งรวมทั้งที่ปฎิบัติงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างด้วย เป็นจำนวน 30,952 คน ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ประจำรถ 22,950 คน หรือร้อยละ 74.2 ในจำนวนเจ้าหน้าที่ประจำรถนี้ เป็นคนขับรถร้อยละ 39.7 และเป็นพนักงานติดรถร้อยละ 34.5 สำหรับพนักงานที่เป็นเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานมีอยู่ร้อยละ 15.7 เป็นช่างเครื่องยนต์/ พนักงานซ่อมรถร้อยละ 2.2 และเป็นเจ้าหน้าที่อื่นๆ เช่นนายตรวจ นายท่า ผู้จัดคิว ฯลฯ ร้อยละ 7.9

6) รายรับจากการประกอบกิจการ

จากการสำ รวจพบว่า ในปี 2551 กิจการของผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตฯ ทั่วประเทศ มีรายรับทั้งสิ้น 16,328.2 ล้านบาท ประกอบด้วยรายรับมาจากการเดินรถในเส้นทางที่ได้รับใบอนุญาตฯ จำนวน 12,847.3 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 78.7 รองลงมาเป็นรายรับที่เก็บจากผู้ประกอบการรายอื่นที่นำรถมาวิ่งร่วมบริการ ซึ่งมีมูลค่า 1,423.2 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.7 ส่วนรายรับที่เกิดจากการเดินรถในเส้นทางของผู้ประกอบการรายอื่นที่ได้รับใบอนุญาตฯ มีมูลค่าประมาณ 140.8 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.9 ของรายรับทั้งหมด อีกร้อยละ 11.7 เป็นรายรับที่ ได้จากการดำเนินงานของผู้ประกอบการ เช่น ค่าระวางสัมภาระค่าจ้างเหมาขนส่ง รายได้จากค่าโฆษณา เป็นต้น

7) ค่าใช้จ่ายในการประกอบกิจการ

ในปี 2551 ค่าใช้จ่ายในการประกอบกิจการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทางทั่วประเทศ มีจำนวนทั้งสิ้น 20,512.4 ล้านบาท ได้แก่ ค่าใช้จ่ายสำหรับรถโดยสารฯ ซึ่งมีมูลค่าสูงที่สุด 9,943.7 ล้านบาท หรือร้อยละ 48.5 ของค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นรองลงมา เป็นค่าใช้จ่ายสำนักงาน 5,474.5 ล้านบาท หรือร้อยละ 26.7 และค่าตอบแทนแรงงานจำนวน 5,094.2 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.8 ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าค่าใช้จ่ายในภาพรวมที่สูงกว่ารายรับนั้น การสำรวจครั้งนี้ได้รวมการประกอบกิจการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพด้วย ซึ่งในปัจจุบันประสบปัญหา การขาดทุนในการประกอบกิจการ

8) ปัญหาในการดำเนินกิจการ

ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทางในทุกๆ ภาคกว่าร้อยละ 70.0 ขึ้นไป รายงานว่าประสบปัญหาในการประกอบการ

สำหรับปัญหาที่ประสบนั้น ผู้ได้รับใบอนุญาตฯ ทั่วประเทศ ร้อยละ 76.3 ระบุว่าเป็นปัญหาจากการที่มีรถป้ายดำหรือรถอื่นมาวิ่งทับเส้นทางเป็นปัญหามากที่สุด รองลงมาคือปัญหาจากการไม่สามารถปรับราคาค่าโดยสารร้อยละ 52.5 ต้นทุนการดำเนินกิจการสูงเกินไป เช่น ค่าซ่อมแซมและค่าบำรุงรักษาเครื่องยนต์โดยสารสูงมากร้อยละ 36.3 ปัญหาการจราจรและปัญหาที่จอดรถร้อยละ 25.9 ส่วนปัญหาอื่น เช่นปัญหาในการควบคุมพนักงานขับรถและพนักงานประจำรถปัญหาข้อกฎหมายและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ได้รับใบอนุญาตฯ เห็นว่าเป็นปัญหาในสัดส่วนที่ไม่แตกต่างกันมากนัก ประมาณร้อยละ 14.1 — 18.0

9) ความช่วยเหลือที่ต้องการจากรัฐ

ผู้ได้รับใบอนุญาตฯ ทั่วประเทศ ร้อยละ 78.9 ระบุว่าต้องการความช่วยเหลือจากรัฐ หากพิจารณาเป็นรายภาคพบว่า ผู้ประกอบการในภาคใต้ ต้องการความช่วยเหลือมีสัดส่วนค่อนข้างสูงกว่าภาคอื่น คือมีถึงร้อยละ 89.0 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานคร ผู้ประกอบการต้องการความช่วยเหลือมีประมาณร้อยละ 78.7 — 80.4 ในขณะที่ภาคเหนือมีประมาณร้อยละ 65.1

ความช่วยเหลือที่ผู้ประกอบการ ทั่วประเทศต้องการสูงสุดเป็นอันดับแรก คือ ให้รัฐดำเนินการกับรถที่วิ่งทับเส้นทางถึงร้อยละ 76.6 ซึ่งสอดคล้องกับปัญหาที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดส่วนมาตรการอื่นที่ต้องการ ได้แก่ ผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการกำหนดค่าโดยสารเองภายใต้กฎระเบียบของภาครัฐ ปรับปรุงสภาพถนนและสถานที่จอดรถ และให้เงินอุดหนุนช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการขนส่ง กรณีการลดหย่อนค่าโดยสารแก่บุคคลต่างๆ มีร้อยละ 33.1, 28.4 และ 26.1 ตามลำดับ

ข้อมูลที่สำดัญของผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทาง ปี 2546-47 และปี 2551
รายการข้อมูลที่สำคัญ                            ปี 2546 -47 1/   ปี 2551 2/     ร้อยละของ

การเปลี่ยนแปลง

- จำนวนผู้ประกอบการ / สถานประกอบการ (แห่ง)              858         852         -0.7
- จำนวนรถโดยสารทั้งสิ้น (คัน)                           9,661       8,715         -9.8
  - รถปรับอากาศ                                     4,047       3,997         -1.2
  - ไม่ปรับอากาศ                                     5,614       4,718        -16.0
จำนวนรถโดยสารเฉลี่ยต่อกิจการ (คัน)                       11.3        10.2         -9.7
- จำนวนเที่ยววิ่ง (เที่ยว)                              50,701      43,803        -13.6
  - รถปรับอากาศ                                    21,412      16,734        -21.8
  - ไม่ปรับอากาศ                                    29,289      27,069         -7.6
จำนวนเที่ยววิ่งเฉลี่ยต่อคัน (เที่ยว)                           5.2         5.0         -3.8
- จำนวนพนักงาน (คน)                                35,782      30,952        -14.8
  - เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน                            6,040       4,852        -19.7
  - เจ้าหน้าที่ประจำรถ                                25,309      22,950         -9.2
  - ช่างเครื่องยนต์                                      930         676        -27.3
  - เจ้าหน้าที่อื่นๆ                                     3,503       2,435        -30.5
จำนวนพนักงานเฉลี่ยต่อกิจการ (คน)                         41.7        36.3        -12.9
- รายรับจากการประกอบ (ล้านบาท)                    17,548.7    16,328.2         -6.9
  - รายรับจากการเดินรถในเส้นทางที่ได้รับใบอนุญาตฯ       13,425.4    12,847.3         -4.3
  - รายรับจากการนำรถไปวิ่งร่วม                         144.6       140.8         -2.6
  - รายรับจากผู้ประกอบรายอื่นๆ นำรถมาวิ่งร่วม            1,553.0     1,423.2         -8.4
  - รายรับรายอื่นๆ จากการดำเนินงาน                   2,425.7     1,916.9        -21.0
รายรับเฉลี่ยต่อกิจการ (ล้านบาท)                           20.5        19.2         -6.3
- ค่าใช้จ่าย (ล้านบาท)                              16,061.5    20,512.4         27.7
  - ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรถโดยสาร                        7,077.9     9,943.7         40.5
  - ค่าใช้จ่ายสำนักงาน                               4,089.3     5,474.5         33.9
  - ค่าตอบแทนแรงงาน                               4,894.3     5,094.2          4.1
ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อกิจการ (ล้านบาท)                         18.7        24.1         28.9

หมายดเหตุ : 1/ ปี 2546 ทำการสำรวจเฉพาะรถหมวด 2 — 4 และในปี 2547 ทำการสำรวจเฉพาะรถหมวด 1

2/ ปี 2551 ทำการสำรวจรถหมวด 1 — 4

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ