สุกัญญา เงาสุรัชนีสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และวิเคราะห์ความเสี่ยงThe Institute of Strategies and Analysis of Risk
www.theistar.org
ตัวเลขการส่งออก (ข้อมูลกรมส่งเสริมการส่งออก) ในเดือน ก.พ.ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น และเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ถ้าพิจารณาเฉพาะ 2 เดือนแรกของปีนี้ พบว่ามีการเพิ่มขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดยมีหมวดสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมการเกษตรมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง42.1% ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 21.1% ยกเว้นอัญมณีและเครื่องประดับลดลง72.9% และทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูปลดลง 90.6% สอดคล้องกับดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวสูงขึ้นและอัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือน ม.ค. 53 ในอัตรา60% สูงขึ้นจากอัตราเฉลี่ยปี 2552 อยู่ 4% (ข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม)
ในส่วนของแรงงาน กลับพบว่ามีปัญหาแรงงานขาดแคลน โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยระบุว่า ในภาพรวมมีการขาดแคลนแรงงานถึง 3 แสนคน เมื่อพิจารณาตัวเลขการว่างงานจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ(สสช.) พบว่าในปีที่แล้ว มีผู้ว่างงานในเดือน ม.ค. 52 จำนวน 8.8 แสนคน เป็นผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 1.5 แสนคน เคยทำงานในภาคการผลิต 3.2 แสนคน ภาคบริการ 2.1 แสนคน และภาคการเกษตร 2 แสนคน เมื่อเทียบกับข้อมูลล่าสุดคือเดือนม.ค.53 ของ สสช. พบว่าจำนวนผู้ว่างงานลดลงเหลือ 5.3 แสนคนแสดงว่ามีการจ้างงานกลับ 3.5 แสนคน เป็นผู้ที่เคยทำงานมาก่อนในภาคการผลิต 1.7 แสนคน ภาคบริการ 7 หมื่นคน ภาคการเกษตร 9 หมื่นคนและคนไม่มีประสบการณ์ 3 หมื่นคน
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาผู้อยู่ในกำลังแรงงาน (ผู้พร้อมทำงาน) ของเดือน ม.ค. 53 พบว่าเพิ่มขึ้นจาก ม.ค. 52 อยู่ 8.4 แสนคน โดยเพิ่มขึ้นในภาคการเกษตรกว่าครึ่งคือ 4.4 แสนคนและเพิ่มในภาคบริการ 1.05 ล้านคน หมายความว่าคนที่มีงานทำอยู่แล้วมีการเปลี่ยนงานจากภาคการผลิตไปภาคบริการหรือภาคการเกษตรถึง 2.3 แสนคน ดังนั้น แรงงานที่ขาดหายจึงน่าจะมาจากการย้ายภาคส่วนในการทำงานเสียมากกว่า ดังนั้น การแก้ปัญหาแรงงานขาดหายเร่งด่วน ซึ่งจากข้อมูล สสช. ผู้ว่างงานส่วนใหญ่ 2.2 แสนคนอยู่ในภาคอีสาน และ 1.2 แสนคนอยู่ในภาคกลาง ก็ควรเสนอสิ่งจูงใจ เช่น กระทรวงแรงงานจัดงาน job fair ที่จังหวัดใหญ่ๆ จัดรถไปรับถึงที่ และการปรับฐานค่าจ้างและสวัสดิการ
นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่การขาดแคลนแรงงานจะเกิดขึ้นต่อเนื่องและรุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปจะทำให้มีแรงงานเข้าสู่ระบบน้อยลง ราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นอันเนื่องมาจากสามารถเป็นได้ทั้งอาหารและพลังงานทดแทนจะทำให้แรงงานหันไปประกอบอาชีพเกษตรมากขึ้น รวมไปถึงความไม่สอดคล้องระหว่างการศึกษากับความต้องการของตลาดแรงงานเมื่อดูข้อมูลจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของ สสช. พบว่าประชากรอายุระหว่าง15-39 ปี มีจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยสูงขึ้น จากปี 2547 มีจำนวนเฉลี่ย9.7 ปี จนถึงปี 2551 มีจำนวนเฉลี่ย10.3 ปี ประกอบกับนโยบายการให้เรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ (ถ้าทำได้จริง) ในขณะที่แรงงานจำนวนมากๆ ที่ต้องการนี้จะเป็นคนงานผลิตที่โรงงานมักจะต้องการวุฒิไม่สูงกว่าม.6 หรือมีการศึกษา 12 ปี (การทำให้ประชาชนชาวไทยมีการศึกษาเพิ่มขึ้นเป็นสิ่งดีที่สมควรสนับสนุนเพราะการศึกษาเท่านั้นที่จะต่อสู้กับความยากจนได้) ดังนั้น โรงงานหลายๆแห่ง ถ้าไม่แย่งแรงงานกันเอง ก็จะต้องปรับโครงสร้างการใช้แรงงานเพราะจะหาแรงงานที่มีวุฒิไม่เกิน ม.6 ยากมากขึ้น ถ้าใช้การคำนวณง่ายๆ จากข้อมูลในอดีตว่า เวลา 4 ปีประชากรไทยมีจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยเพิ่มขึ้น0.6 ปี ก็น่าจะต้องใช้เวลาอย่างช้าประมาณ 12 ปีที่จะทำให้จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของคนไทยอายุระหว่าง15-39 ปีสูงกว่า12 ปี ดังนั้น โรงงานจะต้องปรับตัวในระยะยาวโดยพิจารณาการปรับโครงสร้างการใช้แรงงานอาจจะต้องหันไปพัฒนาการใช้เครื่องเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตให้มากขึ้น หรือหาลู่ทางในการจ้างผู้รับเหมารายย่อยในประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะอาฟตาที่มีภาษีศุลกากรระหว่างกันเป็น 0% รวมไปถึงรัฐควรหาแนวทางที่จะนำแรงงานมาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเป็นระบบให้มากกว่านี้
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
รหัสข่าว: B-100325021047