คงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ข้อมูลเรื่อง "อายุ" มีความสำคัญและประโยชน์มากมายเพียงใดการทำความเข้าใจถึงความสำคัญและประโยชน์ของฐานข้อมูลชุดนี้ยังมีอีกมากมาย ในยุคที่การสื่อสารไร้พรมแดนและสังคมที่มีความสลับซับซ้อนเช่นปัจจุบันข้อมูลที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ ประชากรต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้เป็นที่ต้องการของหน่วยงานต่างๆ เป็นอย่างมาก และสำมะโนประชากรและเคหะนับเป็นแหล่งข้อมูลเดียวที่จะให้ข้อมูลเรื่องนี้ได้อย่างครบถ้วนถูกต้อง
หลายคนอาจจะมีข้อสงสัยว่า "ประชากรต่างชาติจะถูกนับในสำมะโนประชากรด้วยหรือ" ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ใครบ้างที่จะถูกนับในสำมะโนประชากร? คนที่จะถูกนับในสำมะโนประชากรก็คือคนไทยทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย คนไทยที่ไปต่างประเทศชั่วคราว และคนต่างชาติที่มาอยู่ในประเทศไทยเกิน 3 เดือน สำหรับประเทศไทยประชากรกลุ่มนี้ คาดว่าจะมีจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว โดยเฉพาะต่างชาติที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านของไทยนั่นเอง โดยข้อมูลประชากรต่างชาติของสำมะโนประชากรถูกแยกด้วยข้อถาม "สัญชาติ" ซึ่งต้องถามทุกคนที่ถูกสัมภาษณ์
ข้อมูลจากสำมะโนประชากรจะทำให้เห็นกลุ่มประชากรชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยว่ามีความหลากหลายแค่ไหน แต่ละเชื้อชาติมีจำนวนมากน้อยเพียงไร กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ใดบ้าง มีความเป็นอยู่อย่างไร ทำงานในอาชีพอะไรบ้าง เป็นต้น ประชากรต่างชาติในประเทศ ก็นับเป็นส่วนหนึ่งของประชากรในประเทศที่ต้องการบริการด้านต่างๆ จากทั้งภาครัฐและเอกชน ข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญใช้ในการกำหนดนโยบายและมาตรการที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เช่น การบริการด้านสุขภาพ การศึกษา การทำงาน เป็นต้น
การเข้าถึงประชากรกลุ่มนี้ในแต่ละพื้นที่มีความยากง่ายแตกต่างกันไป สำนักงานสถิติแห่งชาติจึงมีการศึกษาและกำหนดกลยุทธ์ในการเก็บข้อมูลประชากรกลุ่มนี้ โดยการสร้างเคือข่ายการทำงานกับสถาบันการศึกษาต่างๆ เช่น สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และองค์กรระหว่างประเทศ เช่น World Bank, United Nations Population Fund (UNFPA), Internation Organization for Migration (IOM) ในการร่วมกันศึกษาวิธีการจัดทำสำมะโนประชากรให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถเข้าถึงและเก็บรวบรวมข้อมูลจากประชากรกลุ่มนี้ได้ นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายเอกชนและองค์กรต่างๆ ในระดับพื้นที่ เช่น สภาหอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้การสนับสนุนพร้อมทั้งร่วมกันประชาสัมพันธ์และอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ในการเข้าเก็บข้อมูลในพื้นที่
เนื่องจากในวันที่ 8 มีนาคมนี้ เป็น วันสตรีสากล ข้อมูลจากสำมะโนประชากรก็สามารถบอกถึงสถานการณ์ในด้านต่างๆ องผู้หญิงได้ เช่น การศึกษา การทำงาน และการย้ายถิ่นของผู้หญิง เป็นต้น จะเป็นได้ว่าฐานข้อมูลสำมะโนประชากร เต็มไปด้วยข้อมูลที่มีคุณค่าและประโยชน์มากมายมหาศาล สำนักงานสถิติแห่งชาติจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการจัดทำสำมะโนประชากรของ ประเทศไทย ในวันที่ 1-31 กรกฎาคม 2553 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พวกเราทุกคนในประเทศไทยจะช่วยกันนับ "คนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย" ให้มีความถูกต้องและครบถ้วนที่สุดเพื่อให้ได้ "ข้อมูลเพื่อแผ่นดิน" อันจะเป็นประโยชน์ที่จะสะท้อนกลับมายังทุกคนที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทย
เหลืออีก 115 วัน ร่วมสร้างประวัติศาสตร์ทำ "สำมะโนประชากรและเคหะ 2553"
บรรยายใต้ภาพ
การสนทนากลุ่มย่อมเฉพาะประชากรข้ามชาติ จ.ตาก --จบ--
--มติชน ฉบับวันที่ 8 มี.ค. 2553 (กรอบบ่าย)--
รหัสข่าว: B-100308020002