ภาวะโรคอ้วน ภัยเงียบเด็กไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday April 7, 2010 13:55 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

ความอวบอั๋นของเด็กตาแป๋วที่หลายคนมองว่าน่ารัก อาจมีภัยเงียบที่พร้อมคร่าชีวิต มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จัดเสวนาเรื่อง "โรคอ้วน...ภัยเงียบที่คุกคามเด็กไทย"

ศ.น.พ.ปิยมิตร ศรีธรา ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจหลอดเลือดและเมแทบอลิซึม รองหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัญหาอ้วนในบ้านเราเพิ่มขึ้นตลอด มีการสำรวจสภาวะของประเทศไทย พบว่าหญิงไทยอายุเกิน 15 ปี อยู่ในภาวะอ้วน เกินร้อยละ 40 ชายร้อยละ 32 โรคที่เกี่ยวข้องกับความอ้วนคือโรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง สถานการณ์ในบ้านเราหญิงไทยเอวใหญ่กว่าประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชียมาก

รศ.รังสรรค์ ตั้งตรงจิต ภาควิชาโภชนศาสตร์เขตร้อน และวิทยา ศาสตร์อาหาร คณะเวชศาสตร์เขตร้อน กล่าวว่า อ้วนเป็นพันธุกรรมส่วนหนึ่ง มาจากความผิดปกติของโปรตีนที่ทำให้ยีนเกิดการเปลี่ยน แปลง ในเด็กแรกเกิดน้ำหนัก 4 กิโลกรัมขึ้นไป ร้อยละ 75 ในอนาคตอ้วนแน่ๆ เพราะมีเซลล์ตั้งต้นในร่างกายสูง แต่ถ้าเราทราบหรือรับรู้ถึงอัตราเสี่ยง จะควบคุมโรคเรื้อรังไม่ติดต่อนี้ให้ลดต่ำลงได้ แต่เป็นเรื่องยากเพราะเกี่ยวกับฮอร์โมนด้วย นอกจากนี้คนอ้วนมีภาวะโภชนาการเกิน ร่างกายยังขาดวิตามินซี สังกะสีและทองแดง ซึ่งแร่ธาตุปริมาณน้อยเหล่านี้มีไว้ต่อสู้ภาวะเครียด

รศ.พ.ญ.จีรันดา สันติประภพ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า เมื่อก่อนเราถูกสอนว่าเบาหวานมี 2 ชนิดคือ 1.เบาหวานในเด็กที่ขาดอินซูลิน พบในเด็กและวัยรุ่น 2.เบาหวานในผู้ใหญ่ ที่เกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน มักเกิดจากภาวะอ้วน มีประวัติครอบครัวเป็นเบาหวาน ในอดีตเราจะบอกว่าเบาหวานชนิดที่ 2 เกิดเฉพาะในผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไป จากงานวิจัยย้อนหลังคนไข้ 10-20 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนของคนไข้เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเกิดจากภาวะดื้ออินซูลินมีร้อยละ 5 ผ่านมา 20 ปีสูงขึ้นถึงร้อยละ 30 จนถึงปี 2552 พบว่ามีคนไข้เบาหวานชนิดที่ 2 รายใหม่เพิ่มขึ้นเดือนละ 1-2 คน มากเท่ากับเบาหวานชนิดที่ 1 ฉะนั้นอนาคตของเด็กไทยสัดส่วนอาจจะเป็น 50-50

รศ.พ.ญ.จีรันดา กล่าวต่อว่า จากการทำโครงการลดน้ำหนักเด็กอ้วน โรคทางเดินหายใจอุดกลั้น พบบ่อยและน่ากลัว เด็กจะนอนกรน มีภาวะขาดออกซิเจน นอนหลับไม่สนิทและนอนกระสับกระส่าย ฉี่รดที่นอน หรือนอนกลางคืนเหมือนหยุดหายใจไปขณะหนึ่งแล้วหายใจเฮือกขึ้นมา ภาวะทางเดินหายใจอุดกลั้นนานๆ ออกซิเจนในเลือดต่ำนานๆ สิ่งที่ตามมาคือหัวใจจะเพิ่มความดันในช่องปอด ทำให้หัวใจด้านขวาโต จนถึงภาวะหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้ในที่สุด

มีคนไข้เด็กอายุ 10 ปี เสียชีวิตแล้วจากภาวะอ้วน เพราะถ้าเราอ้วนมากจะมีน้ำหนักแบกรับอยู่ที่หน้าอก และไขมันสะสมอยู่ใต้ผิวหนังรอบคอ เวลาเรานอนหลับทุกอย่างผ่อนคลาย ไขมันที่สะสมทำให้ท่อทางเดินหายใจหลอดลมถูกกดบีบลงได้ ทำให้หลับไม่สนิท ตอนกลางวันเด็กมักจะง่วงนอน การเรียนแย่ลง สมาธิสั้น เด็กๆ ดูไม่สดชื่น เด็กกลุ่มนี้จะกินเยอะ มีฮอร์โมนความเครียดหลั่งมาเยอะ กระตุ้นให้หิว

รศ.พ.ญ.จีรันดา กล่าวถึงปัญหาของเด็กที่มักไม่มาพบแพทย์ว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเรียน ถ้านัดตรงกับเวลาเรียนมักผิดนัด พบมากโดยเฉพาะเด็กเก่งที่อยู่ในโรงเรียนที่เรียนหนัก จะเป็นโรคอ้วนกันเยอะ ไม่อยากขาดเรียนมาพบหมอ ด้วยเด็กมีเหตุผลต้องเรียนพิเศษทุกวัน นอกจากนี้เด็กต้องกินเร็ว มีเวลาน้อย และไม่มีเวลาออกกำลังกาย พอเลิกเรียนต้องเรียนพิเศษ อยู่ในรถอีก 1 ชั่วโมงกว่าจะกลับบ้านถึงบ้าน ทำการบ้าน ดูทีวี

การป้องกันปัญหาของเด็กอ้วนสำคัญมากกว่าการตั้งรับ ต้องออกสื่อให้เกิดความตระหนักว่าเป็นความตายที่อยู่ต่อหน้า ไม่ใช่แค่โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ความดัน ไขมันในเลือดสูง กล้ามเนื้อหัวใจตาย แต่ภาวะความอ้วนทำให้เด็กผู้หญิงเป็นหนุ่มเป็นสาวเร็ว ซึ่งมาพร้อมกับโรคอื่นๆ ด้วย

อ.อุรุวรรณ แย้มบริสุทธิ์ จากสถาบันโภชนาการ กล่าวถึงสถานการณ์ของโรคอ้วนว่า จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จากการสุ่มสำรวจทุกภาครวม 9,400 ราย พบเด็กอ้วนร้อยละ 6.9 ขณะที่โรงพยาบาลเด็กเก็บข้อมูลเด็กกรุงเทพฯ อายุ 2-7 ขวบ พบว่ามีเด็กอ้วนร้อยละ 16.4 ในปี 2547 กรมอนามัยสำรวจเด็กวัยเรียน อายุ 6-14 ปี พบถึงร้อยละ 15 หากดูภาพรวมจากการสุ่มจากที่ต่างๆ เหมือนไม่มาก แต่ถ้าไปเจาะที่โรงเรียนสาธิตหรือโรงเรียนเอกชน คาดว่าตัวเลขจะสูงพุ่งขึ้นไปถึงร้อยละ 25-30

เด็กอ้วนมีความชุกทั้งคนที่มีสตางค์และยากจน เพราะพ่อแม่ไม่มีเวลาเตรียมอาหาร ให้แค่สตางค์ เขาก็ต้องไปซื้อกินรอบๆ โรงเรียน เป็นอาหารง่ายๆ การปรับพฤติกรรมใช้เวลานาน และเป็นเรื่องยากในการทำให้น้ำหนักลดลง เป้าหมายของเราคือต้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่พฤติกรรมถาวร ครอบครัวเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเรื่องนี้ได้

ผศ.ดร.เรวดี จงสุวัฒน์ ภาควิชาโภชนาวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ กล่าวว่า ในเด็กอนุบาลจะกินผักมาก ด้วยกิจกรรมในการศึกษามีส่วนช่วย แต่พอเด็กเริ่มโตจะเริ่มลดลง หลักสูตรโภชนาการอยู่ในวิชาสุขศึกษา เมื่ออยู่ชั้นประถม-มัธยม เรื่องเหล่านี้มันหายไปเนื่องจากค่านิยมที่ว่าเมื่อมีเวลาต้องไปติว ไปเรียนพิเศษ ชั่วโมงเรียนวิชาพละก็ไม่ครบ ครูพละไม่พอ และต้องสอนทุกห้องรวมถึงวิชาสุขศึกษาด้วย

ขณะที่ผู้ปกครองก็ไม่เรียกร้อง โรงอาหารก็ไม่พร้อม ทำให้เด็กชินกับการกินเร็วและกินเยอะ จากการสัมภาษณ์เชิงลึก แม่ยืนยันว่าลูกกินเร็ว และโยงไปถึงผู้ปกครองไม่มีความรู้โภชนาการ แม้เขาต้องการช่วยเหลือแต่ไม่รู้ไปหาที่ไหน จึงหันเข้ามาหากลุ่มเพื่อนที่นำผลิตภัณฑ์อาหารเสริมราคาแพงมาขาย

"เรื่องเหล่านี้กระทรวงศึกษาธิการต้องทำงานจริงจังในเรื่องหลักสูตร และในฐานะที่ตนเองเป็นนักโภชนาการ ฝันว่าโภชนาการน่าจะเป็นวิชาบังคับเรียนจนถึงระดับมหาวิทยาลัย"

--ข่าวสด ฉบับวันที่ 17 มี.ค. 2553 (กรอบบ่าย)--

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ