การสำรวจค่าตอบแทนภาคเอกชน ครอบคลุมสถานประกอบการในภาคเอกชนทั่วประเทศที่มีพนักงานประจำ หรือลูกจ้างตั้งแต่101 คนขึ้นไป ซึ่งประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ การผลิตการไฟฟ้า ก๊าซ และการประปา การก่อสร้างการขายส่ง การขายปลีกฯ โรงแรมและภัตตาคาร การขนส่งฯ การเป็นตัวกลางทางการเงิน กิจกรรมด้านอสังหาริมทรัพย์ฯโรงพยาบาลเอกชนและการบริการด้านนันทนาการฯ จำนวนทั้งสิ้น 6,130 แห่ง ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2552 ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) และสำนักงานสถิติแห่งชาติ น่าสนใจอย่างยิ่ง
เพราะไม่เพียงทำให้รู้ว่าอาชีพไหนที่ค่าตัวแพงที่สุด แต่ยังทำให้นายจ้างและลูกจ้างทราบถึงความเคลื่อนไหวด้านข้อมูลพื้นฐานในการจ้างงานของตลาดในแต่ละสาขา
โดยพบว่า ค่าตอบแทนของพนักงานประจำ(ไม่รวมโรงพยาบาลเอกชน) ในปี 2551 ผู้ที่ทำงานในระดับผู้อำนวยการฝ่าย ได้รับเงินค่าตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 99,802 บาทต่อเดือน
ระดับผู้จัดการแผนก ได้รับเงินค่าตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 53,532 บาทต่อเดือน สำหรับระดับหัวหน้างานระดับต้นและผู้ปฏิบัติที่มีวุฒิปริญญาตรีขึ้นไป ได้รับเงินค่าตอบแทนเฉลี่ยเดือนละประมาณ 29,718 บาทและ 19,179 บาทตามลำดับ
ส่วนผู้ปฏิบัติงานที่มีวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรีได้รับเงินค่าตอบแทนเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ12,547 บาท
เมื่อเปรียบเทียบค่าตอบแทนเฉลี่ย ในระยะ12 ปีที่ผ่านมา พบว่า ค่าตอบแทนเฉลี่ยต่อเดือนของพนักงานประจำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกระดับตำแหน่ง
โดยในปี 2551 พนักงานระดับหัวหน้างานระดับต้นมีอัตราการเพิ่มของค่าตอบแทนเฉลี่ยต่อเดือนสูงกว่าระดับตำแหน่งอื่นๆ คือร้อยละ 9.9 หรือจาก 27,050 บาทในปี 2548 เป็น 29,718 บาท ในปี 2551
รองลงมา คือ ระดับผู้จัดการแผนก และผู้อำนวยการฝ่าย มีค่าตอบแทนเฉลี่ยต่อเดือนเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 4.0 และ 1.4 ตามลำดับ
ในขณะที่ระดับผู้ปฏิบัติได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ยต่อเดือนลดลงจากปี 2548 ร้อยละ 14.2
สำหรับโรงพยาบาลเอกชนในปี 2551 พบว่าเจ้าหน้าที่ระดับบริหาร ตำแหน่งผู้อำนวยการได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ยสูงสุดคือ 143,552 บาทรองลงมาคือ ตำแหน่งรองผู้อำนวยการ และผู้ช่วยผู้อำนวยการ 96,828 บาทและ 67,313 บาทตามลำดับ สำหรับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายหัวหน้าตึก และหัวหน้าแผนก จะได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ยต่อเดือนน้อยกว่า 42,000 บาท
อาชีพสุดฮอตที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดพนักงานตำแหน่งนักวิชาการคอมพิวเตอร์นักเขียนโปรแกรม ได้รับเงินเดือนเฉลี่ยหลังการทดลองงานสูงกว่าตำแหน่งอื่นๆ ระดับปวช.หรือเทียบเท่า เฉลี่ยประมาณเดือนละ 7,358 บาท
ในกลุ่มวุฒิปริญญาตรี หรือเทียบเท่า พบว่าตำแหน่งเภสัชกร ได้รับเงินเดือนเฉลี่ยหลัง
ทดลองงานสูงสุดประมาณ 16,850 บาท รองลงมา คือ สถาปนิก ได้รับเงินเดือนเฉลี่ยประมาณ 15,114 บาท ตำแหน่งวิศวกรเหมืองแร่วิศวกรไฟฟ้า เครื่องกล นักทรัพยากรธรณี และนักรังสีการแพทย์ ได้รับเงินเดือนเฉลี่ยใกล้เคียงกัน ประมาณ 14,888 บาท14,797 บาท และ 14,356 บาทตามลำดับ
สำหรับเงินเพิ่มอื่นเฉลี่ยหลังพ้นการทดลองงานที่พนักงานใหม่ได้รับ พบว่า ตำแหน่งนักโภชนาการได้รับเงินเพิ่มอื่นเฉลี่ยต่อเดือนมากที่สุด คือ ประมาณ 5,604 บาทรองลงมา คือตำแหน่งนิติกร นักกฎหมาย พยาบาล และเภสัชกรประมาณ 3,907 บาท 3,662 บาทและ 3,153 บาท ตามลำดับ
ส่วนตำแหน่งอื่นๆ ได้รับเงินเพิ่มอื่นเฉลี่ยต่อเดือนน้อยกว่า3,000 บาท
ในขณะที่วุฒิปริญญาโทและเอกจากการสำรวจพบว่า ตำแหน่งแพทย์ได้รับเงินเดือนเฉลี่ยหลังทดลองงานสูงสุด ประมาณ51,768 บาท รองลงมา คือ ตำแหน่งทันตแพทย์ประมาณ 46,154 บาท ส่วนเงินเพิ่มอื่นเฉลี่ยหลังพ้นการทดลองงานที่พนักงานใหม่ได้รับพบว่า ตำแหน่งทันตแพทย์ได้รับเงินเพิ่มอื่นเฉลี่ยต่อเดือนมากที่สุดประมาณ 10,423 บาท
รองลงมาคือ แพทย์และนักวิชาการขนส่ง นักโลจิสติกส์ ได้รับเงินเพิ่มอื่นเฉลี่ยประมาณ 8,878 บาทและ 7,595 บาทตามลำดับ
--มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 มิ.ย. 2553--
รหัสข่าว: C-100604031100