นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยเมื่อวันที่ 2 มิถุนายนว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ร่วมมือกับกรมสุขภาพจิตสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพจัดทำการสำรวจสุขภาพจิตคนไทยไปพร้อมกับการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี2552 พบว่า ในปี 2552 คนไทยอายุ 15ปีขึ้นไปมีคะแนนสุขภาพจิตอยู่ที่ 33.09 คะแนน ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้สำหรับสุขภาพจิตของคนทั่วไป(คือ 27.01-34 คะแนน) และในจำนวนนี้เป็นผู้ที่มีสุขภาพจิต ต่ำกว่าคนทั่วไปร้อยละ12.8 และผู้ที่สูงกว่าคนทั่วไปร้อยละ 37.7
ผลสำรวจปี 52 คนไทยสุขภาพจิตดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2551 พบว่าคนไทยมีสุขภาพจิตโดยเฉลี่ยดีขึ้น(ปี 2551 31.80 คะแนน)โดยมีสัดส่วนของคนที่มีสุขภาพจิตสูงกว่าคนทั่วไปเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10 (จากร้อยละ 27.7 เป็นร้อยละ 37.7) และสัดส่วนของคนที่มีสุขภาพจิตต่ำกว่าคนทั่วไปลดลงร้อยละ 5.0 (จากร้อยละ 17.8 เป็นร้อยละ 12.8) ชายสุขภาพจิตดีกว่าหญิง เมื่อพิจารณาสุขภาพจิตของคนไทยตามเพศ และอายุพบว่าเป็นไปในลักษณะเช่นเดียวกันทั้ง 2 ปี คือชายมีสุขภาพจิตดีกว่าหญิง และผู้ที่มีอายุ 40 - 59 ปี เป็นกลุ่มที่มีสุขภาพจิตสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่ากลุ่มอายุนี้มีอาชีพและฐานะทางการเงินที่มั่นคงมากกว่ากลุ่มอายุอื่น สำหรับกลุ่มคนสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป)
ในปี 2552 มีคะแนนสุขภาพจิต 32.89 คะแนน ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเท่ากับคนทั่วไปถึงแม้ว่าจะมีคะแนนสุขภาพจิตต่ำกว่ากลุ่มอื่นๆเล็กน้อย แต่พบว่าคะแนนสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นจากปี2550 มากกว่ากลุ่มอื่นๆ คือเพิ่มขึ้นถึง 1.45 คะแนน(จาก 31.44 คะแนน ในปี 2551 เป็น 32.89 คะแนน ในปี 2552)
พบระดับการศึกษาและสุขภาพจิตมีความสัมพันธ์กัน จากการสำรวจ พบว่าระดับการศึกษาและสุขภาพจิตมีความสัมพันธ์ไปในทางเดียวกันทั้ง 2 ปี นั่นคือผู้ที่มีการศึกษาสูงกว่าจะมีสุขภาพจิตดีกว่าผู้ที่มีการศึกษาต่ำกว่า คือผู้ที่มีการศึกษาในระดับอุดมศึกษามีสุขภาพจิตดีที่สุดและผู้ที่ไม่มีการศึกษา/มีการศึกษาต่ำกว่าประถมมีสุขภาพจิตต่ำสุดทั้ง 2 ปี แต่อย่างไรก็ตาม พบว่ากลุ่มผู้ที่ไม่มีการศึกษาฯมีสุขภาพจิตดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คือเพิ่มจาก 30.29 เป็น 32.62 คะแนนอาจเป็นเพราะได้รับความช่วยเหลือจากนโยบายของรัฐบาลมากกว่ากลุ่มอื่น
เมื่อพิจารณาสุขภาพจิตคนไทยในปี 2552 ตามการมี/ได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาล พบว่า ผู้ที่มี/ได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาล มีสุขภาพจิตดีกว่าผู้ที่ไม่มี/ไม่ได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาล ซึ่งอาจเนื่องจากรู้สึกว่าได้รับความคุ้มครองในชีวิตเมื่อยามเจ็บป่วย โดยผู้ที่มี/ได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาลจากราชการ/รัฐวิสาหกิจมีสุขภาพจิตดีกว่าผู้ที่มี/ได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาลจากแหล่งอื่นๆ คือมีสุขภาพจิตสูงถึง 35.03 คะแนน
ซึ่งสูงกว่าระดับสุขภาพจิตของคนทั่วไป รองลงมาคือผู้ที่มีประกันสุขภาพเอกชน/มีสวัสดิการรักษาพยาบาลมากกว่า 2 แหล่ง (ที่ไม่ใช่จากราชการ/รัฐวิสาหกิจ) (34.59 คะแนน) ในขณะที่ ผู้ที่มีเฉพาะประกันสุขภาพถ้วนหน้า และผู้ที่มีเฉพาะประกันสังคม/สวัสดิการรักษาพยาบาลจากนายจ้างซึ่งสูงกว่าระดับสุขภาพจิตของคนทั่วไป รองลงมาคือผู้ที่มีประกันสุขภาพเอกชน/มีสวัสดิการรักษาพยาบาลมากกว่า 2 แหล่ง (ที่ไม่ใช่จากราชการ/รัฐวิสาหกิจ)(34.59 คะแนน) ในขณะที่ผู้ที่มีเฉพาะประกันสุขภาพถ้วนหน้าและผู้ที่มีเฉพาะประกันสังคม/สวัสดิการรักษาพยาบาลจากนายจ้าง มีสุขภาพจิตที่ใกล้เคียงกัน คือ 32.88 และ 32.65 คะแนนซึ่งยังอยู่ในระดับมาตรฐานสุขภาพจิตของคนทั่วไป
เมื่อพิจารณาสุขภาพจิตของคนไทยในปี2552 ตามเขตการปกครอง พบว่าคนไทยทั้งในเขตและนอกเขตเทศบาลมีสุขภาพจิตดีกว่าปี 2551 โดยเฉพาะผู้ที่อยู่นอกเขตเทศบาล ที่มีสุขภาพจิตดีขึ้นมากกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด และดีกว่าผู้ที่อยู่ในเขตเทศบาล ซึ่งจะแตกต่างกับปี 2551 เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่าในปี 2552 คนไทยทุกภาค ยกเว้นกรุงเทพฯ มีสุขภาพจิตดีขึ้นกว่าปี2551 โดยภาคใต้ยังเป็นภาคที่มีคะแนนสุขภาพจิตสูงสุดเช่นเดิม สำหรับผู้ที่อยู่ในกรุงเทพฯ พบว่าคะแนนสุขภาพจิตลดลงจาก 32.09 เป็น 31.90 คะแนน ซึ่งอาจเนื่องจากผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจสังคม และการเมืองในช่วงปีที่ผ่านมาที่ทำให้ประชาชนทุกข์มากกว่าสุข
จากผลการสำรวจ พบว่าผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่มีจำนวนคนทำงานหารายได้มากจะมีสุขภาพจิตดีกว่าครัวเรือนที่มีคนทำงานน้อย ซึ่งอาจเนื่องจากรู้สึกว่ามีความมั่นคงในชีวิตและสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ เมื่อพิจารณาภาระพึ่งพิงของครัวเรือน พบว่าผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่มีภาระพึ่งพิงน้อยคือมีสัดส่วนของคนทำงานมากกว่าคนไม่ทำงานจะมีสุขภาพจิตดีกว่าผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่มีภาระพึ่งพิงมาก(มีคนทำงานน้อยกว่าหรือเท่ากับคนไม่ทำงาน หรือไม่มีคนทำงานเลย) แต่มีข้อสังเกตว่าผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่ไม่มีคนพึ่งพิง คือมีเฉพาะคนทำงาน กลับมีสุขภาพจิตต่ำกว่าผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่มีภาระพึ่งพิง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะคนที่มีภาระพึ่งพิงอยู่ในครัวเรือน มีความรู้สึกเป็นสุขที่ครอบครัวเป็นส่วนสำคัญในการอยู่เคียงข้าง ให้กำลังใจ ให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาในยามที่ต้องเผชิญกับปัญหา ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีผลทำให้มีสุขภาพจิตดีกว่าคนที่ไม่มีภาระพึ่งพิงในครัวเรือนซึ่งส่วนหนึ่งพบว่าเป็นผู้ที่อยู่คนเดียว อาจจะมีความรู้สึกโดดเดี่ยว จึงทำให้สุขภาพจิตต่ำกว่า
ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย
รหัสข่าว: B-100603033002