รายงานชี้แรงงานไทย 3 กลุ่มยังวิกฤติ โดนเอาเปรียบทั้งเด็ก-คนพิการ-แรงงานข้ามชาติ ทำงานหนักแต่ค่าแรงถูก สปส.โวยโรคเรื้อรังภาระกองทุน
รศ.ดร.ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา รองอธิการบดีฝ่ายความร่วมมือและเครือข่าย และอาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม (วปส.) มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า วปส.ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดทำรายงานสุขภาพคนไทย ปี 2553 เรื่อง "วิกฤตทุนนิยม สังคมมีโอกาส" ได้รวบรวมดัชนีชี้วัด 12 ด้าน โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2552 เรื่องปัญหาแรงงานเด็ก พบว่ามีแรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มากถึง 12% ของแรงงานกลุ่มอาชีพขั้นพื้นฐานหรือแรงงานไร้ฝีมือทั้งหมด แต่กลับต้องทำงานหนักเท่าแรงงานผู้ใหญ่คือเดือนละ 22 วัน เฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมง หากเป็นแรงงานต่างด้าวจากพม่า กัมพูชา จะอยู่ที่ 28 วันต่อเดือน หรือแทบไม่มีวันหยุดเลย
นอกจากนี้ ยังพบว่ากลุ่มผู้พิการอายุ 15 ปีขึ้นไป มีงานทำมีเพียง 1 ใน 3 ของผู้พิการทั้งหมด โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคการเกษตร ประมง ที่สำคัญคือ ได้ค่าจ้างขั้นต่ำต่อวันน้อยกว่าแรงงานปกติ โดย 53.2% ของแรงงานพิการ มีรายได้เฉลี่ย 3,000 บาท ขณะที่แรงงานปกติที่ไม่มีประสบการณ์ มีรายได้น้อยที่สุดอยู่ที่ภาคเหนือ เฉลี่ยเดือนละ 7,610 บาท
"กลุ่มแรงงานเด็ก คนพิการ ผู้สูงอายุ แรงงานในต่างประเทศ ยังถือว่าเป็นกลุ่มที่ถูกเอาเปรียบอยู่ในภาวะยากลำบาก โดยเฉพาะถูกหลอกไปทำงานต่างประเทศ มีทั้งโดนหลอกจ่ายค่านายหน้า กดขี่ค่าแรง จนถึงหลอกไปขายบริการทางเพศ เป็นเพราะกฎหมายคุ้มครองแรงงานล้าสมัย ไม่เข้มงวด และไม่มีการส่งเสริมสิทธิขั้นพื้นฐานให้แก่ผู้พิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องเร่งแก้ปัญหา" รศ.ดร.ชื่นฤทัยระบุ
ด้าน นพ.สนธยา พรึงลำภู ที่ปรึกษาการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีแรงงานที่ได้รับการคุ้มครองสวัสดิการตามกฎหมายประกันสังคม จำนวน 8 ล้านกว่าคน และจัดเก็บเงินสมทบจากนายจ้างในกองทุนเงินทดแทนได้ ประมาณ 2,800 กว่าล้านบาท แต่พบว่ามีการจ่ายเงินทดแทนให้ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิรับเงินทดแทน 1,688 ล้านบาท หรือ 58.72% ของเงินกองทุนฯ โดยมีค่าใช้จ่ายให้ผู้ป่วยเรื้อรังมากถึง 1 ใน 4 ของกองทุน และกำลังเป็นภาระให้แก่กองทุนอย่างมากในปัจจุบัน.
รหัสข่าว: B100503008017