รายงานสถิติจำนวนประชากรเมื่อปี 2550 โดยสำนักบริหารการทะเบียน สำนักงานสถิติแห่งชาติ ประเทศไทย มีเด็กปฐมวัย อายุ 0-6 ปี จำนวน 4.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 7.5 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ
เป็นวัยที่จะต้องได้รับการพัฒนาเลี้ยงดู เอาใจใส่จากพ่อแม่ผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการสนับสนุนการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กในช่วงนี้ให้มีคุณภาพทั้งโภชนาการ การเลี้ยงดู เพราะเป็นวัยที่มีการเรียนรู้มากที่สุดในวงจรชีวิตมนุษย์สมองเด็กวัยนี้จะเจริญเติบโตและมีน้ำหนักถึงร้อยละ 80 ของผู้ใหญ่ โดยมีการสร้างเครือข่ายของสมองและพัฒนาจุดเชื่อมต่อระบบเซลล์ประสาทมากกว่าช่วงอื่นๆ ของชีวิต
แต่จากการสำรวจสถานการณ์การพัฒนาศูนย์เด็กเล็กในประเทศไทยของสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ปี 2552 พบว่ามีศูนย์เด็กเล็กทุกสังกัดทั่วประเทศรวม 20,043 แห่ง อยู่ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กระทรวงมหาดไทย 17,821 แห่ง นอกนั้นอยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรุงเทพมหานคร กระทรวงกลาโหม และกระทรวงแรงงาน มีเด็กอายุระหว่าง 2 ขวบครึ่ง - 5 ขวบ อยู่ในศูนย์เด็กเล็กทุกสังกัด ประมาณ 942,583 คน คิดเป็นร้อยละ 37 ของจำนวนเด็กปฐมวัยในประเทศไทย
จากการสำรวจพบว่ามีศูนย์เล็กจำนวนหนึ่งยังขาดความพร้อม ทั้งในด้านคุณภาพ มาตรฐาน การดูเด็กเล็ก โดยศูนย์เด็กเล็กในสังกัด อปท. จำนวน 17,821 แห่งทั่วประเทศนี้ พบว่าศูนย์เด็กเล็กร้อยละ 40 มีของเล่นไม่เพียงพอกับจำนวนเด็ก ร้อยละ 37 ของเล่นที่มีอยู่มีสภาพชำรุด รอการซ่อมแซม ร้อยละ 24 ห้องน้ำมีสภาพชำรุด ขณะที่ร้อยละ 3.8 มีปัญหาที่ไม่สามารถจัดหาที่นอนให้เด็กนอนได้
ปัญหาที่พบบ่อยที่สุดในศูนย์เด็กเล็ก คือ การพลัดตาหกล้ม คิดเป็นร้อยละ 28.6 ส่วนด้านสุขภาพและพัฒนาการ มีเด็กฟันผุสูงถึงร้อยละ 92 ไม่จัดกิจกรรมแปรงฟันหลังอาหารกลางวัน ร้อยละ 2.4 มีหนังสือนิทานไม่เพียงพอ ร้อยละ 60 จัดกิจกรรมเล่านิทานให้เด็กฟังทุกวันร้อยละ 35.6 ในด้านผู้ดูแลเด็ก พบว่า ขาดขวัญและกำลังใจในการทำงาน ร้อยละ 51 ขาดความรู้และทักษะในการเลี้ยงดูเด็ก
นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
เลขาธิการมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
รหัสข่าว: B-100305038013