สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ร่วมมือกับกรมสุขภาพจิต สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จัดทำการสำรวจสุขภาพจิตคนไทยไปพร้อมกับการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2552 (ซึ่งจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ ค่าใช้จ่าย ภาวะหนี้สิน และทรัพย์สินของครัวเรือน ตลอดจนลักษณะที่อยู่อาศัย โดยในแต่ละปีทำการเก็บรวบรวมข้อมูลทุกเดือน (มกราคม - ธันวาคม) จากครัวเรือนตัวอย่างในทุกจังหวัดทั่วประเทศจำนวนประมาณ 52,000 ครัวเรือน ทั้งในเขตและนอกเขตเทศบาล) โดยใช้ข้อถามสุขภาพจิตคนไทยฉบับสั้น 15 ข้อ1/ (ที่กรมสุขภาพจิตได้พัฒนาจากข้อถามฉบับสมบูรณ์ 54 ข้อ) โดยให้ผู้ตอบอายุ 15 ปีขึ้นไป สำรวจตัวเองและประเมินเหตุการณ์ อาการ ความคิดเห็น และความรู้สึกของตนในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา
สำหรับผลการสำรวจที่สำคัญจากผู้ตอบสัมภาษณ์ประมาณ 81,000 คน สรุปได้ดังนี้
1. การเปรียบเทียบสุขภาพจิตคนไทย ตามลักษณะ ที่สำคัญของประชากร ปี 2551 - 2552 2/
จากการสำรวจพบว่า ในปี 2552 คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปมีคะแนนสุขภาพจิตอยู่ที่ 33.09 คะแนน ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้สำหรับสุขภาพจิตของคนทั่วไป(คือ 27.01-34 คะแนน) และในจำนวนนี้เป็นผู้ที่มีสุขภาพจิต ต่ำกว่าคนทั่วไปร้อยละ 12.8 และผู้ที่สูงกว่าคนทั่วไปร้อยละ 37.7
เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2551 พบว่าคนไทยมีสุขภาพจิตโดยเฉลี่ยดีขึ้น(ปี 2551 31.80 คะแนน) โดยมีสัดส่วนของคนที่มีสุขภาพจิตสูงกว่าคนทั่วไปเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10 (จากร้อยละ 27.7 เป็นร้อยละ 37.7) และสัดส่วนของคนที่มีสุขภาพจิตต่ำกว่าคนทั่วไปลดลงร้อยละ 5.0(จากร้อยละ 17.8 เป็นร้อยละ 12.8)
- เพศและอายุ
เมื่อพิจารณาสุขภาพจิตของคนไทยตามเพศ และอายุ พบว่าเป็นไปในลักษณะเช่นเดียวกันทั้ง 2 ปี คือชายมีสุขภาพจิตดีกว่าหญิง และผู้ที่มีอายุ 40 - 59 ปี เป็นกลุ่มที่มีสุขภาพจิตสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่ากลุ่มอายุนี้มีอาชีพและฐานะทางการเงินที่มั่นคงมากกว่ากลุ่มอายุอื่น สำหรับกลุ่มคนสูงอายุ(60 ปีขึ้นไป) ในปี 2552 มีคะแนนสุขภาพจิต 32.89 คะแนน ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเท่ากับคนทั่วไป ถึงแม้ว่าจะมีคะแนนสุขภาพจิตต่ำกว่ากลุ่มอื่นๆเล็กน้อย แต่พบว่าคะแนนสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นจากปี 2550 มากกว่ากลุ่มอื่นๆ คือเพิ่มขึ้นถึง 1.45 คะแนน (จาก 31.44 คะแนน ในปี 2551 เป็น 32.89 คะแนน ในปี 2552)
- การศึกษาสูงสุด
จากการสำรวจ พบว่าระดับการศึกษาและสุขภาพจิตมีความสัมพันธ์ไปในทางเดียวกันทั้ง 2 ปี นั่นคือผู้ที่มีการศึกษาสูงกว่าจะมีสุขภาพจิตดีกว่าผู้ที่มีการศึกษาต่ำกว่า คือผู้ที่มีการศึกษาในระดับอุดมศึกษามีสุขภาพจิตดีที่สุด และผู้ที่ไม่มีการศึกษา/มีการศึกษาต่ำกว่าประถม มีสุขภาพจิตต่ำสุดทั้ง 2 ปี แต่อย่างไรก็ตาม พบว่ากลุ่มผู้ที่ไม่มีการศึกษาฯมีสุขภาพจิตดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คือเพิ่มจาก 30.29 เป็น 32.62 คะแนน อาจเป็นเพราะได้รับความช่วยเหลือจากนโยบายของรัฐบาลมากกว่ากลุ่มอื่น
- การมี/ได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาล
เมื่อพิจารณาสุขภาพจิตคนไทยในปี 2552 ตามการมี/ได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาล พบว่า ผู้ที่มี/ได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาล มีสุขภาพจิตดีกว่าผู้ที่ไม่มี/ไม่ได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาล ซึ่งอาจเนื่องจากรู้สึกว่าได้รับความคุ้มครองในชีวิตเมื่อยามเจ็บป่วย โดยผู้ที่มี/ได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาลจากราชการ/รัฐวิสาหกิจมีสุขภาพจิตดีกว่าผู้ที่มี/ได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาลจากแหล่งอื่นๆคือมีสุขภาพจิตสูงถึง 35.03 คะแนน ซึ่งสูงกว่าระดับสุขภาพจิตของคนทั่วไป รองลงมาคือผู้ที่มีประกันสุขภาพเอกชน/มีสวัสดิการรักษาพยาบาลมากกว่า 2 แหล่ง (ที่ไม่ใช่จากราชการ/รัฐวิสาหกิจ) (34.59 คะแนน) ในขณะที่ ผู้ที่มีเฉพาะประกันสุขภาพถ้วนหน้า และผู้ที่มีเฉพาะประกันสังคม/สวัสดิการรักษาพยาบาลจากนายจ้างมีสุขภาพจิตที่ใกล้เคียงกัน คือ 32.88 และ 32.65 คะแนน ซึ่งยังอยู่ในระดับมาตรฐานสุขภาพจิตของคนทั่วไป
- เขตการปกครอง/ภาคเมื่อพิจารณาสุขภาพจิตของคนไทยในปี 2552 ตามเขตการปกครอง พบว่าคนไทยทั้งในเขตและนอกเขตเทศบาลมีสุขภาพจิตดีกว่าปี 2551 โดยเฉพาะผู้ที่อยู่นอกเขตเทศบาล ที่มีสุขภาพจิตดีขึ้นมากกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด และดีกว่าผู้ที่อยู่ในเขตเทศบาล ซึ่งจะแตกต่างกับปี 2551
เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่าในปี 2552 คนไทยทุกภาค ยกเว้นกรุงเทพฯ มีสุขภาพจิตดีขึ้นกว่าปี 2551 โดยภาคใต้ยังเป็นภาคที่มีคะแนนสุขภาพจิตสูงสุดเช่นเดิม สำหรับผู้ที่อยู่ในกรุงเทพฯ พบว่าคะแนนสุขภาพจิตลดลงจาก 32.09 เป็น 31.90 คะแนน ซึ่งอาจเนื่องจากผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในช่วงปีที่ผ่านมาที่ทำให้ประชาชนทุกข์มากกว่าสุข
2. สุขภาพจิตคนไทย ตามภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2552
- รายได้ทั้งสิ้นของครัวเรือน
เมื่อพิจารณาจากรายได้ของครัวเรือน ในปี 2552 พบว่าสุขภาพจิตและรายได้มีความสัมพันธ์ไปในทางเดียวกัน นั่นคือผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้สูงกว่าจะมีสุขภาพจิตดีกว่า แต่อย่างไรก็ตาม พบว่าทุกกลุ่มรายได้มีคะแนนสุขภาพจิตอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานขึ้นไป กล่าวคือผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 50,000 บาท มีสุขภาพจิตอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเท่ากับคนทั่วไป ขณะที่ผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้สูงกว่า 50,000 บาทจะมีสุขภาพจิตดีกว่าคนทั่วไป แต่อาจจะไม่ใช่เป็นปัจจัยหลักเสมอไปของผู้ที่มีรายได้สูงที่จะมีสุขภาพจิตดีกว่าผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า อาจจะมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น ความมั่นคงทางด้านอาชีพ การได้รับสวัสดิการตามนโยบายต่างๆ ของภาครัฐเพิ่มขึ้น เป็นต้น
- รายได้ ค่าใช้จ่าย หนี้สิน และสถานะทางเศรษฐสังคมของครัวเรือน (ตามอาชีพ3/)
เมื่อพิจารณาตามอาชีพของครัวเรือน พบว่าครัวเรือนลูกจ้างที่ปฏิบัติงานวิชาชีพ/นักวิชาการ/นักบริหาร ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยสูงสุดถึง 48,745 บาท/เดือน ถึงแม้ว่าจะมีรายจ่ายของครัวเรือนสูงถึง 33,748 บาท/เดือน และมีหนี้สินสูงสุดถึง 421,672 บาท/ครัวเรือน แต่สมาชิกในครัวเรือนดังกล่าวยังมีสุขภาพจิตดีกว่าสมาชิกในครัวเรือนอาชีพอื่นๆ คือมีคะแนนสุขภาพจิตสูงถึง 34.52 คะแนน ซึ่งสูงกว่าระดับมาตรฐานสุขภาพจิตของคนทั่วไป สุขภาพจิตดีรองลงมา คือผู้ที่อยู่ในครัวเรือนผู้ถือครองทำการเกษตรที่เป็นเจ้าของที่ดิน(33.71 คะแนน) และครัวเรือนผู้ถือครองทำการเกษตรที่เช่าที่ดิน/ทำฟรี(33.44 คะแนน) ตามลำดับ สำหรับครัวเรือนที่สมาชิกมีสุขภาพจิตต่ำสุด คือครัวเรือนประมง/ป่าไม้/ล่าสัตว์ฯ และครัวเรือนคนงานทั่วไป(31.40 และ 32.12 คะแนน ตามลำดับ)
- จำนวนผู้ทำงานหารายได้ และภาระพึ่งพิงในครัวเรือน
จากผลการสำรวจ พบว่าผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่มีจำนวนคนทำงานหารายได้มากจะมีสุขภาพจิตดีกว่าครัวเรือนที่มีคนทำงานน้อย ซึ่งอาจเนื่องจากรู้สึกว่ามีความมั่นคงในชีวิตและสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้
เมื่อพิจารณาภาระพึ่งพิงของครัวเรือน พบว่าผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่มีภาระพึ่งพิงน้อย คือมีสัดส่วนของคนทำงานมากกว่าคนไม่ทำงาน จะมีสุขภาพจิตดีกว่าผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่มีภาระพึ่งพิงมาก(มีคนทำงานน้อยกว่าหรือเท่ากับคนไม่ทำงาน หรือไม่มีคนทำงานเลย) แต่มีข้อสังเกตว่าผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่ไม่มีคนพึ่งพิง คือมีเฉพาะคนทำงาน กลับมีสุขภาพจิตต่ำกว่าผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่มีภาระพึ่งพิง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะคนที่มีภาระพึ่งพิงอยู่ในครัวเรือน มีความรู้สึกเป็นสุขที่ครอบครัวเป็นส่วนสำคัญในการอยู่เคียงข้าง ให้กำลังใจ ให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาในยามที่ต้องเผชิญกับปัญหา ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีผลทำให้มีสุขภาพจิตดีกว่าคนที่ไม่มีภาระพึ่งพิงในครัวเรือน ซึ่งส่วนหนึ่งพบว่าเป็นผู้ที่อยู่คนเดียว อาจจะมีความรู้สึกโดดเดี่ยว จึงทำให้สุขภาพจิตต่ำกว่า
- การกระจายรายได้ของครัวเรือน
เมื่อพิจารณาการกระจายรายได้ของครัวเรือน โดยจัดแบ่งครัวเรือนทั่วประเทศเป็น 5 กลุ่มเท่าๆ กัน โดยเรียงลำดับตามรายได้ประจำต่อคนต่อเดือนจากน้อยไปมาก(กลุ่มที่ 1 มีรายได้ต่ำสุด และกลุ่มที่ 5 มีรายได้สูงสุด) พบว่าคนที่อยู่ในกลุ่มที่มีรายได้สูงสุด(กลุ่มที่ 5 ซึ่งมีรายได้ประจำต่อคนต่อเดือนมากกว่ากลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุดถึง 12 เท่า) มีสุขภาพจิตดีที่สุด(34.20 คะแนน) ในขณะที่คนที่อยู่ในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุด(กลุ่มที่ 1) มีสุขภาพจิตต่ำสุด(32.53 คะแนน) แต่อย่างไรก็ตาม พบว่าคะแนนสุขภาพจิตของทุกกลุ่มอยู่ในระดับปกติเท่ากับคนทั่วไป