ก้าวย่างใหม่ของล่ามภาษามือ

ข่าวทั่วไป Monday April 26, 2010 11:29 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานสร้างเสริมสุขภาพคนพิการในสังคมไทย (สสพ.)และสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ได้ร่วมกันจัดงานเสวนา "ก้าวย่างใหม่ของล่ามภาษามือในประเทศไทย"เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการผลิตบุคลากรที่มีความสามารถทางการสื่อสารล่ามมือ เพื่อตอบสนองความต้องการผู้พิการทางการได้ยินให้เข้าถึงการใช้ประโยชน์จากล่ามมือในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น

อิสสระ สมชัยรมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้มาจดแจ้งเป็นล่ามมือประมาณ 300 คน ขณะที่ผู้พิการทางการได้ยินทั่วประเทศจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี 2550 มีประมาณ 7 แสนคน

อิสสระ กล่าวอีกว่า พม.ตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องจัดให้บริการล่ามภาษามือ จึงได้เร่งผลักดันให้เกิดระบบบริการล่ามภาษามือที่มีประสิทธิภาพขึ้นโดยมีค่าตอบแทนให้ผู้ปฏิบัติงานที่จะเป็นสื่ออำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ของคนหูหนวก ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตประจำวัน และได้รับบริการทางสังคมต่างๆ

รวมทั้งการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นและมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมได้อย่างเต็มศักยภาพเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป จึงได้ร่วมกับเครือข่ายทั้งภาครัฐเอกชน องค์กรของคนพิการ ตลอดจนสมาคมล่ามภาษามือแห่งประเทศไทยในการขยายการให้บริการให้สามารถครอบคลุมทั่วถึงทุกจังหวัด โดยค่าตอบแทนให้ผู้ปฏิบัติงาน คิดเป็นรายชั่วโมงชั่วโมงละ 300-500 บาท แต่หากเป็นการบรรยายในการสัมมนาหรือเป็นวิทยากร ให้ค่าตอบแทนชั่วโมงละ600 บาท

"ความพิการเป็นเพียงลักษณะทางกายไม่ใช่ตัวบ่งชี้ศักยภาพของคน ไม่ว่าจะเป็นการบกพร่องทางการเคลื่อนไหวจิตใจ อารมณ์ สติปัญญาและการเรียนรู้ดังนั้นคนหูหนวกอยู่ที่ไหนก็ต้องมีล่ามภาษามืออยู่ที่นั่น เพื่อเสริมคุณภาพชีวิตให้ดำเนินไปได้อย่างปกติสุข" นายสมชัยกล่าว

ด้าน กิ่งแก้ว อินหว่าง เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2552 คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ได้มีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาล่ามภาษามือ เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ว่าด้วยล่ามภาษามือ พ.ศ. 2552

ทั้งนี้ เมื่อ พม.เปิดให้ล่ามภาษามือมายื่นจดทะเบียนแล้ว หากคนหูหนวกต้องการขอรับบริการล่ามภาษามือ ก็มายื่นคำขอรับบริการได้ใน 4 กรณี ได้แก่ 1.ใช้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข 2.สมัครงานหรือติดต่อประสานงานด้านการประกอบอาชีพ 3.ร้องทุกข์กล่าวโทษหรือเป็นพยานในชั้นพนักงานสอบสวนและ 4.เข้าร่วมประชุมสัมมนาและฝึกอบรม

ในเขตกรุงเทพฯ ให้ยื่นคำขอต่อกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ส่วนต่างจังหวัดให้ยื่นติดต่อขอใช้บริการได้ที่สำนักงานการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ (พมจ.)

--โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 5 เมษายน 2553--

รหัสข่าว: B-100405006018

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ