การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2552

ข่าวทั่วไป Friday April 23, 2010 09:35 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2552 เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ค่าใช้จ่าย ภาวะหนี้สิน และทรัพย์สินของครัวเรือน ตลอดจนลักษณะที่อยู่อาศัย โดยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลทุกเดือน (มกราคม - ธันวาคม 2552) จากครัวเรือนตัวอย่างในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทั้งในเขตและนอกเขตเทศบาล จำนวนครัวเรือนตัวอย่างประมาณ 52,000 ครัวเรือน ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายที่นำเสนอเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่จำเป็นต้องใช้ในการ ยังชีพเท่านั้น จึงไม่รวมการสะสมทุน เช่น ซื้อบ้าน/ที่ดิน และเงินออม ซึ่งสรุปผลการสำรวจที่สำคัญ ได้ดังนี้

1. รายได้ครัวเรือน ปี 2552

จากผลการสำรวจ ในปี 2552 พบว่า ครัวเรือนทั่วประเทศ มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 20,903 บาท ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการทำงาน(ร้อยละ 72.0) ซึ่งได้แก่ ค่าจ้างเงินเดือน (ร้อยละ 40.3) จากการทำธุรกิจ(ร้อยละ20.3) และจากการทำการเกษตร(ร้อยละ 11.4) และมีรายได้ที่ไม่ได้เกิดจากการทำงาน เช่น เงินที่ได้รับความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นนอกครัวเรือน/รัฐ(ร้อยละ 10.2) รายได้จากทรัพย์สิน เช่นดอกเบี้ย(ร้อยละ1.6) นอกจากนั้นยังมีรายได้ในรูปสวัสดิการ/สินค้าและบริการต่างๆ(ร้อยละ 14.5)

2. ค่าใช้จ่ายของครัวเรือน1/

ปี 2552 ครัวเรือนทั่วประเทศ ในปี 2552 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 16,205 บาท ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ร้อยละ 34.2 เป็นค่าอาหารและเครื่องดื่ม (ซึ่งในจำนวนนี้มีค่าเครื่องดื่มที่เป็นแอลกอฮอล์ร้อยละ 1.4) รองลงมาเป็นค่าที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้ภายในบ้าน(ร้อยละ 20.1) ใช้เกี่ยวกับการเดินทางและยานพาหนะ(ร้อยละ 17.7) ใช้ส่วนบุคคล/เครื่องนุ่งห่ม/รองเท้า(ร้อยละ 5.4) ในการสื่อสารร้อยละ 3.1 ใช้ในการบันเทิง/ การจัดงานพิธีและในการศึกษาร้อยละ 2.3 และ 2.1 ตามลำดับ ค่าเวชภัณฑ์/ค่ารักษาพยาบาล(ร้อยละ 1.9) กิจกรรมทางศาสนามีเพียงร้อยละ 1.1 แต่อย่างไรก็ตามพบว่าค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค เช่น ค่าภาษี ของขวัญ เบี้ยประกันภัย ซื้อสลากกินแบ่ง/ หวย ดอกเบี้ย สูงถึงร้อยละ 12.1

3. หนี้สินของครัวเรือน ปี 2552

ครัวเรือนทั่วประเทศ มีหนี้สินร้อยละ 60.9 โดยมีจำนวนหนี้สินเฉลี่ย 134,699 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่(ร้อยละ 67.7) เป็นการก่อหนี้เพื่อใช้ในครัวเรือน คือซื้อบ้าน/ที่ดินร้อยละ 34.3 ใช้ในการอุปโภคบริโภคร้อยละ 30.8 และหนี้เพื่อใช้ในการศึกษามีเพียงร้อยละ 2.6 เท่านั้น สำหรับหนี้ใช้ทำธุรกิจจะสูงกว่าการเกษตร ร้อยละ 2.1

4. ครัวเรือนที่มีหนี้ในระบบ และนอกระบบ ปี 2552

ครัวเรือนทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เป็นหนี้สินในระบบ โดยเป็นครัวเรือนที่มีหนี้ในระบบอย่างเดียวร้อยละ 82.4 และเป็นครัวเรือนที่เป็นหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบร้อยละ 9.7 สำหรับครัวเรือนที่มีหนี้นอกระบบอย่างเดียว มีเพียงร้อยละ 7.9 และพบว่าจำนวนเงินเฉลี่ยที่เป็นหนี้ในระบบสูงกว่านอกระบบ ถึง 18 เท่า(127,715 และ 6,984 บาท ตามลำดับ)

5. จำนวนหนี้สินในระบบ และนอกระบบ จำแนกตามวัตถุประสงค์ ปี 2552

ครัวเรือนที่มีหนี้สินในระบบทั่วประเทศ ในปี 2552 พบว่าการก่อหนี้เพื่อใช้ในการซื้อบ้านและที่ดินสูงที่สุด คือร้อยละ 35.3 อาจเป็นผลจากมาตรการ การกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วยการลดภาษีในการซื้อ/โอนบ้าน รองลงมาใช้ในการอุปโภคบริโภค คือร้อยละ 30.6 สำหรับใช้ทำธุรกิจและทำการเกษตรใกล้เคียงกันคือร้อยละ 15.6 และ 14.3 ตามลำดับ ส่วนหนี้เพื่อใช้ในการศึกษามีเพียงร้อยละ 2.6 เท่านั้น

สำหรับครัวเรือนที่มีหนี้สินนอกระบบ ส่วนใหญ่เป็นการก่อหนี้เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค คือร้อยละ 33.8 รองลงมาเพื่อใช้ทำธุรกิจ ใช้ซื้อบ้านและที่ดิน และใช้ทำการเกษตร คือร้อยละ 27.7 17.0 และ 11.7 ตามลำดับ สำหรับหนี้เพื่อใช้ในการศึกษามีเพียงร้อยละ 2.7 เท่านั้น

6. การเปรียบเทียบรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สินของครัวเรือนรายภาค ปี 2552

เมื่อพิจารณารายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สินของครัวเรือนเป็นรายภาค พบว่ากรุงเทพ ฯ และ 3 จังหวัดคือ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ มีรายได้ต่อครัวเรือนเฉลี่ยสูงกว่าภาคอื่นมาก คือ 37,732 บาท โดยมีค่าใช้จ่ายและจำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงสุดเช่นเดียวกัน คือ 27,988 และ 199,608 บาท ตามลำดับ และมีสัดส่วนของค่าใช้จ่ายต่อรายได้ร้อยละ74.2 และพบว่าครัวเรือนในภาคกลางเป็นภาคที่มีสัดส่วนของค่าใช้จ่ายต่อรายได้สูงสุดถึงร้อยละ 81.6 ซึ่งจะทำให้เกิดการออม หรือชำระหนี้ได้น้อยมากเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ(ภาคใต้/เหนือ/ตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ระหว่างร้อยละ 75-80)

7. การเปรียบเทียบรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สินของ1/ ครัวเรือนปี 2552 ตามสถานะทางเศรษฐสังคมของครัวเรือน (ตามอาชีพ)

เมื่อพิจารณาตามอาชีพ พบว่าครัวเรือนลูกจ้างที่ปฏิบัติงานวิชาชีพ/นักวิชาการ/นักบริหาร มีรายได้เฉลี่ยสูงสุดถึง 48,745 บาท รองลงมา ได้แก่ครัวเรือนของผู้ดำเนินธุรกิจที่ไม่ใช่เกษตร เสมียน/พนักงาน/ผู้ให้บริการและครัวเรือนผู้ถือครองทำการเกษตรที่เช่าที่ดิน/ทำฟรี(26,697 20,169 และ 17,765 บาท ตามลำดับ) และรายได้ต่ำสุด คือครัวเรือนผู้ทำประมง/ป่าไม้/ล่าสัตว์/หาของป่า(8,818 บาท) และพบว่า ครัวเรือนอาชีพใดมีรายได้สูง ส่วนใหญ่จะมีค่าใช้จ่ายและจำนวนเงินที่เป็นหนี้สูงเช่นเดียวกัน

8. การเปรียบเทียบรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สิน1/ ต่อรายได้ ปี 2543 - 2552

เมื่อเปรียบเทียบรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สินต่อรายได้ พบว่า ครัวเรือนทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2543 ถึง 2552 มีรายได้เฉลี่ยมากกว่าค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการยังชีพ และพบว่ารายได้และค่าใช้จ่ายฯ ตั้งแต่ปี 2543 ถึง 2552 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือ รายได้เพิ่มจาก 12,150 เป็น 20,903 บาท และค่าใช้จ่ายฯ เพิ่มจาก 9,848 เป็น 16,205 บาท ตามลำดับ และเมื่อพิจารณาผลต่างของรายได้ และค่าใช้จ่ายฯ ในปี 2552 พบว่ารายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการยังชีพ 4,698 บาทต่อครัวเรือน หรือประมาณ 1,424 บาทต่อคน ซึ่งส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ในการชำระหนี้เช่น ชำระค่าเช่าซื้อบ้าน/ที่ดิน เป็นต้น หนี้สินต่อรายได้ครัวเรือนในปี 2547 จะสูงสุดเมื่อเทียบกับปีอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตาม พบว่ามีแนวโน้มลดลงตามลำดับ จาก 7.0 เท่า เป็น 6.3 เท่าในปี 2550 และเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ในปี 2552 เป็น 6.4 เท่า

9. การเปรียบเทียบอัตราร้อยละของครัวเรือนที่มีหนี้และจำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้น ปี 2543 - 2552

ในภาพรวมครัวเรือนที่มีหนี้ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่ปี 2543 ถึง 2547 จากร้อยละ 56.3 เป็น 66.4 แต่เริ่มมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2549 ถึง 2552 จากร้อยละ 64.4 เป็น 60.9 แต่จำนวนเงินที่เป็นหนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2543 ถึง 2552 คือ จาก 68,405 เป็น 134,699 บาท

10. การเปลี่ยนแปลงรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สิน1/ ของครัวเรือน ปี 2550 - 2552

เมื่อเปรียบเทียบอัตราการเปลี่ยนแปลงของรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สินของครัวเรือนทั่วประเทศ พบว่าเพิ่มขึ้น แต่ในอัตราการเพิ่มที่แตกต่างกัน กล่าวคือ รายได้มีอัตราการเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าใช้จ่ายเล็กน้อย(ร้อยละ 5.8 และ 5.7 ต่อปี ตามลำดับ) ทำให้สัดส่วนของค่าใช้จ่ายต่อรายได้ลดลงจากร้อยละ 77.7 ในปี 2550 เป็น 77.5 ในปี 2552 สำหรับหนี้ของครัวเรือน พบว่าครัวเรือนที่เป็นหนี้มีจำนวนลดลงร้อยละ 1.9 แต่จำนวนเงินที่เป็นหนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4

11. การเปรียบเทียบการกระจายรายได้ของครัวเรือน ปี 2550 - 2552

ในการวิเคราะห์การกระจายรายได้ โดยได้จัดแบ่งครัวเรือนทั่วประเทศเป็น 10 กลุ่มเท่าๆ กัน และนำมาเรียงลำดับตามรายได้ประจำต่อคนต่อเดือนจากน้อยไปมาก (กลุ่มที่ 1 มีรายได้ต่ำสุด และกลุ่มที่ 10 มีรายได้สูงสุด) พบว่า กลุ่มที่มีรายได้สูงสุด มีส่วนแบ่งของรายได้ประมาณ 33.5 ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุด มีส่วนแบ่งของรายได้เพียงร้อยละ 2.4 แต่อย่างไรก็ตาม พบว่าความเหลื่อมล้ำของรายได้มีแนวโน้มลดลง กล่าวคือครัวเรือนกลุ่มที่มีรายได้สูงสุดมีส่วนแบ่งของรายได้ลดลงจากร้อยละ 33.7 ในปี 2550 เป็น 33.5 ในปี 2552 ขณะกลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุดมีส่วนแบ่งของรายได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.2 ในปี 2550 เป็นร้อยละ 2.4 ในปี 2552 และพบว่า ค่าสัมประสิทธิ์ของความไม่เสมอภาค(Gini Coefficient) ด้านการกระจายรายได้ของครัวเรือนทั้ง 10 กลุ่ม มีค่าลดลงจาก 0.418 ในปี 2550 เป็น 0.408 ในปี 2552

สำหรับรายได้ประจำต่อคนต่อเดือน โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 5,494 บาท ในปี 2550 เป็น 6,319 บาท ในปี 2552 โดยเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่ม คือครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุด มีรายได้ประจำต่อคนต่อเดือนเพิ่มขึ้นจาก 24,142 เป็น 26,678 บาท และครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุด มีรายได้ประจำต่อคนต่อเดือนเพิ่มขึ้นจาก 1,001 เป็น 1,169 บาท

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ