นายวินัย วิทวัสการเวช อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยถึงนโยบายการการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีว่าได้พุ่งเป้าหมายไปที่กลุ่มผู้ประกอบการและประชาชนที่มีรายได้แต่ยังไม่เข้าสู่ระบบการเสียภาษีอย่างถูกต้อง หนึ่งในกลุ่มผู้ประกอบการที่กรมสรรพากรเห็นว่า สร้างรายได้อย่างมาก แต่ยังเสียภาษีไม่ถูกต้อง คือ กลุ่มผู้ประกอบการที่ขายสินค้าผ่านระบบอินเตอร์เนต หรือ อี-คอมเมิร์ซ โดยอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลซึ่งจะนำไปสู่การจัดเก็บภาษีอย่างถูกต้องแหล่งข่าวจากกรมสรรพากร เปิดเผยว่ากำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำเป็นรูปแบบการสืบค้นก่อนเก็บภาษี เช่น มีผู้ประกอบธุรกิจประเภทนี้กี่ราย ค้าขายสินค้าใดบ้าง มีหน้าร้านหรือไม่ มีรายใดเสียภาษีถูกต้องและไม่ถูกต้อง รวมถึงเส้นทางการเงินของผู้ประกอบการเหล่านี้
โดยพบว่าปัจจุบันมีผู้จดทะเบียนกับสำนักงานกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เพื่อประกอบธุรกิจผ่านระบบอินเตอร์เนต มีประมาณ 500 ราย ขณะที่มีผู้ประกอบการที่ยังไม่เข้าสู่ระบบกว่า 5 พันราย ในจำนวนนี้มีประมาณ 60% ที่ไม่มีหน้าร้านกล่าวคือ ขายสินค้าผ่านอินเตอร์เนต โดยไม่มีที่ตั้งสำนักงาชัดเจน
สำหรับมูลค่าการค้าขายนั้นข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่ามีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องกล่าวคือนับจากปี 2549 ที่มีมูลค่าการซื้อขาย 3.05 แสนล้านบาท และในปี 2550 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 4.27 แสนล้านบาท ส่วนในปี 2551 มีกว่า 5.27 แสนล้านบาท ซึ่งกรมสรรพากรเชื่อว่าขณะนี้มูลค่าการซื้อขายจะต้องมีจำนวนมากกว่านั้น
"ขณะนี้ได้รวบรวมรายชื่อไว้บ้างแล้วพบว่ามีประมาณ 1 พันราย ที่เข้ามาอยู่ในระบบ ซึ่งมีทั้งผู้ประกอบธุรกิจค้าขายเสื้อผ้าและเครื่องประดับ 42% ถัดมาเป็นการค้าขายเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ 17% บริการ 10% ท่องเที่ยว 7.8% รถยนต์ 3.2% ที่เหลือเป็นธุรกิจอื่นๆ เบื้องต้นจะเข้าไปดูข้อมูลเฉพาะการซื้อขายในประเทศเพราะตรวจสอบได้ง่ายกว่า" แหล่งข่าวกล่าวบรรยายภาพB-5:วินัย วิทวัสการเวช
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า
รหัสข่าว: B100-524005041