สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจยอดขายรายไตรมาสเป็นประจำทุกปี การสำรวจครั้งนี้เป็นการดำเนินการในไตรมาส 1 - 4 ของปี 2552 โดยใช้ขนาดตัวอย่างรวม 5,255 สถานประกอบการ จากทั่วประเทศ ข้อมูลที่เก็บรวบรวม ได้แก่ ข้อมูลเกี่ยวกับการจำหน่ายปลีกสินค้าและบริการของสถานประกอบการ และข้อมูลสินค้าคงเหลือของธุรกิจประเภทขายปลีก
1. การเปลี่ยนแปลงมูลค่าขาย/รายรับ ระหว่างไตรมาส
ในไตรมาส 4 ปี 2552 ภาพรวมของธุรกิจทั่วประเทศขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบปีที่ร้อยละ 3.2 โดยขยายตัวในธุรกิจทุกประเภท โดยเฉพาะธุรกิจการบริการอื่น ๆ มีรายรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนสูงที่สุดร้อยละ 5.1 รองลงมาคือธุรกิจค้าปลีก เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 สำหรับธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท เกสต์เฮาส์ และหอพัก มีรายรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เพียงร้อยละ 0.1
1.1 ธุรกิจค้าปลีก
สำหรับธุรกิจค้าปลีก พบว่า ไตรมาส 4 ขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบปีที่ร้อยละ 3.5 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 3 ที่หดตัวร้อยละ 1.3
เมื่อพิจารณาตามขนาดของกิจการ พบว่า ในไตรมาส 4 กิจการเกือบทุกขนาดมียอดขายเพิ่มขึ้น โดยกิจการที่มีคนทำงาน 16 - 25 คน มียอดขายเพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 5.8 รองลงมาคือกิจการที่มีคนทำงาน 1 - 15 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 สาเหตุที่มียอดขายเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 สถานประกอบการร้อยละ 47.3 รายงานว่าเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ทำให้มีประชาชนจับจ่ายใช้สอยสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภคมากขึ้น
สำหรับกิจการที่มีคนทำงาน 26 - 30 คน ในไตรมาส 4 มียอดขายลดลงร้อยละ 8.7 สาเหตุที่มียอดขายลดลง นั้น สถานประกอบการร้อยละ 40.0 รายงานว่าเนื่องจากลูกค้ามีกำลังซื้อลดลง
ประเภทของธุรกิจค้าปลีกที่มียอดขายเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 ได้แก่ ขายปลีกสิ่งทอ เสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องหนัง (ร้อยละ 5.3) ขายปลีกสินค้าอื่น ๆ (ร้อยละ 5.2) ขายปลีกอาหาร เครื่องดื่ม หรือยาสูบ เป็นสินค้าหลัก ดิสเคาน์สโตร์ ร้านสะดวกซื้อ (ร้อยละ 4.7) ขายปลีกของใช้แล้ว ขายโดยไม่มีร้านซ่อมแซมของใช้ (ร้อยละ 4.2) ขายปลีกเครื่องโลหะ สีทา และกระจก (ร้อยละ 4.1) ขายปลีกสินค้าทั่วไป ห้างสรรพสินค้า (ร้อยละ 3.1) ขายปลีกยา เวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง (ร้อยละ 1.8) และขายปลีกอาหาร เครื่องดื่ม หรือยาสูบ ในร้านเฉพาะอย่าง (ร้อยละ 1.5) สำหรับธุรกิจค้าปลีกที่มียอดขายลดลงในไตรมาส 4 ได้แก่ ขายปลีกเครื่องใช้สิ่งของและอุปกรณ์ในครัวเรือน (ร้อยละ 4.6)
1.2 ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท เกสต์เฮาส์ และหอพัก
ธุรกิจประเภทโรงแรม รีสอร์ท เกสต์เฮาส์ และหอพัก มีมูลค่ารายรับขยายตัวในไตรมาส 4 โดยขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบปีที่ร้อยละ 0.1 ดีขึ้นจากไตรมาส 3 ที่หดตัวร้อยละ 5.0
เมื่อพิจารณาตามขนาดของกิจการ พบว่า กิจการเกือบทุกขนาดมีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 โดยกิจการที่มีคนทำงาน 26 - 30 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 8.9 สาเหตุที่มีรายรับเพิ่มขึ้น นั้น สถาน-ประกอบการมากกว่าครึ่งหรือร้อยละ 65.7 รายงานว่าเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ทำให้มีการท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งเป็นผลให้อัตราการพักแรมเพิ่มขึ้น และสำหรับกิจการที่มีคนทำงาน 1 - 15 คน ในไตรมาส 4 มีรายรับลดลงร้อยละ 3.1
1.3 ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร
ในไตรมาส 4 ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหารมีมูลค่ารายรับปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 3 เล็กน้อย ที่ร้อยละ 2.7
เมื่อพิจารณาตามขนาดของกิจการ พบว่า ในไตรมาส 4 กิจการทุกขนาดมีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้น โดยกิจการที่มีคนทำงาน 16 - 25 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 6.7 รองลงมาคือกิจการที่มีคนทำงาน 31 - 50 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 สาเหตุที่มีรายรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 สถานประกอบการมากกว่าครึ่งหรือร้อยละ 55.4 รายงานว่าเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ทำให้ประชาชนมีการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคเพิ่มขึ้น และอีกร้อยละ 32.4 รายงานว่าลูกค้ามีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น
1.4 ธุรกิจการให้เช่าของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน
ธุรกิจการให้เช่าของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน เช่น การให้เช่ากล้องและอุปกรณ์การถ่ายภาพ การให้เช่าวีดีโอ วีซีดี และดีวีดี การให้เช่าเครื่องแต่งกายที่ใช้ในงานพิธีต่าง ๆ การให้เช่าโต๊ะ เก้าอี้ เครื่องครัว และการให้เช่าหนังสือ เป็นต้น พบว่า ในไตรมาส 4 กลับขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งที่ร้อยละ 1.6 หลังจากที่หดตัวร้อยละ 5.0 ในไตรมาส 3
เมื่อพิจารณาตามขนาดของสถานประกอบการ พบว่า กิจการทุกขนาดมีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 โดยกิจการที่มีคนทำงาน 16 - 25 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 4.0 รองลงมาคือกิจการที่มีคนทำงาน 31 - 50 คน และ 1 - 15 คน มีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 และ 1.6 ตามลำดับ สาเหตุที่มีรายรับเพิ่มขึ้น ในไตรมาส 4 สถานประกอบการมากกว่าครึ่งหรือร้อยละ 69.5 รายงานว่าเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ทำให้มีผู้มาใช้บริการมากขึ้น
1.5 กิจกรรมนันทนาการ สำนักข่าว และการกีฬา
กิจกรรมนันทนาการ สำนักข่าว และการกีฬา พบว่า ในไตรมาส 4 กลับขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งเช่นกันที่ร้อยละ 0.6 หลังจากที่หดตัวร้อยละ 1.2 ในไตรมาส 3
เมื่อพิจารณาตามขนาดของสถานประกอบการ พบว่า กิจการเกือบทุกขนาดมีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 โดยเฉพาะกิจการที่มีคนทำงาน 16 - 25 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 6.8 สาเหตุที่มีรายรับเพิ่มขึ้น นั้น สถานประกอบการร้อยละ 49.3 รายงานว่าเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ทำให้มีผู้มาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น และอีกร้อยละ 36.9 รายงานว่าลูกค้ามีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น ธุรกิจที่มีรายรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 ได้แก่ กิจกรรมสำนักข่าว นันทนาการอื่น ๆ ผลิต ขาย ให้เช่ารายการวิทยุ โทรทัศน์ และการบันเทิงอื่น ๆ
สำหรับกิจการที่มีคนทำงาน 51 - 200 คน และมากกว่า 200 คน มีรายรับลดลงในไตรมาส 4 ร้อยละ 1.9 และ 0.5 ตามลำดับ สาเหตุที่มีรายรับลดลง นั้น สถานประกอบการร้อยละ 53.7 รายงานว่าเนื่องจากมีคู่แข่งทางการค้าเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีลูกค้าลดลง
1.6 ธุรกิจการบริการอื่น ๆ
ธุรกิจการบริการอื่น ๆ ได้แก่ บริการซักรีด ทำความสะอาด บริการเสริมสวย สถานเสริมความงามต่าง ๆ กิจกรรมเกี่ยวกับการทำศพ และการบริการอื่น ๆ พบว่า ในไตรมาส 4 มีมูลค่ารายรับปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 3 ที่ร้อยละ 5.1
เมื่อพิจารณาตามขนาดของสถานประกอบการ พบว่า ในไตรมาส 4 กิจการเกือบทุกขนาดมีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้น โดยกิจการที่มีคนทำงาน 1 - 15 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 5.7 รองลงมาคือกิจการที่มีคนทำงาน 51 - 200 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 สาเหตุที่มีรายรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 สถานประกอบการร้อยละ 43.9 รายงานว่าเนื่องจากลูกค้ามีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น และสำหรับกิจการที่มีคนทำงาน 26 - 30 คน และ 16 - 25 คน มีมูลค่ารายรับลดลงในไตรมาส 4 ร้อยละ 2.7 และ 1.3 ตามลำดับ
2. การเปลี่ยนแปลงมูลค่าสินค้าคงเหลือระหว่างไตรมาสของการขายปลีก
ภาพรวมของมูลค่าสินค้าคงเหลือของธุรกิจค้าปลีก ในไตรมาส 4 ปี 2552 พบว่า หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.2 หลังจากที่ขยายตัวในไตรมาส 3 เล็กน้อย ร้อยละ 0.3 ในส่วนของการขายปลีกสินค้าแต่ละประเภท พบว่า การขายปลีกสินค้าทั่วไป ห้างสรรพสินค้า มีมูลค่าสินค้าคงเหลือลดลงสูงที่สุดร้อยละ 7.3
สำหรับการขายปลีกอาหาร เครื่องดื่ม หรือยาสูบ ในร้านเฉพาะอย่าง มีมูลค่าสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 สูงที่สุดร้อยละ 11.6
เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงมูลค่าสินค้าคงเหลือ ตามขนาดของสถานประกอบการ พบว่า กิจการที่มีคนทำงาน 26 - 30 คน มีมูลค่าสินค้าคงเหลือลดลงสูงสุดร้อยละ 8.7 ในขณะที่กิจการที่มีคนทำงาน 16 - 25 คน มีมูลค่าสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 9.2
3. สรุปผลและข้อเสนอแนะ
ภาพรวมของธุรกิจทั่วประเทศในไตรมาส 4 ปี 2552 ขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบปีที่ร้อยละ 3.2
หลังจากที่หดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 1 และเป็นการขยายตัวทุกประเภทธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ได้แก่ ภัตตาคารและร้านอาหาร และโรงแรม รีสอร์ท เกสต์เฮาส์ และหอพัก ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเป็นผลจากการเข้าสู่ช่วงฤดูการท่องเที่ยวของไทย รวมทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น การอนุมัติปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง
สำหรับความช่วยเหลือที่ต้องการจากหน่วยงานของรัฐนั้น มีผู้ประกอบการธุรกิจและบริการทั่วประเทศ ร้อยละ 12.3 แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ โดยได้ระบุความต้องการดังนี้ ร้อยละ 55.1 เห็นว่ารัฐควรสนับสนุนแหล่งเงินทุนให้กู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 19.3 ควรกำหนดมาตรฐานการควบคุมราคาสินค้าให้เข้มงวดมากขึ้น และร้อยละ 10.1 ควรกำหนดมาตรการการลดหย่อนภาษี
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจและบริการทั่วประเทศ ร้อยละ 2.0 ได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม โดยในจำนวนนี้ ร้อยละ 25.9 เห็นว่ารัฐบาลควรมีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ร้อยละ 5.8 ควรมีการส่งเสริมการจ้างงานภายในประเทศ และร้อยละ 4.3 ควรกำหนดมาตรฐานการควบคุมราคาสินค้าให้เข้มงวดมากขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพของภาคธุรกิจ
1) คุ้มรวมของการสำรวจ ได้แก่ สถานประกอบการที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการจำหน่ายปลีกสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค โรงแรมและภัตตาคาร การให้เช่าของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือนฯ กิจกรรมนันทนาการ สำนักข่าว และการกีฬา และการให้บริการส่วนบุคคลประเภทต่าง ๆ ที่มีคนทำงาน 1 คนขึ้นไป ทั่วประเทศ
2) ปี 2549 ไม่มีการสำรวจ