สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจการใช้พลังงานของครัวเรือน พ.ศ. 2552 จากครัวเรือนตัวอย่าง เพื่อจัดทำผลสรุปเกี่ยวกับสถานการณ์การใช้พลังงาน ซึ่งเป็นข้อมูลตั้งแต่เดือนมกราคม - ธันวาคม 2552 โดยเก็บรวบรวมข้อมูลในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทั้งในเขตและนอกเขตเทศบาลประมาณ 52,000 ครัวเรือน
ข้อมูลที่ได้ทำการสำรวจ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ได้แก่น้ำมัน และก๊าซชนิดต่างๆ และการใช้พลังงานในรูปอื่น (ไฟฟ้า ถ่านไม้และฟืน) ผลจากการสำรวจสรุปได้ดังนี้
ผลจากการสำรวจในปี 2552 พบว่าครัวเรือนทั่วประเทศมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นเฉลี่ยเดือนละ 16,205 บาท เป็นค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน 1,638 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10.1 ของค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ซึ่งค่าใช้จ่ายด้านพลังงานส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70.5)เป็นค่าใช้จ่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันเบนซิน(ร้อยละ 28.5) น้ำมันดีเซล (ร้อยละ 21.1) แก๊สโซฮอล์(ร้อยละ 10.7) น้ำมันเครื่องและน้ำมันหล่อลื่นอื่น ๆ (ร้อยละ 4.3) ค่าแก๊สใช้ในครัวเรือน (ร้อยละ 3.7) ค่าก๊าซ NGV และ LPG (ร้อยละ 1.3) และน้อยที่สุด คือน้ำมันไบโอดีเซล (ร้อยละ 0.9) นอกจากนี้เป็นค่าใช้จ่ายพลังงานอื่น ร้อยละ 29.5 ของค่าใช้จ่ายด้านพลังงานทั้งสิ้น กล่าวคือโดยเฉลี่ยมีการจ่ายค่าไฟฟ้า (ร้อยละ 26.9) และค่าถ่านไม้และฟืน (ร้อยละ 2.6)
สำหรับค่าใช้จ่ายด้านพลังงานโดยรวมของครัวเรือนในภาคต่างๆ ในปี 2552 พบว่า ครัวเรือนในกรุงเทพมหานครและ 3 จังหวัด (นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ) ใช้จ่ายด้านพลังงานมากที่สุดเฉลี่ยเดือนละ 2,667 บาท ซึ่งคิดเป็น 2.1 เท่าของครัวเรือนในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นภาคที่มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานน้อยที่สุดและใกล้เคียงกันคือเฉลี่ยเดือนละ 1,273 บาท และ 1,231 บาท ตามลำดับ รองลงมาได้แก่ครัวเรือนในภาคใต้ มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 1,805 บาท และครัวเรือนในภาคกลางเฉลี่ยเดือนละ 1,776 บาท
หากพิจารณาตามประเภทของพลังงาน พบว่าครัวเรือนในกรุงเทพมหานคร และ 3 จังหวัด (นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ) มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสูงกว่าครัวเรือนในภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะค่าไฟฟ้ามากที่สุด คือเฉลี่ยเดือนละ 955 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งคิดเป็น 3.6 เท่าของครัวเรือนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นภาคที่มีการใช้ไฟฟ้าน้อยที่สุด (เฉลี่ยเดือนละ 268 บาท) สำหรับน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลครัวเรือนในภาคใต้มีค่าใช้จ่ายมากที่สุด คือเฉลี่ยเดือนละ 643 บาทและ 441 บาทต่อครัวเรือน ตามลำดับ เนื่องจากหลายจังหวัดในภาคใต้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ทำให้มีธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยวโดยใช้พาหนะหลายประเภท ซึ่งยังคงใช้น้ำมันเบนซินทั้งที่ใช้ในครัวเรือนและใช้ในธุรกิจของครัวเรือนส่วนครัวเรือนที่ประกอบอาชีพด้านการเกษตรและการประมงส่วนใหญ่ใช้น้ำมันดีเซลสำหรับเรือประมงขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก และใช้ในการขนส่งผลผลิตด้วย รองลงมาได้แก่ครัวเรือนภาคกลาง มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 499 บาทและ 426 บาทต่อครัวเรือน ตามลำดับ และครัวเรือนใน ภาคเหนือมีค่าใช้จ่ายดังกล่าวน้อยที่สุด เฉลี่ยเดือนละ 384 บาท และ 275 บาทต่อครัวเรือน ส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับแก๊สใช้ในครัวเรือน พบว่า ครัวเรือนในภาคใต้มีค่าใช้จ่ายมากที่สุดคือเฉลี่ยเดือนละ 90 บาทต่อครัวเรือน ในขณะที่ครัวเรือนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีค่าใช้จ่ายดังกล่าวน้อยที่สุดคือเฉลี่ยเดือนละ 50 บาทต่อครัวเรือน แต่มีค่าใช้จ่ายถ่านไม้และฟืนมากที่สุดเฉลี่ยเดือนละ 84 บาทต่อครัวเรือน
เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของครัวเรือนทั่วประเทศ ปี 2551 และปี 2552 พบว่า ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเฉลี่ยต่อเดือน โดยรวมมีแนวโน้มลดลงกล่าวคือจาก 1,780 บาทเป็น 1,638 บาท หรือลดลงร้อยละ 8.0 ต่อปี ซึ่งค่าใช้จ่ายด้านพลังงานโดยรวมลดลง โดยเฉพาะค่าน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซล กล่าวคือ ค่าน้ำมันเบนซินจาก 571 บาท เป็น 467 บาท และน้ำมันดีเซลจาก 440 บาท เป็น 346 บาท ในขณะที่ค่าใช้จ่ายแก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้นจาก 142 บาท เป็น 175 บาท สำหรับค่าไฟฟ้ามีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นไม่มากนักคือจาก 431 บาท เป็น 440 บาท
หากพิจารณาเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของครัวเรือนทั่วประเทศเป็นรายภาค ปี 2551 และปี 2552 พบว่าครัวเรือนทุกภาคมีค่าใช้จ่ายดังกล่าวเฉลี่ยต่อเดือนลดลง และภาคที่มีค่าใช้จ่ายลดลงมากที่สุดได้แก่ภาคกลาง กล่าวคือลดลงจาก 2,000 บาท เป็น 1,776 บาท ในขณะที่ครัวเรือนในกรุงเทพมหานคร และ 3 จังหวัด (นนทบุรี ปทุมธานีและสมุทรปราการ) มีค่าใช้จ่ายดังกล่าวลดลงจาก 2,788 บาทในปี 2551 เป็น 2,667 บาท ในปี 2552 รองลงมาได้แก่ภาคใต้ซึ่งลดลงจาก 1,976 บาท เป็น 1,805 บาท ภาคเหนือลดลงจาก 1,396 บาท เป็น 1,273 บาท และต่ำสุดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยลดลงจาก 1,331 บาท เป็น 1,231 บาท
เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของครัวเรือนทั่วประเทศ รายไตรมาส ปี 2551 และปี 2552 ผลจากการสำรวจพบว่า ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานมีแนวโน้มลดลง กล่าวคือไตรมาสที่ 1 ลดลงจาก 1,767 บาท ในปี 2551 เป็น 1,551 บาท ในปี 2552 และค่าใช้จ่ายดังกล่าวยังคงลดลงมาจนกระทั่งถึงไตรมาสที่ 3 สำหรับไตรมาสที่ 4 ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเพิ่มขึ้นจาก 1,697 บาท ในปี 2551 เป็น 1,749 บาท ในปี 2552 ทั้งนี้เนื่องจากราคาน้ำมันเกือบทุกประเภทมีราคาเพิ่มขึ้นแต่ความต้องการใช้พลังงานในชีวิตประจำวันยังคงมีความจำเป็นจึงทำให้ค่าใช้จ่ายดังกล่าวสูงขึ้น