สำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยผลการสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากรประจำเดือนมี.ค.53 พบว่า มีจำนวนผู้มีอายุ 15 ปีขึ้นไปหรือผู้อยู่ในวัยทำงานทั้งสิ้น 53.28 ล้านคน เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน หรือผู้ที่พร้อมทำงาน 38.29 ล้านคน ซึ่งประกอบด้วย ผู้มีงานทำ 37.60 ล้านคน ผู้ว่างงาน 3.68 แสนคน และผู้รอฤดูกาล 3.17 แสนคน ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงานมี 14.99 ล้านคน
นางจีราวรรณ บุญเพิ่มผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า ในจำนวนผู้มีงานทำ37.60 ล้านคนนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้มีงานทำในช่วงเวลาเดียวกันกับปี '52 พบว่าเพิ่มขึ้น 1.03 ล้านคน (จาก 36.57 ล้านคน เป็น37.60 ล้านคน) หรือเพิ่มขึ้น 2.8%
โดยผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 5.5 แสนคน (จาก 12.51 ล้านคน เป็น 13.06 ล้านคน) และผู้ทำงานนอกภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น4.8 แสนคน (จาก 24.06 ล้านคน เป็น 24.54 ล้านคน) ซึ่งเป็นการเพิ่มในสาขาการโรงแรมและภัตตาคารมากที่สุด 2.6 แสนคน รองลงมาสาขาการขายส่งและขายปลีก 2.2 แสนคน สาขาการศึกษา 1.6 แสนคน และสาขาอสังหาริมทรัพย์ฯ 7 หมื่นคน
ส่วนสาขาอุตสาหกรรมที่ลดลงเป็นสาขาการก่อสร้างและสาขาการขนส่ง ลดลงเท่ากันคือ 9 หมื่นคน สาขาการผลิตลดลง 2 หมื่นคน ที่เหลือกระจายอยู่ในสาขาอื่นๆ
สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตในเดือนมี.ค.53 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปี '52 มีจำนวนผู้ทำงานเพิ่มขึ้นและลดลงในกิจกรรมที่สำคัญ คือลดลงในกลุ่มการผลิตเครื่องแต่งกาย6.4 หมื่นคน การผลิตสิ่งทอ 3.7 หมื่นคน การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโลหะประดิษฐ์ 3.2 หมื่นคน การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 3 หมื่นคนการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม 2.4 หมื่นคน การผลิตโลหะขั้นมูลฐาน 1.6 หมื่นคน
ส่วนการผลิตที่เพิ่มขึ้น อยู่ในกลุ่มการผลิตเฟอร์นิเจอร์ 6.1 หมื่นคน การผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ 4.6 หมื่นคน การผลิตเครื่องจักรและเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า 2.6 หมื่นคน การพิมพ์โฆษณา การพิมพ์ และการทำสำเนาสื่อบันทึก 2 หมื่นคน ที่เหลือกระจายอยู่ในการผลิตอื่นๆ
ด้านจำนวนของผู้ว่างงานในเดือนมี.ค.53 มีจำนวนทั้งสิ้น 3.68 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 1% และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปี '52 มีจำนวนผู้ว่างงานลดลง 3.43 แสนคน หรือลดลง0.9% แต่เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดือนก.พ.53 มีผู้ว่างงานลดลง 1.5 หมื่นคน(จาก 3.83 แสนคน เป็น 3.68 แสนคน)
สำหรับระดับการศึกษาที่สำเร็จของผู้ว่างงานในเดือนมี.ค.53 พบว่า ผู้ที่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษามีจำนวนมากที่สุด 1.16 แสนคน (1.8%) รองลงมาเป็นผู้ที่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 8.1 หมื่นคน (1.3%) มัธยมศึกษาตอนปลาย 6.8 หมื่นคน(1.3%) ระดับประถมศึกษา 6.7 หมื่นคน (0.8%)และไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 3.6 หมื่นคน (0.3%)
เมื่อเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันกับปี '52 พบว่า จำนวนผู้ว่างงานลดลงในทุกระดับการศึกษา โดยผู้ว่างงานในระดับการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลายลดลงมากที่สุด 1.11 แสนคนรองลงมาเป็นระดับประถมศึกษา 8.6 หมื่นคนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 8.1 หมื่นคน ระดับอุดมศึกษาลดลง 5.1 หมื่นคน และผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษาลดลงน้อยที่สุด1.4 หมื่นคน
หากพิจารณาอัตราการว่างงาน เป็นรายภาคพบว่า ภาคใต้มีอัตราการว่างงานสูงที่สุดคือ 1.3%รองลงมาเป็นภาคกลาง 1.1% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1% กรุงเทพฯ และภาคเหนือมีอัตราการว่างงานเท่ากันคือ 0.7%
ถ้าเปรียบเทียบอัตราการว่างงานในช่วงเวลาเดียวกันกับปี '52 พบว่า ทุกภาคมีอัตราการว่างงานลดลง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราการว่างงานลดลงมากที่สุด 1.4%รองลงมาเป็นภาคเหนือลดลง 1% กรุงเทพฯ0.7% ภาคกลางและภาคใต้อัตราการว่างงานลดลงเท่ากัน คือ 0.5%
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด
รหัสข่าว: B-100603012126