สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ดำเนินการสำรวจเกี่ยวกับภาวะเจริญพันธุ์มาแล้ว 4 ครั้ง (ปี 2518 2528 2539 และ 2549) โดยในปี 2549 สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ร่วมกับกองอนามัยการเจริญพันธุ์กรมอนามัย ทำการสำรวจเกี่ยวกับข้อมูลอนามัยการเจริญพันธุ์ของประเทศ เช่น การวางแผนครอบครัวอนามัยแม่และเด็ก เป็นต้น เพื่อนำไปจัดทำตัวชี้วัดในการประเมินสถานการณ์อนามัยการเจริญพันธุ์ของประชากร
สำหรับการสำรวจในปี 2552 สำนักงานสถิติแห่งชาติและกรมอนามัย ได้ทำ บันทึกความร่วมมือในการจัดทำการสำรวจครั้งนี้ร่วมกัน นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจากกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ และวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์อนามัยการเจริญพันธุ์และการเข้าถึงบริการด้านอนามัยของประชากร ได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลในเดือนพฤษภาคม 2552จากจำนวนครัวเรือนตัวอย่างประมาณ 30,000 ครัวเรือน ซึ่งสรุปผลการสำรวจได้ดังนี้
1. การเตรียมความพร้อมก่อนแต่งงาน
จากผลการสำ รวจปี 2552 พบว่าก่อนแต่งงานหญิงสมรสอายุ 15—49 ปี ที่ตนเองและ/หรือสามีได้รับข้อมูลและคำปรึกษาเกี่ยวกับการวางแผนครอบครัวจากบุคลากรสาธารณสุขมีเพียงร้อยละ 15.0 และได้รับการตรวจเลือดเพื่อหาทาลัสซีเมียหรือเชื้อ HIV ร้อยละ 21.7 (ตรวจหาทาลัสซีเมียร้อยละ 19.4 และหาเชื้อ HIV ร้อยละ 20.9) โดยผู้ที่อาศัยในเขตเทศบาลมีผู้ได้รับบริการทั้งด้านข้อมูลและคำปรึกษาเกี่ยวกับการวางแผนครอบครัว รวมทั้งการตรวจเลือดก่อนแต่งงานมากกว่าผู้อยู่นอกเขตเทศบาลอย่างเห็นได้ชัด
2. การสมรสและภาวะเจริญพันธุ์
2.1 อายุแรกสมรส
เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจปี 2549 พบว่าหญิงไทยมีอายุแรกสมรสเฉลี่ย (SMAM) ลดลงเล็กน้อยคือจาก 23.1 ปี เป็น 22.2 ปี โดยหญิงที่อยู่ในเขตเทศบาลสมรสช้ากว่าหญิงที่อยู่นอกเขตเทศบาล และพบว่าความแตกต่างของอายุแรกสมรสเฉลี่ยของหญิงที่อยู่ในเขตเทศบาลและหญิงที่อยู่นอกเขตเทศบาลเริ่มลดลง คือ ลดจาก 3.3 ปี ในปี 2549 เป็น 2.8 ในปี 2552
2.2 จำนวนบุตรเกิดรอดเฉลี่ย
จำนวนบุตรเกิดรอดเฉลี่ย เป็นตัวชี้วัดภาวะเจริญพันธุ์ที่สำคัญของประเทศ เป็นข้อมูลที่แสดงถึงภาวะเจริญพันธุ์ของหญิง ภาวะเจริญพันธุ์สะสม ตลอดจนการศึกษาขนาดครอบครัวของไทยจากการสำรวจปี 2552 หญิงอายุ 15-49 ปี มีจำนวนบุตรเกิดรอดเฉลี่ย 1.30 คน โดยหญิงที่อยู่ในเขตเทศบาล มีจำนวนบุตรเกิดรอดเฉลี่ยต่ำกว่าที่อยู่นอกเขตเทศบาล ( 1.11 คน และ 1.40 คน ตามลำดับ) โดยหญิงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ มีจำนวนบุตรเกิดรอดเฉลี่ยสูงที่สุดคือ 1.45 คน
เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจในปี 2549 พบว่า จำนวนบุตรเกิดรอดเฉลี่ยของหญิงอายุ 15 - 49 ปี ในปี2552 มีจำนวนสูงกว่า โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครมีจำนวนเพิ่มสูงกว่าภาคอื่นคือจาก 0.80 คน ในปี 2549 เป็น 1.13 คน
หากพิจารณาจำนวนบุตรเกิดรอดเฉลี่ยจากหญิงที่สิ้นสุดวัยเจริญพันธุ์ (อายุ 45 - 49 ปี) เพื่อศึกษาภาวะเจริญพันธุ์สมบูรณ์พบว่า จำนวนบุตรเกิดรอดเฉลี่ยเท่ากับ 2.15 คน โดยนอกเขตเทศบาล มีจำนวนบุตรเกิดรอดเฉลี่ยสูงกว่าในเขตเทศบาล (2.28 คน และ 1.89 คน ตามลำดับ) และจำนวนบุตรเกิดรอดเฉลี่ยระหว่างภาคมีความแตกต่างกัน โดยภาคใต้มีจำนวนสูงที่สุดคือ 2.66 คน รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกรุงเทพมหานคร (2.41 คนและ 2.00 คน ตามลำดับ) ภาคเหนือและภาคกลางมีจำนวนต่ำกว่าภาคอื่น (1.92 คนและ 1.84 คน ตามลำดับ)
หากเปรียบเทียบจำนวนบุตรเกิดรอดเฉลี่ยจากหญิงที่สิ้นสุดวัยเจริญพันธุ์ (อายุ 45 - 49 ปี) กับปี 2549 พบว่า มีจำนวนบุตรเกิดรอดเฉลี่ยใกล้เคียงกันคือ 2.16 คน และ 2.15 คน ในปี 2549 และ 2552 ตามลำดับ และนอกเขตเทศบาลมีจำนวนบุตรเกิดรอดเฉลี่ยสูงกว่าในเขตเทศบาลเช่นกัน แต่พบว่านอกเขตเทศบาลมีจำนวนลดลงเล็กน้อย จาก 2.33 คน เป็น 2.28 คน ขณะที่ในเขตเทศบาลเพิ่มขึ้น และทั้ง 4 ภาค คือ ภาคกลาง เหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือและใต้ มีจำนวนบุตรเกิดรอดเฉลี่ยลดลงเช่นเดียวกันแต่เพิ่มขึ้นที่กรุงเทพมหานคร
3. การอนามัยแม่และเด็ก
จากการศึกษาการอนามัยแม่และเด็กของหญิงเคยสมรสอายุ 15 — 49 ปีที่มีบุตรคนสุดท้องอายุต่ำกว่า 1 ปี และยังมีชีวิตอยู่ สรุปได้ดังนี้
3.1 การคลอดบุตร
สถานที่คลอดบุตรและบุคลากรผู้ทำคลอดมีความสำคัญมากต่อความปลอดภัยของแม่และบุตรซึ่งหญิงตั้งครรภ์ส่วนมากคำนึงถึงนอกเหนือจากค่าใช้จ่ายในการคลอดและการเดินทางไปคลอดซึ่งจากผลการสำรวจ พบว่ามากกว่าร้อยละ 90 ของหญิงตั้งครรภ์คลอดบุตรที่โรงพยาบาลของรัฐ โดยเกือบครึ่งหนึ่งคลอดที่โรงพยาบาลชุมชน (ร้อยละ 42.0) รองลงมาคือ โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไปและสถานพยาบาลอื่นๆ ของรัฐ (ร้อยละ 38.1 และ 10.8 ตามลำดับ) สำหรับบุคลากรผู้ทำคลอด พบว่า 2 ใน 3 เป็นแพทย์และ 1 ใน 3 เป็นพยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
3.2 การให้บุตรดื่มนมแม่
หญิงเคยสมรสอายุ 15 — 49 ปี ที่ให้บุตรคนสุดท้องอายุต่ำกว่า 6 เดือน ดื่มนมแม่ภายใน 24 ชั่วโมงก่อนเวลาสัมภาษณ์ มีทั้งสิ้น 3.2 แสนคน (ร้อยละ 84.0) โดยส่วนใหญ่ให้บุตรดื่มนมแม่และเครื่องดื่ม/อาหารอื่น ๆ ด้วย เช่น น้ำผลไม้ นมผงกล้วยบด เป็นต้น (ร้อยละ 41.6) รองลงมาคือ ดื่มนมแม่และน้ำ ร้อยละ 27.3 และดื่มนมแม่เพียงอย่างเดียวร้อยละ 15.1
หากพิจารณาการให้บุตรดื่มนมแม่อย่างเดียวจำแนกตามเขตการปกครองและภาค พบว่า มีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยระหว่างในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาล (ร้อยละ 12.2 และ 16.0 ตามลำดับ) แต่เมื่อพิจารณาตามภาคพบว่า มีความแตกต่างกันมากโดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีสัดส่วนการให้บุตรดื่มนมแม่อย่างเดียวสูงที่สุด (ร้อยละ 26.9) รองลงมาคือภาคใต้ (ร้อยละ 10.4) และน้อยที่สุดคือ กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีเพียงร้อยละ 1.7 เท่านั้น
4. การตรวจมะเร็งระบบสืบพันธุ์
4.1 การตรวจหาก้อนที่เต้านม
หญิงอายุ 30 — 59 ปีที่เคยตรวจหาก้อนที่เต้านมในรอบปีที่ผ่านมามีเพียงร้อยละ 58.1 ซึ่งเป็นการตรวจด้วยตนเองร้อยละ 23.6 ตรวจโดยบุคลากรสาธารณสุขร้อยละ 20.3 และตรวจด้วยตนเองและบุคลากรสาธารณสุขร้อยละ 14.2
เมื่อพิจารณาจำแนกตามเขตการปกครองและภาคพบว่า หญิงที่อาศัยอยู่นอกเขตเทศบาลเคยตรวจหาก้อนที่เต้านมสูงกว่าในเขตเทศบาลเล็กน้อย (ร้อยละ 59.8 และ 54.6 ตามลำดับ) หญิงที่อาศัยในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเคยตรวจหาก้อนที่เต้านม ในรอบปีที่ผ่านมาสูงกว่าภาคอื่น ๆ (ร้อยละ 64.9 และ 63.3 ตามลำดับ) ส่วนภาคที่เคยตรวจน้อยที่สุด คือกรุงเทพมหานคร(ร้อยละ 47.4)
4.2 การตรวจมะเร็งปากมดลูก
หญิงอายุ 30 - 59 ปีที่เคยตรวจมะเร็งปากมดลูกในรอบ 5 ปีที่ผ่านมามีร้อยละ 60.2 โดยหญิงที่อาศัยนอกเขตเทศบาลตรวจมะเร็งปากมดลูกมากกว่าหญิงที่อยู่ในเขตเทศบาล (ร้อยละ 64.3 และ 52.1 ตามลำดับ) หญิงที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครมีสัดส่วนที่เคยตรวจ ต่ำสุด (ร้อยละ 44.4) ส่วนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีสัดส่วนใกล้เคียงกันและสูงกว่าภาคอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด (ร้อยละ 69.0 และ 67.3 ตามลำดับ)
เป็นที่น่าสังเกตว่า การตรวจหาก้อนที่เต้านมและมะเร็งปากมดลูกของหญิงอายุ 30-59 ปีที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลมีสัดส่วนน้อยกว่าหญิงที่อาศัยอยู่นอกเขตเทศบาล และกรุงเทพมหานครมีสัดส่วนน้อยกว่าภาคอื่น ทั้งนี้อาจเนื่องจากการรณรงค์ในการตรวจมะเร็งระบบสืบพันธุ์ผ่านทางอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หน่วยแพทย์เคลื่อนที่และสถานพยาบาลในพื้นที่นอกเขตเทศบาล สามารถเข้าถึงครัวเรือนหรือกลุ่มเป้าหมายได้มากกว่าในเขตเทศบาลโดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ผู้หญิงมีการทำงานหรือดำเนินชีวิตอยู่นอกครัวเรือนและเร่งรีบ โอกาสในการเข้าถึงบริการตรวจมะเร็งระบบสืบพันธุ์โดยบุคลากรสาธารณสุขมีน้อยกว่าหญิงที่อยู่ในภาคอื่น
ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ