สัปดาห์ก่อนได้นำเสนอถึงภาพรวมของปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุไทยไปแล้ว การหกล้มเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่เป็นทั้งสาเหตุและผลของปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุ เนื่องจากเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุสมรรถภาพทางกายมักถดถอยลงเป็นลำดับไม่ว่าจะเป็นการมีโรคเรื้อรัง ปัญหาการมองเห็น การได้ยิน ภาวะกระดูกพรุน หรือการทรงตัว เป็นต้น สุขภาพที่เสื่อมถอยนี้เพิ่มโอกาส หรือความเสี่ยงที่ผู้สูงอายุจะประสบอุบัติเหตุโดยเฉพาะการหกล้ม ซึ่งมีผลสืบเนื่องทำให้ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยต้องตกอยู่ในภาวะทุพพลภาพ นอนติดเตียง และต้องการการดูแลระยะยาว หรือบางรายอาจถึงเสียชีวิต
ผลการสำรวจประชากรผู้สูงอายุไทยปีพ.ศ. 2550 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า 1 ใน 10 ของผู้สูงอายุ (หรือประมาณ6 แสนกว่าราย) เคยหกล้มในช่วง 6 เดือนก่อนวันสัมภาษณ์ และเกือบครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุที่เคยหกล้มมีการหกล้มซ้ำ โดยผู้สูงอายุหญิงมีการหกล้มซ้ำมากกว่าผู้สูงอายุชาย และผู้สูงอายุในชนบทมีการหกล้มซ้ำมากกว่าผู้สูงอายุในเมือง
ปัจจัยเสี่ยงของการหกล้มมีทั้งปัจจัยส่วนบุคคลและปัจจัยสภาพแวดล้อม ปัจจัยส่วนบุคคล เช่น อายุ การมีโรคประจำตัว การมองเห็น ความจำ ปัญหาการทรงตัว และประวัติการหกล้ม เป็นต้น ส่วนปัจจัยแวดล้อมที่เป็นสาเหตุหลักของการหกล้ม คือการสะดุดสิ่งกีดขวางกับการลื่นล้ม การหกล้มของผู้สูงอายุส่วนใหญ่เกิดขึ้นนอกบ้านและผู้สูงอายุชายหกล้มนอกบ้านในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้สูงอายุหญิง น่าจะเป็นเพราะผู้ชายมักมีการทำกิจกรรมนอกบ้านมากกว่า
อย่างไรก็ตาม การหกล้มในบ้านก็มีสัดส่วนค่อนข้างมากเช่นกัน กล่าวคือประมาณ 4 ใน 10 ของผู้สูงอายุหกล้มในบ้านหรือบริเวณรอบบ้าน ดังนั้นสภาพแวดล้อมทั้งในบ้านและนอกบ้านที่ไม่ปลอดภัยเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้มของผู้สูงอายุ เช่น สภาพพื้นบ้าน หรืออาคารที่ลื่น พื้นต่างระดับ การมีแสงสว่างไม่เพียงพอ การไม่มีราวยึดเกาะทั้งที่บันได ในห้องน้ำและห้องนอน การใช้ส้วมชนิดนั่งยอง เป็นต้น
เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้สูงอายุที่หกล้มส่วนใหญ่ไม่ไปรับการรักษา แต่รักษาตนเองหรือปล่อยให้หายเองในสัดส่วนที่สูง ซึ่งอาจเนื่องจากปัญหาการเข้าถึงการรักษา หรืออาจเป็นการหกล้มที่ไม่รุนแรงมากนัก อย่างไรก็ตามประมาณ 10% ของผู้สูงอายุที่หกล้ม (6 หมื่นกว่าราย) ต้องนอนรักษาตัวในสถานพยาบาล ด้วยเหตุนี้การป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ และการเตรียมการบำบัดรักษาดูแล และฟื้นฟู ผู้สูงอายุที่หกล้ม หรืออยู่ในภาวะทุพพลภาพจากการหกล้มเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ไม่ควรละเลย
รหัสข่าว: B-100502006000
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์