หูหนวกขอล่ามมือให้หลักประกันบรรจุเป็นขรก.

ข่าวทั่วไป Wednesday April 7, 2010 12:28 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

พม.เผยสถานการณ์คนหูหนวกขาดแคลนล่ามภาษามือ ทำให้ขาดโอกาสเข้าถึงสิทธิประโยชน์และบริการทางสังคม ระบุล่ามทั่วประเทศมีเพียงกว่า 300 คน ขณะที่ผู้พิการทางการได้ยินมีจำนวนมากถึง 7 แสนคน สมาคมล่ามภาษามือฯ เร่งผลิตบุคลากรรองรับคนหูหนวก วอน พม.เร่งบรรจุล่ามภาษามือเป็นข้าราชการสายวิชาชีพ

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ที่โรงแรมเอสดี อเวนิว ปิ่นเกล้า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดงานเปิดตัวระบบบริการล่ามภาษามือสำหรับคนหูหนวกเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยนายอิสสระ สมชัย รมว.พม. กล่าวว่า ผู้พิการทางการได้ยินและสื่อความหมายมีปัญหาในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร หรือการได้รับสิทธิประโยชน์และบริการทางสังคม จึงจำเป็นต้องจัดหาล่ามภาษามือขึ้นอย่างเป็นระบบ เพื่อให้บริการคนหูหนวกได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเปิดให้ล่ามภาษามือขึ้นทะเบียนกับทาง พม. ขณะนี้มีจำนวนกว่า 300 คน แต่จำนวนคนหูหนวกทั่วประเทศจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2550 มีประมาณ 700,000 คน ส่วนคนหูหนวกที่มาจดทะเบียนคนพิการมีจำนวน 140,000 คน ซึ่งมีบัตรประจำตัวและได้รับสิทธิเข้าถึงบริการล่ามภาษามือกับ พม.ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

นางกิ่งแก้ว อินหว่าง เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.) พม. กล่าวว่า การให้บริการล่ามภาษามือสำหรับคนหูหนวกมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ และเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติว่าด้วยบริการล่ามภาษามือ พ.ศ.2552 นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยเริ่มจัดให้มีระบบบริการล่ามภาษามือ ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมบริการทางสังคม โดยมีค่าตอบแทนให้ผู้ปฏิบัติงานที่จะเป็นสื่ออำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ของคนพิการสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทุกด้าน รวมทั้งได้รับบริการทางสังคมได้อย่างเต็มศักยภาพเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป

"เมื่อ พม.เปิดให้ล่ามภาษามือมายื่นจดทะเบียนแล้ว หากคนหูหนวกต้องการขอรับบริการล่ามภาษามือ ก็มายื่นคำขอรับบริการได้ใน 4 กรณี ได้แก่ 1.ใช้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข 2.สมัครงานหรือติดต่อประสานงานด้านการประกอบอาชีพ 3.ร้องทุกข์กล่าวโทษ หรือเป็นพยานในชั้นพนักงานสอบสวน และ 4.เข้าร่วมประชุมสัมมนาและฝึกอบรม โดยในเขตกรุงเทพฯ ให้ยื่นคำขอต่อกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ส่วนต่างจังหวัดให้ยื่นติดต่อขอใช้บริการได้ที่สำนักงานการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ" เลขาธิการ พก.กล่าว

นางกิ่งแก้วกล่าวอีกว่า ขอเชิญชวนให้ผู้พิการทางการได้ยินรีบมาจดทะเบียนรับบัตรประจำตัวผู้พิการ เพื่อขอรับสิทธิในการใช้บริการล่ามภาษามือ ขณะเดียวกัน พม.ร่วมกับเครือข่ายภาครัฐ เอกชน องค์กรคนพิการ และสมาคมล่ามภาษามือแห่งประเทศไทย เตรียมพร้อมผลิตบุคลากรเป็นล่ามภาษามือเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับจำนวนคนพิการ เนื่องจากขณะนี้สัดส่วนจำนวนล่ามภาษามือต่อคนหูหนวกมีอัตราอยู่ที่ 1 ต่อ 400 คน แต่ตั้งเป้าหมายให้มีล่ามภาษามือเพิ่มขึ้นในอัตราส่วน 1 ต่อ 50 คน ถึงจะเพียงพอต่อความต้องการของผู้พิการทางการได้ยิน

"สาเหตุที่ล่ามภาษามือมีจำนวนน้อย เพราะไม่มีความมั่นคงในอาชีพ ส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัครและทำเป็นอาชีพเสริม ได้รับค่าตอบแทนครั้งละ 300-500 บาท อย่างไรก็ดี พม.เตรียมผลักดันให้ล่ามภาษามือได้ก้าวไปสู่อาชีพข้าราชการ โดยทำหนังสือไปถึงสำนักงาน ก.พ.เพื่อพิจารณาอนุมัติล่ามภาษามือเป็นข้าราชการสายวิชาชีพแล้ว" นางกิ่งแก้วกล่าว

ด้าน ดร.มลิวัลย์ ธรรมแสง นายกสมาคมล่ามภาษามือแห่งประเทศไทย ระบุว่า วิธีที่จะช่วยให้คนหูหนวกได้เข้าถึงสิทธิประโยชน์และกิจกรรมทางสังคมต่างๆ ได้นั้น ไม่เพียงแต่เร่งผลิตล่ามภาษามือเท่านั้น หากยังต้องเพิ่มการเรียนรู้ภาษามือขั้นพื้นฐานให้ได้มากที่สุด เช่น บรรจุภาษามือเบื้องต้นเป็นวิชาเลือกในโรงเรียน เพื่อสื่อสารกับคนหูหนวกได้อย่างถูกต้อง อีกทั้งสถาบันที่ผลิตล่ามภาษามือมีเพียง 2 แห่งเท่านั้น คือ วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี และมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต มีหลักสูตรล่ามระยะสั้น

"อาชีพล่ามภาษามือเป็นงานเชิงวิชาการและสังคม ต้องใช้ความอดทนและความชำนาญสูง แต่เมื่อเรียนจบแล้วกลับไม่มีงานทำเป็นหลักแหล่งและมั่นคง สมาคมฯ จึงได้เสนอให้ พม.เร่งบรรจุล่ามภาษามือเข้าเป็นข้าราชการ เพราะเป็นหน่วยงานที่มีภาระหน้าที่ดูแลคนพิการโดยตรง" ดร.มลิวัลย์กล่าว.

ที่มา: http://www.thaipost.net

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ