ต้องบอกว่าเหลือเชื่อจริงๆ กับสถานการณ์ภาคอุตสาหกรรมบ้านเราที่หาจุดสมดุลไม่ค่อยเจอ โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 51-53 เจ้าของกิจการต้องเจอวิกฤติหนัก ๆ ปีละเรื่อง จนชาวบ้านเรา ๆ ต้องกุมขมับตาม เพราะพลอยได้รับผลกระทบที่เชื่อมโยงกันหมด
เริ่มจากปี 51 ทั่วโลกเจอวิกฤติราคาน้ำมันแพงสุดประวัติศาสตร์แตะที่ 140 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลทำให้โรงงานต้องปรับราคาขายสินค้าตามต้นทุนที่พุ่งขึ้น จนผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าแพง รวมถึงค่าเรือเครื่องบิน และรถโดยสารแพงด้วย แต่เงินเดือนคนส่วนใหญ่กลับไม่ขึ้น
ตามด้วยปี 52 ที่ทั่วโลกต้องเจอวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐลุกลาม จนคำสั่งซื้อสินค้าลดลงอย่างฮวบฮาบ ขณะที่ภาคธุรกิจก็ใช้ข้ออ้างเดิม ๆ ในการประคองกิจการ ด้วยการปลดคนออกแบบไม่ไว้หน้ากันเลย
โชคดีที่รัฐบาลทั่วโลกมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้ฟื้นเร็วและพืชผลทางการเกษตรกลับปรับราคาสูงอย่างเหลือเชื่อ ดูเหมือนทุกอย่างจะดี แต่ในที่สุดปี53 ก็เกิดวิกฤติรอบที่ 3 จนได้ คือภาคอุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก
เพราะแรงงานส่วนใหญ่มีความสุขกับการทำเกษตรจึงไม่ยอมกลับเข้ามาทำงานโรงงานเหมือนเดิม แม้บางโรงงานจะมีโปรโมชั่นอย่างงามเพิ่มค่าโอที และสวัสดิการเพียบพร้อมก็ตาม
ไม่รู้จะไปโทษใครเพราะตอนไล่แรงงานออกก็ไม่เห็นใจกันเลย เพราะบางรายมัวแต่คิดถึงกิจการตัวเองเป็นหลัก สุดท้ายเมื่อเศรษฐกิจดีทำให้หลายอุตสาหกรรมต้องไปพึ่งแรงงานต่างด้าว หรือบางอุตสาหกรรมเผ่นไปเปิดโรงงานในประเทศเพื่อนบ้านแทนเพื่อแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน
นี่ยังไม่รวมปัญหาม็อบเสื้อเหลืองและม็อบเสื้อแดงที่โผล่หน้าให้เห็นทุก ๆ ปีรวมถึง ปัญหาอุตสาหกรรมนิคมมาบตาพุดที่คอยผสมโรงในการเพิ่มความเครียด
กลับมาที่ปัญหาแรงงานของภาคอุตสาหกรรมที่หลาย ๆ ฝ่ายมองว่าในปีนี้อาจเกิดวิกฤติขาดแคลนนั้น "ทวีกิจจตุรเจริญคุณ" รักษาการรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)มองว่า ในปีนี้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม จะยังคงมีอยู่ต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี เพราะการสำรวจสถานการณ์ขาดแคลนแรงงานล่าสุดของ 39 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท. แรงงานขาดแคลนไม่ต่ำกว่า 300,000 คน
สาเหตุหลักมาจากปลายปี 51 ถึงต้นปี 52 ที่ปลดแรงงานออกจากระบบหลายแสนคน เพื่อประคองกิจการให้อยู่รอดในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลก เนื่องจากคำสั่งซื้อจากสหรัฐ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ที่เป็นตลาดหลักของไทยทรุดตัวจึงได้ชะลอการสั่งซื้อ
ขณะเดียวกันเมื่อเกิดการตกงานรัฐบาลได้จัดทำโครงการต้นกล้าอาชีพ นำแรงงานที่ตกงานมาฝึกอบรมอาชีพใหม่ มีเงินเดือนให้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน แรงงานเหล่านี้ก็ทยอยกลับสู่ภูมิลำเนา เมื่อฝึกอบรมโครงการเสร็จ ก็หันไปประกอบอาชีพใหม่ เช่นค้าขาย หรือผลิตสินค้าเอสเอ็มอีซึ่งอาชีพยอดนิยมคือการทำการเกษตร
เพราะพืชเกษตรช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมามีราคาสูง ทำให้แรงงานที่ตกงานหันไปเพาะปลูกพืชเกษตรเช่นมันสำปะหลัง อ้อยข้าวโพด โดยเฉพาะแรงงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่หันไปปลูกยางพาราเป็นอาชีพหลักเหมือนกับภาคใต้ เป็นต้น
ขณะที่ "ไพฑูรย์ แก้วทอง"รมว.แรงงานเห็นว่า ปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้ไม่สามารถรักษาสภาพการจ้างไว้ได้ แต่เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวจึงทำให้ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานอีก
โดยปีที่ผ่านมามีแรงงานถูกปลดออก 800,000 คน แต่เมื่อรวมกับผู้จบการศึกษาใหม่และผู้ว่างงานเดิมทำให้ยอดว่างงานปีก่อนสูงถึง 2 ล้านคน แต่สถานการณ์วิกฤติดังกล่าวได้ผ่านพ้นไปแล้ว และขณะนี้กลับพลิกกลับไปเป็นการขาดแคลนแรงงานแทน
แม้แต่ "จีรศักดิ์ สุคนธชาติ" อธิบดีกรมการจัดหางานยังให้ความเห็นว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน ส่งผลให้มีการขาดแคลนแรงงานพื้นฐานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะ อุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์
สาเหตุหนึ่งมาจากแรงงานที่ถูกเลิกจ้างกลับภูมิลำเนาและเข้ารับการส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระจากโครงการต้นกล้าอาชีพ และเกษตรกรรม ดังนั้นกรมการจัดหางานได้รวบรวมตำแหน่งงานว่างทั่วประเทศเดือน มี.ค. 53 พบว่ามีตำแหน่งงานว่างทั้งสิ้น136,047 อัตรา
แบ่งเป็นตำแหน่งผู้จัดการ ผู้ประกอบวิชาชีพต่าง ๆ เช่น พยาบาล นักกฎหมายวิศวกร ช่างเทคนิค เช่น ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ พนักงานบริการ ผู้ปฏิบัติงานด้านการเกษตรและประมง ผู้ปฏิบัติงานโดยใช้ฝีมือ เช่น ช่างเครื่องกลช่างก่อสร้างฯลฯและพนักงานทั่วไป
นอกจากนี้แนวโน้มความต้องการแรงงาน 5 ปีข้างหน้า (53-57) ยังมีอย่างต่อเนื่อง และภาคการเกษตรเป็นกลุ่มที่มีความต้องการแรงงานสูงที่สุด โดยคาดว่าความต้องการแรงงานปี 53 อยู่ที่ 37.6 ล้านคน,ปี 54 อยู่ที่ 38.2 ล้านคน, ปี 55 อยู่ที่ 38.7 ล้านคน, ปี 56 อยู่ที่ 39.3 ล้านคน และปี57 อยู่ที่ 39.9 ล้านคน
โดยปี 53 คาดว่าภาคเกษตรกรรมต้องการแรงงาน 14.2 ล้านคน, ปี 54 เพิ่มเป็น14.7 ล้านคน และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี56 เพิ่มขึ้น 15.8 ล้านคน โดยปี 57 เพิ่มเป็น 16.3 ล้านคน
ภาคอุตสาหกรรมคาดว่าในปี 53 ต้องการแรงงาน 8.3 ล้านคน, ปี 54 จำนวน 8.4 ล้านคน, ปี 55 จำนวน 8.6 ล้านคน, ปี 56 จำนวน 8.7 ล้านคน และปี 57 จำนวน 8.9 ล้านคน ซึ่งภาคการก่อสร้างมีความต้องการแรงงานมากที่สุด
ขณะที่ภาคบริการนั้นปี 53 คาดว่าต้องการแรงงาน 15.4 ล้านคน, ปี 54 ต้องการ15.6 ล้านคน, ปี 55 ต้องการ 15.7 ล้านคน,ปี 56 ต้องการ 15.9 ล้านคน และปี 57 ต้องการ 16.1 ล้านคน ซึ่งกิจการขายปลีกจะมีความต้องการแรงงานสูงสุด รองลงมา คือโรงแรมและภัตตาคาร และกิจการบริหารราชการ
แม้เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่คนไทยหันกลับไปทำอาชีพเกษตรกรรมมากขึ้นแต่ที่น่าห่วงคือพื้นที่ทำกินของเกษตรกรเฉลี่ยน้อยสุด เพราะผลการสำรวจของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรพบว่าเกษตรกร 59.73% ต้องเช่าที่ดินทำกิน ขณะเดียวกันพบว่าภาคเหนือมีเกษตรกรถือครองที่ทำกินเพียง 24% และภาคกลาง 30% ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ 46.97% และภาคใต้ อยู่ที่ 48.24%
ภาพรวมถือว่า เรื่องที่ดินทำกินของเกษตรกรอยู่ในขั้นวิกฤติ ดังนั้นภาครัฐต้องมีมาตรการเตรียมความพร้อมสำหรับในอนาคตเช่น การจัดสรรที่ดินทำกินรวมถึงการอบรมความรู้
มุมภาคเกษตรกรรมนั้นก็จะสอดคล้องกับแนวคิดของ "อนันต์ ดาโลดม"นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทยเห็นว่าในปี53 มีแรงงานเข้ามาทำงานในภาคเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะราคาพืชผลทางการเกษตรในปีนี้อาจเป็นโอกาสทองของเกษตรกรไทยที่ได้รับอานิสงส์โดยเฉพาะผู้ปลูกข้าวเปลือกมันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์ม อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
แต่ทั้งหมดทั้งปวงก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกษตรกรสะดุดจนรายได้ไม่สูงตามที่คาดไว้ก็ได้ เพราะยังมีก้างขวางคออย่างปัญหาภัยแล้งที่มาเร็วและนานกว่าที่คาดไว้และโรคระบาดเช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในข้าว เพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง เป็นต้น
ส่วนราคาพืชหลายชนิดที่สูงขึ้นนั้นเป็นเพราะความต้องการด้านการบริโภคของภาคอุตสาหกรรมที่มีมากขึ้น ขณะเดียวกันเกษตรกรมีการพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่การเพาะปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มมากขึ้น
โดย ข้าวได้รับอานิสงส์จากปริมาณข้าวในตลาดโลกที่ลดลง 5% ขณะที่ยางพารามีราคาสูงอย่างต่อเนื่องจากความต้องการยางธรรมชาติมาเป็นวัตถุดิบเพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ ส่วนปาล์มน้ำมันก็มาจากความต้องการใช้พลังงานทดแทนเพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบผลิตไบโอดีเซลและ มันสำปะหลังก็เช่นกันที่เป็นพืชพลังงานทดแทนที่สามารถนำไปผลิตเป็นเอทานอลได้
คาดว่าผลผลิตข้าวเปลือกอยู่ที่ 30 ล้านตัน และราคาที่เพิ่มขึ้น ทำให้ชาวนาทั่วประเทศ 3.7 ล้านครัวเรือนมีรายได้เพิ่มจากปีก่อน 15% โดยเฉพาะชาวนาอีสานมีรายได้เพิ่ม 20% และภาคกลางเพิ่มขึ้น 10%
สำหรับผลผลิตยางพาราในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 3 ล้านตัน สร้างรายได้แก่ชาวสวนยาง 1.3 ล้านครอบครัว จำนวน 2.4 แสนล้านบาท เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 20%
ส่วนผลผลิตอ้อยฤดูกาลผลิต 52/53 คาดว่าอยู่ที่ 70 ล้านตัน สร้างรายได้แก่ชาวไร่อ้อย 3 แสนครอบครัว มูลค่า 7 หมื่นล้านบาท ด้านผลผลิตมันสำปะหลังคาดว่าจะอยู่ที่27 ล้านตัน สร้างรายได้แก่เกษตรกร 5.4 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ผลผลิตปาล์มน้ำมันคาดว่าอยู่ที่ 3 ล้านตัน สร้างรายได้ชาวสวนปาล์ม108,800 ครอบครัว วงเงิน 9,000 ล้านบาทหรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 20% และในส่วนของผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะได้ประมาณ 4 ล้านตัน สร้างรายได้เกษตรกร 308,000 ครัวเรือนมูลค่า 2.8 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้น 15%
ก็คงไม่แปลกใจที่แรงงานกลับไปอยู่ภาคเกษตรกันมาก เพราะจากข้อมูลราคาสินค้าเกษตรปี 53 หลายตัวสูงกว่าปี 52 โดยข้อมูลล่าสุดในเดือน ก.พ. พบว่า ยางพาราอยู่ที่ 92.68 บาทต่อ กก. เพิ่ม 107.62% ซึ่งล่าสุดราคายางพาราก็ทะลุเกิน 100 บาทต่อกก.แล้ว, ข้าวโพด 7.17 บาทต่อ กก. เพิ่ม11.16%, มันสำปะหลัง 1.78 บาทต่อ กก.เพิ่ม 53.45%, ปาล์มน้ำมัน 3.57 บาทต่อกก. ลดลง 17.22%
กลับมาดูภาพรวมของการจ้างงานทั้งประเทศนั้น "จีราวรรณ บุญเพิ่ม" ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติชี้แจงว่า ข้อมูลในเดือน ม.ค. 53 พบว่า ผู้ที่อยู่ในวัยทำงานหรือพร้อมที่จะทำงานของไทยอยู่ที่ 37.8 ล้านคน แบ่งเป็นผู้มีงานทำ 37.04 ล้านคน มีผู้ว่างงาน 5.3 แสนคน รอฤดูกาลทำงาน 2.3 แสนคน
สำหรับผู้มีงานทำ37.04 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8.4 แสนคน แบ่งเป็น ภาคการเกษตรมีถึง 12.92 ล้านคนเพิ่ม 4.4 แสนคน นอกภาคเกษตรกรรม 24.13 ล้านคนเพิ่ม 4 แสนคน จำนวนนี้แบ่งเป็น ภาคการผลิต 5.63 ล้านคน ลดลง 2.3 แสนคน การขนส่ง 1.26 ล้านคน ลดลง 2 หมื่นคน, แต่ภาคการค้าปลีกและค้าส่ง 6.09 ล้านคนเพิ่ม1 หมื่นคน, โรงแรมและภัตตาคาร 2.88 ล้านคน เพิ่ม 2.6 แสนคน, การก่อสร้าง 2.52 ล้านคน เพิ่ม 1.1 แสนคน,การศึกษา 1.14 ล้านคน เพิ่ม5 หมื่นคน, อสังหาริมทรัพย์8.1 แสนคน เพิ่ม 5 หมื่นคน เป็นต้น
ขณะที่ "สุวรรณี คำมั่น" รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)มองว่า ทิศทางเศรษฐกิจเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจส่งผลให้การจ้างงานเพิ่มตามด้วย แต่ค่าจ้างเฉลี่ยยังค่อนข้างทรงตัว ขณะเดียวกันไทยยังมีปัญหาทักษะและความเชี่ยวชาญของแรงงานไม่ตรงกับความต้องการของตลาด รวมถึงการขาดแคลนแรงงานไร้ฝีมือในภาคเกษตร และโรงงานอุตสาหกรรม ส่งผลให้ต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวมากขึ้น
นอกจากนี้ ไทยมีแนวโน้มที่จะขาดแคลนแรงงานอีกมาก เพราะการเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วส่งผลให้คนวัยทำงานมีสัดส่วนลดลง ขณะที่การจ่ายค่าจ้างส่วนใหญ่ยังอิงกับระดับการศึกษามากกว่าทักษะในการทำงาน ทำให้ผลตอบแทนบางกลุ่มยังไม่สะท้อนถึงผลิตภาพแรงงานที่แท้จริงดังนั้นนายจ้างควรมีแนวคิดในการจ่ายค่าจ้างตามสมรรถนะหรือความเชี่ยวชาญน่าจะเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมได้ดีกว่า
ประเทศไทยคงต้องหันมาดูแลแรงงานให้มากขึ้น ทั้งเรื่องปรับระบบศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน ให้ค่าจ้างและสวัสดิการที่เหมาะสมพอเลี้ยงครอบครัวได้ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพแก่องค์กรไม่ใช่ทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ตามความพอใจเจ้านายเหมือนในอดีต.
--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 16 เม.ย. 2553 (กรอบบ่าย)--
รหัสข่าว: B-100416035000