สธ.เตือนสิงห์คอมพิวเตอร์ ขลุกอยู่เป็นเวลานาน สุ่มเสี่ยงโรค "ซีวีเอส" ทำให้เด็กสายตาสั้นสูงถึงร้อยละ 30 ทำลายระบบกล้ามเนื้อและข้อส่งผลไหล่-คอเดี้ยงได้ แนะควรหาเวลาพักสายตา ไปเดินเล่น ใช้แว่นตาเคลือบสารป้องกันแสงสะท้อน และรังสีคลื่นแม่เหล็กเพื่อรักษาดวงตาให้ยืนยาว
เมื่อวันที่ 2 พ.ค. นพ.ไพจิตร์ วราชิตปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันคอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ประโยชน์ในการทำงานหรือค้นหาข้อมูล รวมถึงเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน โดยผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุด พบว่าในปี 2551 คนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป ใช้คอมพิวเตอร์ถึง 16.99 ล้านคน และในบ้านทุก 100 ครัวเรือน จะมีคอมพิวเตอร์ 24.8 เครื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้คอมพิวเตอร์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากในปี 2547 มีผู้ใช้12.54 ล้านคน
นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า ผลจากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน และมีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม จะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ เกิดอาการที่เรียกว่าซีวีเอส (CVS:Computer Vision Syndrome) ซึ่งมี 2 กลุ่มอาการใหญ่ ๆ กระทบต่อการทำงานของตา เนื่องจากใช้มองคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานและกระทบต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูกเกี่ยวกับท่านั่งขณะใช้คอมพิวเตอร์ ในกลุ่มหลังนี้ต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้อายุเกิน 40 ปี มักจะมีปัญหาเรื่องโรคต่าง ๆ
เช่น โรคข้อ ระบบกล้ามเนื้อ และนับวันจะมีเพิ่มมากขึ้น หากใช้คอมพิวเตอร์ไม่ถูกวิธีจะมีปัญหาทั้งสายตา และมีอาการปวดไหล่ปวดคอมากขึ้น
ด้าน นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณจักษุแพทย์ประจำโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าจ.นนทบุรี กล่าวว่า มีผลการวิจัยพบว่า เด็กที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน จะทำให้เกิดสายตาสั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 โดยเฉพาะเด็กมักจะใช้คอมพิวเตอร์ตลอด 24 ชั่วโมงและผู้สายตาสั้นจะทำให้สั้นมากขึ้น แต่ยังไม่มีตัวเลขที่แน่นอน โดยปัจจุบันในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ฮ่องกงมีเด็กสายตาสั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 และทำให้เกิดอาการล้า ตาแห้ง ตามัวชั่วคราวแต่ไม่ถึงขั้นตาบอด มีอาการคอเคล็ด ปวดไหล่ ปวดข้อ ในบางคนจะเป็นระยะยาวสาเหตุที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการทางตา เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานเกิน25 นาทีและตั้งจอคอมพิวเตอร์ที่ปรับระดับไม่เหมาะสมกับสายตาหรือวางเมาส์ที่ไม่ได้ระดับกับแขนความสว่างของไฟ การนั่งเป็นเวลานานเป็นต้น
นายแพทย์ฐาปนวงศ์ กล่าวต่อว่า การป้องกันปัญหาทางสายตาจากการใช้คอมพิวเตอร์ ควรกะพริบตาบ่อย ๆ พักสายตาเป็นเวลา 25 นาที พัก 5 นาที หรือ 30 นาทีพัก 10 นาที แต่หากจำเป็นอย่างน้อย 25 นาที ควรพัก 1 ครั้ง หรือใช้วิธีมองวิวนอกหน้าต่าง มุมห้อง หรือไปเดินเล่น และถ้าจะให้ดีการงีบหลับบนโต๊ะทำงานหลังอาหารเที่ยง ประมาณ 15 นาที จะเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุดในเวลาทำงาน และควรใส่แว่นสายตาที่เหมาะสม และควรใช้แว่นตาชั้นเดียว ชนิดใช้เลนส์เคลือบสารป้องกันการสะท้อนของแสงและป้องกันรังสีคลื่นแม่เหล็กด้วย.
รหัสข่าว: B-100503004081
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์