สำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ทำการสำรวจพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของชาวไทย พ.ศ. 2552 ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทราบข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของชาวไทย ในรอบปี 2551 ทั้งในเรื่องการเดินทางท่องเที่ยว ลักษณะการเดินทาง วัตถุประสงค์ในการเดินทาง กิจกรรมที่ทำระหว่างการเดินทาง การจัดการเดินทาง ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง การเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศรวมทั้งความคิดเห็นเกี่ยวกับการท่องเที่ยว โดยเก็บรวบรวมข้อมูลในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2552 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปที่ตกเป็นตัวอย่างทั่วประเทศ จำนวน 15,440 รายผลจากการสำรวจ สรุปได้ดังนี้
1.1 การเดินทาง และลักษณะการเดินทาง
ผลการสำรวจพบว่า พฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของชาวไทย ในรอบปี 2551 มีผู้ที่เดินทางท่องเที่ยว และไม่เดินทางท่องเที่ยวในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน คือ ร้อยละ 50.6 และร้อยละ 49.4 ตามลำดับ หากพิจารณากลุ่มที่เดินทางท่องเที่ยวเกี่ยวกับลักษณะการเดินทาง พบว่า เป็นผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวแบบพักค้างคืนซึ่งตามเกณฑ์กำหนดจะนับว่าเป็นนักท่องเที่ยว ร้อยละ 48.0 แบบไม่พักค้างคืนจะนับเป็นนักทัศนาจร ร้อยละ 31.8 และเป็นผู้ที่เดินทางทั้ง 2 ลักษณะอีกร้อยละ 20.2 สำหรับกลุ่มที่ไม่เดินทางท่องเที่ยวส่วนใหญ่ร้อยละ 60.6 ให้เหตุผลว่าไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอสำหรับการเดินทางรองลงมา คือ ไม่มีเวลาว่าง ร้อยละ 54.0 สภาพเศรษฐกิจไม่ค่อยดีร้อยละ 31.2 และไม่ชอบเดินทางร้อยละ 29.3
1.2 การเดินทางท่องเที่ยวในรอบปี 2551 เมื่อเทียบกับปี 2550
เมื่อพิจารณาในภาพรวมผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวประมาณ 1 ใน 3 (ร้อยละ 35.5) เดินทางท่องเที่ยวลดลงในปี 2551 เมื่อเทียบกับปี 2550 โดยมีภาคที่มีสัดส่วนของผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวในปี 2551 ลดลง มากกว่า 1 ใน 3 คือ ภาคใต้ ร้อยละ 43.4 ภาคตะวันออก ร้อยละ 42.2 กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ร้อยละ 41.9 และภาคกลาง ร้อยละ 41.6
1.3 วัตถุประสงค์หลักในการเดินทางท่องเที่ยว
วัตถุประสงค์หลักในการเดินทางท่องเที่ยวที่สำคัญ 5 เรื่องแรกได้แก่ 1) เพื่อเยี่ยมญาติ/เพื่อน ร้อยละ 37.5 2) ต้องการพักผ่อน/เปลี่ยนบรรยากาศ ร้อยละ 32.6 3) เยี่ยมครอบครัวร้อยละ 19.5 4) ซื้อของ/ช้อปปิ้ง ร้อยละ 19.1 5) ไหว้พระปฏิบัติธรรม ร้อยละ 18.7
1.4 กิจกรรมที่ทำระหว่างเดินทางท่องเที่ยว
สำหรับกิจกรรมที่ทำระหว่างการเดินทางท่องเที่ยว 5 เรื่องแรกได้แก่ 1) ท่องเที่ยวทั่วไป ร้อยละ 59.3 2) พักผ่อนในที่พัก/บ้านญาติ/ ไม่ทำกิจกรรม ร้อยละ 34.3 3) กิจกรรมเชิงศาสนา ร้อยละ 33.4 4) กิจกรรมเชิงวัฒนธรรม ร้อยละ 24.4 5) กิจกรรมเชิงนิเวศและ ผจญภัย ร้อยละ 11.8
2. การจัดการเดินทาง
2.1 ผู้ร่วมเดินทาง ผู้ตัดสินใจเลือกการเดินทาง และลักษณะการจัดการเดินทาง
ในภาพรวมแล้วผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวมากกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 56.6) จะเดินทางท่องเที่ยวกับครอบครัว/ญาติรองลงมาเดินทางกับเพื่อน/เพื่อนร่วมงาน ร้อยละ 26.2 เดินทางคนเดียวร้อยละ 10.8 มีเพียงส่วนน้อย (ร้อยละ 6.4) ที่เดินทางไปกับคู่รัก/แฟน สำหรับการตัดสินใจเลือกการเดินทาง ผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวประมาณ ร้อยละ 40.9 ระบุว่า ครอบครัว / ญาติเป็นผู้ตัดสินใจตัดสินใจเอง ร้อยละ 34.8 เพื่อน/เพื่อนร่วมงาน ร้อยละ 13.6 นอกจากนั้น เป็นบริษัท / ที่ทำงาน คู่รัก / แฟน และอื่น ๆ (ร้อยละ 5.7 ร้อยละ 4.9 และร้อยละ 0.1 ตามลำดับ)
ส่วนลักษณะการจัดการเดินทาง ส่วนใหญ่ร้อยละ 81.7 จัดการการเดินทางเองทั้งหมด รองลงมามีหน่วยงาน/คณะจัดการให้ ร้อยละ 14.4 จัดการเองบางส่วนและให้บริษัทนำเที่ยวบางส่วนร้อยละ 2.5 และจัดการเดินทางผ่านบริษัทนำเที่ยวทั้งหมดร้อยละ 1.4 ส่วนวัน/เวลาที่เดินทางท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเดินทางวันเสาร์-อาทิตย์ ร้อยละ 41.2 รองลงมาเดินทางช่วงวันหยุดยาว ร้อยละ 29.8 วันธรรมดา ร้อยละ 25.8 และอื่น ๆ ร้อยละ 3.2
2.2 การหาข้อมูลข่าวสารสำหรับการเดินทาง
ผลการสำรวจ พบว่า ผู้เดินทางท่องเที่ยวส่วนใหญ่ร้อยละ 67.7 ยังไม่ค่อยหาข้อมูลข่าวสารสำหรับการเดินทาง มีผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวเพียง ร้อยละ 32.3 ที่หาข้อมูลสำหรับการเดินทางโดยในกลุ่มนี้ได้ระบุแหล่งข้อมูล ดังนี้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 72.6สอบถามจากเพื่อน / ญาติ / ครอบครัว รองลงมานิตยสารท่องเที่ยวร้อยละ 17.5 เว็บไซต์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร้อยละ 16.1หนังสือ / Brochure แนะนำแหล่งท่องเที่ยว ร้อยละ12.9 และแหล่งอื่น ๆ (เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ เป็นต้น) ร้อยละ 11.8
2.3 พาหนะที่ใช้ในการเดินทาง
ผู้เดินทางท่องเที่ยวส่วนใหญ่ร้อยละ 53.8 นิยมที่จะเดินทางด้วยพาหนะส่วนตัว/รถยนต์ รองลงมาเดินทางด้วยรถทัวร์/รถโดยสารประจำทาง ร้อยละ 26.0 รถเช่า เช่น รถตู้ รถยนต์รถทัวร์/รถบัส ร้อยละ 17.1 รถไฟ ร้อยละ 2.3 มีเพียงส่วนน้อยร้อยละ 0.7 ที่เดินทางด้วยเครื่องบิน
2.4 สถานที่พักแรม
สำหรับผู้เดินทางแบบพักค้างคืนมากกว่าครึ่งหนึ่ง(ร้อยละ 58.9) นิยมที่จะพักแรมที่บ้าน/ที่พักของครอบครัว/ญาติ /เพื่อน เพราะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ร้อยละ 19.6 นิยมความสะดวกสบายเข้าพักแรมที่โรงแรม ร้อยละ 10.3 พักตามรีสอร์ทและอีกร้อยละ 1.8 พักแรมในที่พักที่เป็นของอุทยานแห่งชาติต่างๆ ซึ่งเก็บค่าที่พักในราคาที่ไม่แพง ส่วนโฮมสเตย์ซึ่งนักท่องเที่ยวจะต้องพักรวมกับเจ้าของบ้านภายใต้ชายคาเดียวกันและศึกษาธรรมชาติ วิถีชีวิตไทย หรือวัฒนธรรมไทยโดยมีการจัดบริการสิ่งอำนวยความสะดวกตามสมควรนั้นมีร้อยละ 0.7 สำหรับวิธีการจอง/จัดหาที่พักแรมนั้น ส่วนใหญ่ ร้อยละ 69.5 ติดต่อเข้าพักเองโดย ไม่มีการจองล่วงหน้า
เมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวครั้ง/ทริปล่าสุดต่อคน พบว่า ในภาพรวมอยู่ที่ประมาณ 2,228 บาทต่อคน หากเป็น การเดินทางแบบไม่พักค้างคืนอยู่ที่ 1,154 บาทต่อคน แบบพักค้างคืน 3,062 บาทต่อคน หากพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ภาคใต้มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเฉลี่ยต่อคนสูงสุด คือ 2,873 บาทต่อคนรองลงมาภาคตะวันออก 2,535 บาทต่อคน กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 2,477 บาทต่อคน ภาคเหนือตอนบน 2,323 บาทต่อคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2,104 บาทต่อคน ภาคเหนือตอนล่าง 1,809 บาทต่อคน และต่ำสุดในภาคกลางอยู่ที่ประมาณ 1,760 บาทต่อคน
สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปในรอบปี 2551 มีเพียงร้อยละ 3.9 และเป็นการเดินทาง ในช่วงเดือนเมษายน - มิถุนายน มากที่สุด คือประมาณร้อยละ 31.4 ของผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศ เดือนตุลาคม - ธันวาคมร้อยละ 29.0 เดือนมกราคม - มีนาคม ร้อยละ 27.6 เดือนกรกฎาคม - กันยายนร้อยละ 12.0 ส่วนจำนวนครั้งที่เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศต่อปีพบว่า โดยเฉลี่ยเดินทาง 1.8 ครั้งต่อปี
5. ความคิดเห็นเกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยว
5.1 การวางแผน/จัดสรรเงินสำหรับการเดินทางท่องเที่ยว
ผลการสำรวจ พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 84.1 ไม่มีการวางแผน/จัดสรรเงินสำ หรับการเดินทางท่องเที่ยวไว้ล่วงหน้า มีเพียงส่วนน้อย (ร้อยละ 15.9) ที่มีการวางแผน/จัดสรรเงิน โดยมีการจัดสรรเงินไว้ 2,001-5,000 บาทต่อปี ร้อยละ 5.5 5,001-10,000 บาทต่อปี ร้อยละ 4.3 10,001-20,000 บาทต่อปีร้อยละ 2.4 ไม่เกิน 2,000 บาทต่อปี ร้อยละ 2.3 20,0001-30,000บาทต่อปี และมากกว่า 30,000 บาทต่อปี ร้อยละ 0.9 และร้อยละ 0.6
5.2 การรับรู้/ทราบสโลแกน “เที่ยวไทยครึกครื้น เศรษฐกิจไทยคึกคัก”
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ทำการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวภายใต้สโลแกน “เที่ยวไทยครึกครื้น เศรษฐกิจไทยคึกคัก” เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว หลังจากประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ผลการสำรวจ พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 69.9 รับรู้/ทราบสโลแกนนี้ โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 68.7 รับรู้/ทราบจากโทรทัศน์ รองลงมา วิทยุ ร้อยละ 10.3 ป้ายโฆษณาร้อยละ 6.4 แผ่นโปสเตอร์ ร้อยละ 2.0
สำหรับความรู้สึกเมื่อได้เห็น/ได้ยินสโลแกน “เที่ยวไทยครึกครื้น เศรษฐกิจไทยคึกคัก” พบว่า กว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 59.1) ระบุว่าสโลแกนนี้ทำให้รู้สึกอยากเดินทางท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามยังมีอีกร้อยละ 40.9 ที่รู้สึกเฉย ๆ ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากยังไม่มีความพร้อมที่จะเดินทางท่องเที่ยว