สรุปผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร (เดือนมกราคม พ.ศ. 2553)

ข่าวทั่วไป Tuesday March 23, 2010 15:13 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

บทสรุปสำหรับผู้บริหาร

การสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เดือนมกราคม พ.ศ. 2553

การสำรวจภาวะการทำงานของประชากรประจำเดือนมกราคม 2553 พบว่า มีจำนวนผู้มีอายุ 15 ปีขึ้นไปหรือผู้อยู่ในวัยทำงานทั้งสิ้น 53.17 ล้านคน เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานหรือผู้ที่พร้อมทำงาน 37.80 ล้านคนซึ่งประกอบด้วย ผู้มีงานทำ 37.04 ล้านคน ผู้ว่างงาน 5.3 แสนคน และผู้รอฤดูกาล 2.3 แสนคน ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงานมี 15.37 ล้านคน

จำนวนผู้มีงานทำ 37.04 ล้านคนนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้มีงานทำในช่วงเวลาเดียวกันกับ ปี 2552 พบว่าจำนวนผู้มีงานทำเพิ่มขึ้น 8.4 แสนคน (จาก 36.20 ล้านคน เป็น 37.04 ล้านคน) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 โดยจำนวนผู้ทำงานนอกภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 4.1 แสนคน (จาก 23.72 ล้านคน เป็น 24.13 ล้านคน) ซึ่งเป็นการเพิ่มในสาขาการโรงแรมและภัตตาคารมากที่สุด 2.6 แสนคน รองลงมาสาขาการก่อสร้าง 1.1 แสนคน สาขาการศึกษาและสาขาอสังหาริมทรัพย์ฯ เพิ่มขึ้นเท่ากันคือ 5 หมื่นคน สาขาการขายส่งและขายปลีกฯ 1 หมื่นคน ส่วนสาขาอุตสาหกรรมที่ลดลงเป็นสาขาการผลิต 2.3 แสนคน สาขาการขนส่งฯ 2 หมื่นคนที่เหลือกระจายอยู่ในสาขาอื่น ๆ ส่วนผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 4.4 แสนคน (จาก 12.48 ล้านคน เป็น12.92 ล้านคน)

สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตที่สำ คัญในเดือนมกราคม 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปี2552 มีจำนวนผู้ทำงานเพิ่มขึ้นและลดลง คือ ลดลงในกลุ่มการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม 1.8 แสนคนการผลิตโลหะขั้นมูลฐาน 5.4 หมื่นคน การผลิตเครื่องแต่งกาย และการผลิตกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ลดลงเท่ากันคือ 3.8 หมื่นคน การผลิตเครื่องอุปกรณ์การขนส่งอื่นๆ 3.1 หมื่นคน และการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ 2.9 หมื่นคน ส่วนการผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็นการผลิตเฟอร์นิเจอร์ 3.8 หมื่นคน การผลิตผลิตภัณฑ์จากแร่อโลหะ 3.2 หมื่นคนการผลิตยานยนต์ 3.1 หมื่นคน และ การผลิตสิ่งทอ 2.5 หมื่นคนที่เหลือกระจายในการผลิตอื่น ๆ

หากพิจารณาถึงลักษณะของการทำงานไม่เต็มเวลาด้านชั่วโมงการทำงาน พบว่า ในจำนวนผู้ทำงานทั้งหมด 37.04 ล้านคน มีผู้ทำงานที่มีชั่วโมงการทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 12.67 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 34.2 ของผู้มีงานทำ ซึ่งกลุ่มผู้ทำงานเหล่านี้ คือผู้ที่ทำงานไม่เต็มเวลาหากนำมาเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2552 ผู้ทำงานไม่เต็มเวลามีจำนวนเพิ่มขึ้น 8.8 แสนคน (จาก 11.79 ล้านคน เป็น 12.67 ล้านคน) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 (จากร้อยละ 32.6 เป็นร้อยละ 34.2)

สำหรับจำนวนของผู้ว่างงานในเดือนมกราคม 2553มีจำนวนผู้ว่างงานทั้งสิ้น 5.3 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.4 และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2552 มีจำนวนผู้ว่างงานลดลง 3.5 แสนคน หรือลดลงร้อยละ 1.0 แต่เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดือนที่ผ่านมา (ธันวาคม 2552) มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 1.8 แสนคน (จาก 3.5 แสนคน เป็น 5.3 แสนคน) ถ้าพิจารณาผู้ว่างงานจากประสบการณ์การทำงานเป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนมีจำนวน 1.15 แสนคน ส่วนผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน 4.15 แสนคน ลดลง 3.17 แสนคน จากช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2552 (จาก 7.32 แสนคนเป็น 4.15 แสนคน) โดยเป็นผู้ว่างงานมาจากภาคการบริการและการค้า 1.55 แสนคน ภาคการผลิต 1.51 แสนคน และภาคเกษตรกรรม 1.09 แสนคน

หากพิจารณาการว่างงานตามกลุ่มอายุ พบว่ากลุ่มเยาวชน หรือผู้มีอายุระหว่าง 15-24 ปี เป็นกลุ่มที่มีอัตราการว่างงานร้อยละ 4.8 ซึ่งปกติในกลุ่มนี้อัตราการว่างงานจะสูงส่วนกลุ่มวัยผู้ใหญ่ (อายุ 25 ปีขึ้นไป) มีอัตราการว่างงานร้อยละ 0.9 เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2552 กลุ่มเยาวชน มีอัตราการว่างงานลดลงร้อยละ 2.9 (จากร้อยละ 7.7 เป็นร้อยละ 4.8) และกลุ่มวัยผู้ใหญ่ มีอัตราการว่างงานลดลงร้อยละ 0.7 (จากร้อยละ 1.6 เป็นร้อยละ 0.9)

สำหรับระดับการศึกษาที่สำ เร็จของผู้ว่างงานในเดือนมกราคม 2553 พบว่า ผู้ที่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมีจำ นวนสูงที่สุด 1.48 แสนคน(ร้อยละ 3.0) รองลงมาเป็นผู้ที่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 1.27 แสนคน (ร้อยละ 2.1) ระดับอุดมศึกษา 1.02 แสนคน (ร้อยละ 1.7) ระดับประถมศึกษา 1.02 แสนคน(ร้อยละ 1.2) และไม่มีการศึกษาและ ต่ำกว่าประถมศึกษา 5.1 หมื่นคน (ร้อยละ 0.4) เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2552 พบว่า จำนวนผู้ว่างงานลดลงในทุกระดับการศึกษา โดยผู้ว่างงานในระดับการศึกษาไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษาลดลงมากที่สุด 1.04 แสนคน รองลงมาเป็นระดับการศึกษามัธยมศึกษาตอนต้น 9.6 หมื่นคน ระดับประถมศึกษา 9 หมื่นคน ระดับอุดมศึกษา 4.1 หมื่นคน และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 1.8 หมื่นคนตามลำดับ

หากพิจารณาอัตราการว่างงาน เป็นรายภาค พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราการว่างงานสูงที่สุด คือ ร้อยละ 1.9 รองลงมาเป็นภาคกลางและภาคเหนือ มีอัตราการว่างงานเท่ากัน คือ ร้อยละ 1.3 กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 1.1 ส่วนภาคใต้มีอัตราการว่างงานต่ำ ที่สุด ร้อยละ 1.0 ถ้าเปรียบเทียบอัตราการว่างงานในช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2552 พบว่า ทุกภาคมีอัตราการว่างงานลดลง โดยภาคใต้มีอัตราการว่างงานลดลงมากที่สุด ร้อยละ 2.9 รองลงมาเป็นภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราการว่างงานลดลงเท่ากันคือร้อยละ 0.8 ภาคเหนือลดลงร้อยละ 0.4 กรุงเทพมหานครร้อยละ 0.2

สรุปผลการสำรวจ

ภาวะการทำงานของประชากร เดือนมกราคม พ.ศ. 2553

1. บทนำ

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ดำเนินการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรหรือสำรวจแรงงานอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เริ่มตั้งแต่ปี 2506 โดยในช่วงแรก สำรวจเพียงปีละ 2 รอบ รอบแรกเป็นการสำรวจนอกฤดูเกษตร รอบที่ 2 เป็นฤดูเกษตร ต่อมาในปี 2527 - 2540 สำรวจปีละ 3 รอบ โดยเพิ่มสำรวจช่วงเดือนพฤษภาคมเพื่อดูแรงงานที่จบการศึกษาใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงาน และในปี 2541 ได้เพิ่มการสำรวจขึ้นอีก 1 รอบ เดือนพฤศจิกายน เป็นช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตการเกษตร ทำให้เป็นการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรครบทั้ง 4 ไตรมาสของปี

และในปี 2544 สำนักงานสถิติแห่งชาติปรับปรุงการสำรวจเป็นรายเดือน ทั้งนี้เพื่อให้สามารถติดตามภาวะการมีงานทำของประชากรได้อย่างใกล้ชิดและเสนอผลการสำรวจเป็นรายเดือนทุกเดือนในระดับประเทศและภาค

2. สรุปผลที่สำคัญ

2.1 โครงสร้างกำลังแรงงาน

ผลการสำรวจในเดือนมกราคม พ.ศ. 2553 พบว่า มีจำนวนประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป 53.17 ล้านคน เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานประมาณ 37.80 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 71.1 ของประชากร (ชายร้อยละ 79.9 และหญิงร้อยละ 62.8) เป็นผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงาน 15.37 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 28.9 (ชายร้อยละ 20.1 และหญิงร้อยละ 37.2)

สำหรับกลุ่มผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน จำแนกออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

1. ผู้มีงานทำ จำนวน 37.04 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 98.0 ของผู้อยู่ในกำลังแรงงาน (ชายร้อยละ 98.1 หญิงร้อยละ 97.9)

2. ผู้ว่างงาน หมายถึง ผู้ไม่มีงานทำและพร้อมที่จะทำงาน มีจำนวน 5.3 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.4 (ชายร้อยละ 1.4 และหญิงร้อยละ 1.4)

3. ผู้ที่รอฤดูกาล หมายถึง ผู้ที่ไม่ได้ทำงานและไม่พร้อมที่จะทำงาน เนื่องจากจะรอทำงานในฤดูกาลต่อไป มีจำนวน 2.3 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 0.4 (ชายร้อยละ 0.5 และหญิงร้อยละ 0.7)

2.2 ภาวะการมีงานทำของประชากร

เมื่อพิจารณาถึงลักษณะการทำงานของประชากรเดือนมกราคม พ.ศ. 2553 พบว่า จากจำนวนผู้มีงานทำทั้งสิ้น 37.04 ล้านคน (ชาย 20.25 ล้านคน และหญิง 16.79 ล้านคน) เป็นผู้ทำงานภาคเกษตรกรรมประมาณ 12.91 ล้านคน หรือร้อยละ 34.9 ของผู้มีงานทำ (ชาย 7.47 ล้านคน และหญิง 5.44 ล้านคน) และทำงานนอกภาคเกษตรกรรมประมาณ 24.13 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 65.1 ของผู้มีงานทำ (ชาย 12.78 ล้านคน และหญิง 11.35 ล้านคน)

เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา จะเห็นว่า ผู้มีงานทำเพิ่มขึ้นประมาณ 8.4 แสนคน โดยผู้มีงานทำในภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นประมาณ 4.3 แสนคน (เพิ่มขึ้นจาก 12.48 ล้านคน เป็น 12.91 ล้านคน) และผู้มีงานทำ นอกภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นประมาณ 4.1 แสนคน (เพิ่มขึ้นจาก 23.72 ล้านคน เป็น 24.13 ล้านคน) ในจำนวนนี้เป็นการเพิ่มขึ้นในสาขาโรงแรมและภัตตาคาร มากที่สุด 2.6 แสนคน รองลงมาเป็นสาขาการก่อสร้าง 1.1 แสนคน สาขากิจกรรมด้านอสังหาริมทรัพย์ ฯ และสาขาการศึกษาเท่ากันคือ 5 หมื่นคน สาขาการขายส่งและขายปลีกฯ และสาขาการบริหารราชการแผ่นดินฯ เท่ากันคือ 1 หมื่นคน ส่วนสาขาการผลิตลดลง 2.3 แสนคน สาขาการขนส่งฯลดลง 2 หมื่นคน ที่เหลือกระจายอยู่ในสาขาอื่น ๆ

เมื่อพิจารณาถึงชั่วโมงทำงานของผู้มีงานทำต่อสัปดาห์ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2553 พบว่า ส่วนใหญ่ทำงานตั้งแต่ 35 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้ทำงานเต็มที่ในเรื่องชั่วโมงทำงาน มีจำนวน 24.38 ล้านคน หรือร้อยละ 65.8 ของผู้มีงานทำทั้งสิ้น (ชายร้อยละ 65.7 และหญิงร้อยละ 5.9) และผู้ที่ทำงาน 1-34 ชั่วโมงมีจำนวน 11.84 ล้านคน หรือร้อยละ 32.0 (ชายร้อยละ 31.6 และหญิงร้อยละ 32.4) สำหรับผู้ที่ไม่ได้ทำงานในสัปดาห์สำรวจ (ระหว่าง 7 วันก่อนวันสัมภาษณ์) แต่เป็นผู้มีงานประจำซึ่งถือว่าในสัปดาห์สำรวจไม่มีชั่วโมงทำงาน (0 ชั่วโมง) มีจำนวน 8.2 แสนคนหรือร้อยละ 2.2 (ชายร้อยละ 2.7 และหญิงร้อยละ 1.7) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีผ่านมาจะเห็นว่าจำนวนของผู้ที่ทำงาน 1 — 34 ชั่วโมงเพิ่มขึ้น 1.3 ล้านคน ส่วนผู้ที่ไม่ได้ทำงานในสัปดาห์การสำรวจ (0 ชั่วโมง) มีจำนวนลดลงประมาณ 4.3 แสนคน และผู้ที่ทำงานตั้งแต่ 35 ชั่วโมงขึ้นไปลดลงประมาณ 3 หมื่นคน

2.3 ภาวะการว่างงานของประชากร

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2553 จำนวนผู้ว่างงานมีประมาณ 5.3 แสนคน (ชาย 2.89 แสนคน และหญิง 2.41 แสนคน) คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.4 (ชายร้อยละ 1.4 และหญิงร้อยละ 1.4) และถ้าพิจารณาเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา จะเห็นว่า จำนวนผู้ว่างงานลดลง 3.5 แสนคน เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า จำนวนผู้ว่างงานลดลงทุกภาค โดยภาคใต้ลดลงสูงสุด 1.5 แสนคน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลง 9.4 หมื่นคน ภาคกลางลดลง 7.2 หมื่นคน ภาคเหนือลดลง 2.9 หมื่นคน และกรุงเทพมหานครลดลงน้อยที่สุด 7 พันคน

ถ้าพิจารณาอัตราการว่างงานในเดือนมกราคม พ.ศ.2553 เป็นรายภาค พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราการว่างงานสูงสุดคิดเป็นร้อยละ 1.9 รองลงมาคือภาคกลางและภาคเหนือมีอัตราการว่างงานเท่ากัน คือ ร้อยละ 1.3 กรุงเทพมหานครร้อยละ 1.1 และภาคใต้มีอัตราการว่างงานน้อยที่สุด ร้อยละ 1.0

เมื่อเปรียบเทียบอัตราการว่างงานของแต่ละภาคกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา พบว่า อัตราการว่างงานทั่วประเทศลดลงร้อยละ 1.0 พิจารณาเป็นรายภาคพบว่า อัตราการว่างงานลดลงทุกภาค โดยภาคใต้มีอัตราการว่างงานลดลงสูงสุดร้อยละ 2.9 ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลงเท่ากัน คือ ร้อยละ 0.8 ภาคเหนือลดลงร้อยละ 0.4 และกรุงเทพมหานครมีอัตราการว่างงานลดลงน้อยที่สุดร้อยละ 0.2

เมื่อพิจารณาถึงลักษณะที่น่าสนใจของผู้ว่างงาน 5.3 แสนคน ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2553 พบว่า เป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนประมาณ 1.15 แสนคน หรือคิดเป็น ร้อยละ 21.7 ของผู้ว่างงานทั้งสิ้น ส่วนผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนมีประมาณ 4.15 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 78.3 โดยเป็นผู้ว่างงานมาจากนอกภาคเกษตรกรรม 3.06 แสนคน ซึ่งประกอบด้วย ภาคการบริการและการค้า 1.55 แสนคน ภาคการผลิต 1.51 แสนคน สำหรับผู้ว่างงานในภาคเกษตรกรรมมีประมาณ 1.09 แสนคน

เมื่อพิจารณาระดับการศึกษาที่สำเร็จของผู้ว่างงานจำนวน 5.30 แสนคน พบว่า ระดับการศึกษาที่มีผู้ว่างงานมากที่สุดคือ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 1.48 แสนคน รองลงมาคือระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 1.27 แสนคน ระดับประถมศึกษาและระดับอุดมศึกษาเท่ากันคือ 1.02 แสนคน และผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 5.1 หมื่นคน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา พบว่า ผู้ว่างงานลดลงทุกระดับการศึกษา โดยผู้ว่างงานที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษาลดลงมากที่สุดคือ 1.04 แสนคน รองลงมาคือระดับมัธยมศึกษาตอนต้นลดลง 9.6 หมื่นคน ระดับประถมศึกษาลดลง 9 หมื่นคน ระดับอุดมศึกษาลดลง 4.1 หมื่นคน และระดับมัธยมศึกษาตอนปลายลดลงน้อยที่สุด 1.8 หมื่นคน

จากการพิจารณาอัตราการว่างงานตามระดับการศึกษาที่สำเร็จ พบว่า ผู้ที่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมีอัตราการว่างงานสูงที่สุดคือร้อยละ 2.8 รองลงมาเป็นผู้ที่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นร้อยละ 2.1 ระดับอุดมศึกษาร้อยละ 1.7 ระดับประถมศึกษาร้อยละ 1.2 และผู้ว่างงานที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษาร้อยละ 0.4 เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา พบว่า อัตราการว่างงานลดลงทุกระดับการศึกษา โดยผู้ว่างงานที่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นลดลงมากที่สุดร้อยละ 1.7 ระดับประถมศึกษาร้อยละ 1.1 ผู้ว่างงานไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษาร้อยละ 0.9 ระดับอุดมศึกษาร้อยละ 0.8 และระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมีอัตราการว่างงานลดลงน้อยที่สุดร้อยละ 0.6

ภาคผนวก

1. วิธีการสำรวจ

การสำรวจในแต่ละเดือนได้ดำเนินการสำรวจทั่วประเทศในทุกจังหวัด ด้วยวิธีการเลือกตัวอย่างแบบ Stratified Two Stage Sampling โดยตัวอย่างขั้นที่ 1 คือ ชุมรุมอาคาร 1/ (ในเขตเทศบาล) หรือหมู่บ้าน (นอกเขตเทศบาล) ซึ่งมีจำนวนตัวอย่างประมาณ 1,932 ชุมรุมอาคาร/หมู่บ้านตัวอย่าง และตัวอย่างขั้นที่ 2 คือ ครัวเรือนการสำรวจในแต่ละเดือนมีจำนวนครัวเรือนที่เป็นตัวอย่างทั้งสิ้นประมาณ 26,520 ครัวเรือนตัวอย่าง คิดเป็นจำนวนประชากรที่ตกเป็นตัวอย่างทั้งสิ้นประมาณ 92,820 คน ซึ่งขนาดตัวอย่างดังกล่าวนำเสนอข้อมูลในระดับ ภาค และ ยอดรวมทั้งประเทศ สำหรับแนวคิดและคำนิยามที่ใช้ในการสำรวจใช้ตามสภาพที่เหมาะสมกับประเทศไทย และตามข้อเสนอแนะ ของ ILO และ UN ซึ่งเป็นมาตรฐานทางสถิติที่ประเทศต่าง ๆ นำไปใช้ในการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรเพื่อให้ได้ข้อมูลการทำงานการว่างงาน และการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ของประชากร ที่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ในระหว่างประเทศ

สำหรับวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลใช้วิธีการสัมภาษณ์หัวหน้าครัวเรือนที่ตกเป็นตัวอย่าง โดยพนักงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ทั้งนี้ ในกรุงเทพมหานครใช้พนักงานทำการสัมภาษณ์ จำนวน 44 คน ในจังหวัดอื่นๆ จำนวน 830 คน และเจ้าหน้าที่ผู้ทำการสัมภาษณ์ทุกคน จะมีคู่มือการปฏิบัติงานการเก็บรวบรวมข้อมูลสำหรับใช้ในการปฏิบัติงาน เพื่อให้ทุกคนปฏิบัติงานในแนวทางเดียวกัน

ส่วนการประมวลผลข้อมูลนั้น ดำเนินการในส่วนกลางตามหลักสถิติศาสตร์ โดยนำข้อมูลที่ได้จากครัวเรือนตัวอย่างมาคำนวณ โดยใช้สูตรในการประมาณค่าที่เหมาะสมกับวิธีการเลือกตัวอย่าง หรือนำมาถ่วงน้ำหนัก (Weight) เพื่อให้ได้ค่าประมาณของประชากรทั้งหมดที่ใกล้เคียงกับค่าที่แท้จริง ทั้งในระดับภาค และยอดรวมทั่วประเทศ

2. คำนิยามสำคัญที่ใช้ในการสำรวจ
  • ผู้มีงานทำ หมายถึง ผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป และในระหว่าง 7 วันก่อนสัมภาษณ์ มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

1. ได้ทำงานตั้งแต่ 1 ชั่วโมงขึ้นไป โดยได้รับค่าจ้าง

2. ทำงานอย่างน้อย 1 ชั่วโมง โดยไม่ได้รับค่าจ้างในวิสาหกิจหรือไร่นาเกษตรของหัวหน้าครัวเรือนหรือของสมาชิกในครัวเรือน เช่น ช่วยธุรกิจในครัวเรือน หรือเป็นลูกของเจ้าของบริษัท ซึ่งได้ผลประโยชน์จากบริษัทอยู่แล้ว

3. ไม่ได้ทำงาน หรือทำงานน้อยกว่า 1 ชั่วโมง แต่เป็นผู้ที่ปกติมีงานประจำ กล่าวคือ มีงานอยู่แต่ช่วงนี้ไม่ได้ทำ เป็นผู้ที่มีลักษณะอย่างใด อย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

3.1 ยังได้รับค่าตอบแทน ค่าจ้าง หรือผลประโยชน์อื่น ๆ หรือผลกำไรจากงานหรือธุรกิจในระหว่างที่ไม่ได้ทำงาน เช่น อยู่ระหว่างลาพักผ่อนตามสิทธิ์ เป็นต้น

3.2 ไม่ได้รับค่าตอบแทน ค่าจ้าง หรือผลประโยชน์อื่น ๆ หรือผลกำไรจากงานหรือธุรกิจในระหว่างที่ไม่ได้ทำงาน แต่ยังมีงานหรือธุรกิจที่จะกลับไปทำ เช่น การลาป่วย/ลากิจของลูกจ้างรายวัน เป็นต้น

  • ผู้ทำงานตั้งแต่ 7 ชั่วโมงขึ้นไปต่อวัน หมายถึง ผู้ที่ทำงานตั้งแต่ 35 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ทำงานเต็มที่ในเรื่องชั่วโมงทำงาน
  • ผู้ทำงานน้อยกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน หมายถึง ผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ทำงานไม่เต็มที่ในเรื่องชั่วโมงทำงาน ทั้งนี้รวมถึงผู้ที่ไม่ได้ทำงานในสัปดาห์การสำรวจ (0 ชั่วโมง) แต่ปกติมีงานประจำทำ ซึ่งในสัปดาห์แห่งการสำรวจ อยู่ระหว่างการป่วย/ลาพักผ่อน เป็นต้น
  • ผู้ว่างงาน หมายถึง ผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป และในระหว่าง 7 วันก่อนวันสัมภาษณ์มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

1. ไม่ได้ทำงานหรือไม่มีงานประจำ และได้หางานหรือสมัครงาน หรือรอการบรรจุ ในระหว่าง 30 วันก่อนวันสัมภาษณ์

2. ไม่ได้ทำงานหรือไม่มีงานประจำ และไม่ได้หางานทำในระหว่าง 30 วันก่อนวันสัมภาษณ์แต่พร้อมที่จะทำงานในระหว่าง 7 วันก่อนวันสัมภาษณ์

  • กำลังแรงงานที่รอฤดูกาล หมายถึง ผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ในระหว่าง 7 วันก่อนวันสัมภาษณ์ เป็นผู้ไม่เข้าข่ายคำนิยามของผู้มีงานทำ หรือว่างงาน แต่เป็นผู้รอฤดูกาลที่เหมาะสมเพื่อที่จะทำงาน ถึงแม้มีงานที่เหมาะสมและอยู่ในวิสัยที่สามารถทำได้ ซึ่งโดยปกติจะทำงานที่ไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในไร่นาเกษตร หรือธุรกิจซึ่งทำกิจกรรมตามฤดูกาล โดยมีหัวหน้าครัวเรือน หรือสมาชิกคนอื่น ๆ ในครัวเรือนเป็นเจ้าของหรือผู้ดำเนินการ

1/ ชุมรุมอาคาร : พื้นที่ในเขตเทศบาลทุกจังหวัด จะแบ่งออกเป็นส่วนย่อย ๆ เรียกว่า ชุมรุมอาคาร (Block) ใช้แผนที่สถิติที่จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ คือ 1 ชุมรุมอาคาร ประกอบด้วยครัวเรือน ประมาณ 100 - 200 ครัวเรือน

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ