หลายท่านคงเคยมีคำถามว่าแรงงานนอกระบบคือใคร อะไรเป็นตัววัดว่าเป็นแรงงาน 'ในระบบ' หรือ 'นอกระบบ'
สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ให้นิยามของ 'แรงงานนอกระบบ'ไว้ว่า ผู้มีงานทำที่ไม่ได้รับการคุ้มครองและหลักประกันทางสังคมเช่นเดียวกับแรงงานในระบบ
ดังนั้นตัวบ่งชี้ความเป็น 'แรงงานนอกระบบ' ที่ง่ายที่สุดก็คือนายจ้าง เพราะแรงงานนอกระบบจะเป็นกลุ่มแรงงานที่ไม่มีนายจ้างชัดเจน รวมทั้งไม่มีค่าตอบแทนหรือรายได้ที่แน่นอน
เนื่องจากรายได้ของแรงงานนอกระบบจะขึ้นอยู่กับผลงานหรือชิ้นงานเป็นหลัก
และจากคุณลักษณะดังกล่าวเราสามารถแยกแรงงานนอกระบบได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ
กลุ่มแรกเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระทั่วไป อาทิ แท็กซี่สามล้อ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง หาบเร่ แผงลอย ช่างเสริมสวยช่างซ่อมรองเท้า แรงงานภาคเกษตร หรือแม้แต่ทนายความแพทย์ ที่มีกิจการเป็นของตนเอง
กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มอาชีพรับจ้างต่างๆ อาทิ ผู้รับงานไปทำที่บ้าน รับจ้างทำของ รับจ้างตามฤดูกาล รับจ้างในกิจการประมงรวมไปถึงรับจ้างทำงานบ้าน และคนขับรถส่วนตัว
ความสำคัญของแรงงานนอกระบบอยู่ที่เป็นกลุ่มแรงงานจำนวนใหญ่สุดของประเทศ จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่ามีกว่า 24 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 62 ของกำลังแรงงานทั้งประเทศ
และด้วยความที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ จึงเปรียบเสมือนฟันเฟืองหลักอีกตัวหนึ่งในการกระจายรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงกลับพบว่าแรงงานเหล่านี้มักได้รับความคุ้มครองทั้งด้านสวัสดิการ รายได้ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนไม่เท่าเทียมกับแรงงานในระบบ
จากจุดนี้จึงได้มีความพยายามผลักดันประเด็นการคุ้มครองแรงงานนอกระบบให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
ประเด็นแรงงานนอกระบบ นอกจากจะถูกบรรจุไว้ในแผนแม่บทด้านแรงงาน 2550 - 2554 และถูกกล่าวถึงไว้ในรัฐธรรมนูญฯ 2550 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 แล้ว
ประเด็นของแรงงานนอกระบบยังถูกหยิบยกมาเป็นนโยบายสำคัญขอรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ระบุว่า "แรงงานทั้งในและนอกระบบ ต้องได้รับการคุ้มครองตามมาตรฐานแรงงานไทยและมาตรฐานสากล"
จากนโยบายที่ชัดเจน นำมาสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมโดยในทางปฏิบัติกระทรวงแรงงานได้เร่งผลักดันกฎหมายคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน ซึ่งอยู่ระหว่างการนำเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2553
รวมทั้งได้มีความมุ่งหมายที่จะผลักดันให้มีการจัดทำระบบฐานข้อมูลแรงงานนอกระบบ ซึ่งคาดหวังให้มีฐานข้อมูลลงลึกถึงระดับบุคคล
ที่สำคัญ คือ ความพยายามในการขยายความคุ้มครองด้านประกันสังคมไปสู่แรงงานนอกระบบ ตามกฎหมายประกันสังคม ม.40 ซึ่งขั้นตอนปัจจุบันได้ผ่าน ครม.แล้วและอยู่ระหว่างคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ก่อนจะเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
สำหรับ ม.40 ใหม่ จะมีความชัดเจนในเรื่องการขยายความคุ้มครองที่จะขยายจากเดิม 3 กรณี เป็น 5 กรณี คือ กรณีเจ็บป่วยให้ได้รับค่าชดเชยระหว่างหยุดงาน ได้รับค่าคลอดบุตรได้รับค่าชดเชยหากทุพพลภาพ ได้รับค่าทำศพเมื่อเสียชีวิต และมีเงินออมเมื่อชราภาพ หรือมีบำเหน็จ-บำนาญ
ความคุ้มครองที่เพิ่มขึ้นในครั้งนี้ มุ่งหวังให้แรงงานนอกระบบทุกคนกว่า24 ล้านคน ซึ่งจากนิยามและข้อบ่งชี้ข้างต้นพอจะกล่าวได้ว่าครอบคลุมไปในทุกภาคส่วน รวมไปถึงแรงงานในภาคเกษตร ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ตลอดจนผู้ประกอบอาชีพอิสระทั้งหลาย ซึ่งอยู่นอกระบบ ได้เข้ามาสู่ระบบประกันสังคม
ระบบประกันสังคม ที่เป็นรูปแบบหนึ่งของรัฐสวัสดิการซึ่งก้าวพ้นประชานิยมตามที่รัฐบาลได้เคยหยิบยกมาพูดเมื่อครั้งแถลงผลงานรัฐบาลในรอบ 1 ปี
'แรงงานนอกระบบ' เป็นแรงงานกลุ่มใหญ่สุดของประเทศรัฐจึงต้องดูแล 'แรงงานนอกระบบ' ให้ได้รับความคุ้มครองทัดเทียม 'แรงงานในระบบ'
เพื่อคุณภาพชีวิตประชากรที่เท่าเทียมเพื่อคุณภาพชีวิตประชากรที่ไม่ 'สองมาตรฐาน'
--มติชน ฉบับวันที่ 21 เม.ย. 2553 (กรอบบ่าย)--
รหัสข่าว: B-100421038137