ฅนแรงงาน: "ระบบเตือนภัยด้านแรงงาน"ระบบติดตาม คาดการณ์วางแผนอนาคต "แรงงานไทย"

ข่าวทั่วไป Tuesday April 27, 2010 15:38 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

การกำหนดนโยบาย ทิศทาง ที่มีคุณภาพ ต้องมาจากการวิเคราะห์สถานการณ์ที่แม่นยำ

การวิเคราะห์สถานการณ์ที่แม่นยำต้องมาจากฐานข้อมูลที่เที่ยงตรงและเป็นปัจจุบัน

สถานการณ์ด้านแรงงานเป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบันว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน

ด้วย"แรงงาน"เป็นฐานรากของภาคการผลิตภาคการบริการ ซึ่งนั่นหมายถึงรากฐานของ "ระบบเศรษฐกิจ"โดยรวม

การเปลี่ยนแปลงของบริบททางสังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจล้วนส่งผลกระทบต่อประเด็นด้านแรงงาน

ส่งผลกระทบไม่ว่าจะเป็นในเชิง "ลบ" หรือ "บวก"ดังนั้นการคาดการณ์สถานการณ์แรงงานที่ "แม่นยำ" จะช่วยเพิ่มโอกาสของประเทศได้ค่อนข้างมาก

เพราะการคาดการณ์สถานการณ์แรงงานที่แม่นยำจะช่วยให้การกำหนดทิศทางด้านแรงงานเป็นไปอย่างถูกเป้า

โครงการศึกษาวิจัย "ระบบเตือนภัยด้านแรงงาน" จึงถูกริเริ่มขึ้น

ริเริ่มขึ้นเพื่อให้มีการศึกษา ทบทวน ข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ นำมากำหนดเป็นรูปแบบและวิธีการในการจัดเก็บข้อมูล เพื่อมาทำดัชนีและแบบจำลองเตือนภัยด้านแรงงาน ซึ่งครอบคลุมทั้งในบริบทการจ้างงานการเลิกจ้าง การว่างงาน

ซึ่งกำหนดเกณฑ์ในการเตือนภัยเป็น 3 ระดับ คือ ระดับปกติระดับเตือนภัยและระดับอันตรายโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์มาช่วยในการคำนวณให้สามารถเตือนภัยได้เป็นรายสาขาอุตสาหกรรม 18 อุตสาหกรรม

ได้แก่ สาขาเกษตรกรรม สาขาประมง สาขาอาหารและอาหารสัตว์ สาขาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม สาขาไม้และเครื่องเรือนสาขาเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิคส์ สาขาแม่พิมพ์ สาขายานยนต์และชิ้นส่วน สาขาอุตสาหกรรมผลิต สาขาเหมืองแร่และเหมืองหิน สาขาก่อสร้าง สาขาไฟฟ้าก๊าซและการประปาสาขาการขายส่งขายปลีก สาขาท่องเที่ยว สาขาขนส่ง สาขาสื่อกลางทางการเงิน สาขาสุขภาพ และสาขาบริการ

โครงการศึกษาวิจัย "ระบบเตือนภัยด้านแรงงาน" เป็นโครงการที่กระทรวงแรงงานมอบหมายให้มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI เป็นผู้ดำเนินการศึกษาซึ่งขณะนี้การวิจัยและจัดทำระบบซอฟแวร์เตือนภัย รวมไปถึงการอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องใกล้เสร็จสิ้นแล้ว

ในอนาคตอันใกล้ประเทศไทยจะมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จะช่วยคำนวณประมวลผลว่า ในอีก 1- 3 เดือนข้างหน้า จะมีเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับการเลิกจ้าง การว่างงาน หรือแม้กระทั่งแนวโน้มความต้องการรวมไปถึงภาวะขาดแคลนแรงงานในระดับใด ปกติ เตือนภัย หรืออันตราย ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ต่อการติดตามสถานการณ์แรงงานในอนาคตเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตามดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้นว่า การวิเคราะห์สถานการณ์ที่แม่นยำก็ต้องมาจากฐานข้อมูลที่เที่ยงตรงและเป็นปัจจุบัน

เพราะฉะนั้นโปรแกรมเตือนภัยด้านแรงงานจะมีประสิทธิภาพ มีความแม่นยำได้ ก็จะต้องอาศัยข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ

และข้อมูลที่มีประสิทธิภาพก็ต้องมาจากหลายแหล่งไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ตลาดหลักทรัพย์หรือแม้แต่กระทรวงแรงงานเอง ก็ต้องไล่เรียงข้อมูลสะท้อนมาตั้งแต่ในระดับพื้นที่ มาจนถึงในระดับชาติ

ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะชี้วัดความสำเร็จของ "ระบบข้อมูลเตือนภัยด้านแรงงาน"

ระบบข้อมูลเตือนภัย ที่จะใช้พยากรณ์ทิศทางของ "ตลาดแรงงาน"

ระบบข้อมูลเตือนภัย ที่จะชี้นำทิศทางการลงทุนด้านการพัฒนา "กำลังคน"

ระบบข้อมูลเตือนภัย ที่จะสร้างอนาคต "คนทำงาน" ของประเทศ

--มติชน ฉบับวันที่ 7 เมษายน 2553--

รหัสข่าว: B-100407020021

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ