สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจยอดขายรายไตรมาสเป็นประจำทุกปี การสำรวจครั้งนี้เป็นการดำเนินการในไตรมาส 1 ของปี 2553 โดยใช้ขนาดตัวอย่างรวม 5,292 แห่ง จากสถานประกอบการทั่วประเทศ ทั้งสิ้นประมาณ 1.2 ล้านแห่ง ข้อมูลที่เก็บรวบรวม ได้แก่ ข้อมูลเกี่ยวกับการจำหน่ายปลีกสินค้าและบริการของสถานประกอบการ และข้อมูลสินค้าคงเหลือของธุรกิจประเภทขายปลีก
ผลการสำรวจในปี 2553 ไตรมาส 1 ทั่วราชอาณาจักรสรุปได้ดังนี้
1. การเปลี่ยนแปลงมูลค่าขาย/รายรับระหว่างไตรมาส 1 ปี 2553 และไตรมาส 4 ปี 2552
ในไตรมาส 1 ปี 2553 ภาพรวมของธุรกิจทั่วประเทศขยายตัวจากไตรมาส 4 ปี 2552 ร้อยละ 3.9 โดยธุรกิจเกือบทุกประเภทมีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท เกสต์เฮาส์ และหอพัก มีรายรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนสูงที่สุดร้อยละ 22.9 รองลงมาคือธุรกิจการให้เช่าของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน และการบริการอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 และร้อยละ 3.8 ตามลำดับ สำหรับกิจรรมนันทนาการ สำนักข่าว และการกีฬามีรายรับลดลงจากไตรมาสก่อนเล็กน้อยร้อยละ 2.7
1.1 ธุรกิจค้าปลีก
สำหรับธุรกิจค้าปลีก พบว่า ไตรมาส 1 ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมา เหลือร้อยละ 3.0 โดยกิจการเกือบทุกขนาดมียอดขายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกิจการที่มีคนทำงาน 16 - 25 คน มียอดขายเพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 5.4 รองลงมาคือกิจการที่มีคนทำงาน 1 - 15 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 สาเหตุที่มียอดขายเพิ่มขึ้นนั้น สถานประกอบการร้อยละ 45.6 รายงานว่าเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ ทำให้มีประชาชนจับจ่ายใช้สอยสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภคมากขึ้น
สำหรับกิจการที่มีคนทำงาน 26 - 30 คน และ 31 - 50 คน พบว่า ในไตรมาส 1 มียอดขายลดลงร้อยละ 9.0 และร้อยละ 2.1 ตามลำดับ สาเหตุที่มียอดขายลดลงนั้นสถานประกอบการร้อยละ 35.1 รายงานว่าเนื่องจากลูกค้ามีกำลังซื้อลดลง
ประเภทของธุรกิจค้าปลีกที่มียอดขายเพิ่มขึ้นในไตรมาส 1 ได้แก่ ขายปลีกสินค้าทั่วไป ห้างสรรพสินค้า (ร้อยละ 8.3) ขายปลีกเครื่องโลหะ สีทา และกระจก (ร้อยละ 7.1) ขายปลีกสินค้าอื่น ๆ (ร้อยละ 4.6) ขายปลีกของใช้แล้ว ขายโดยไม่มีร้านซ่อมแซมของใช้ (ร้อยละ 4.1) ขายปลีกอาหาร เครื่องดื่ม หรือยาสูบ ในร้านเฉพาะอย่าง (ร้อยละ 4.1) ขายปลีกยา เวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง (ร้อยละ 1.4) ขายปลีกอาหาร เครื่องดื่ม หรือยาสูบ เป็นสินค้าหลักดิสเคาน์สโตร์ ร้านสะดวกซื้อ (ร้อยละ 0.6) และขายปลีกสิ่งทอ เสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องหนัง (ร้อยละ 0.5) สำหรับธุรกิจค้าปลีกที่มียอดขายลดลงในไตรมาส 1 ได้แก่ ขายปลีกเครื่องใช้สิ่งของและอุปกรณ์ในครัวเรือน (ร้อยละ 4.7)
1.2 ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท เกสต์เฮาส์ และหอพัก
ธุรกิจประเภทโรงแรม รีสอร์ท เกสต์เฮาส์ และหอพัก มีมูลค่ารายรับขยายตัวจากไตรมาส 4 ปี 2552 ร้อยละ 22.9 โดยกิจการทุกขนาดมีรายรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกิจการที่มีคนทำงาน 51 - 200 คน และมากกว่า 200 คนขึ้นไป มีรายรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 27.6 และร้อยละ 25.3 ตามลำดับ รองลงมาคือกิจการที่มีคนทำงาน 26 - 30 คน และ 16 - 25 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.7 และร้อยละ 16.1 ตามลำดับ
สาเหตุที่มีรายรับเพิ่มขึ้นนั้น สถานประกอบการมากกว่าสองในสามหรือร้อยละ 70.0 รายงานว่าเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ ทำให้มีการท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งเป็นผลให้อัตราการพักแรมเพิ่มขึ้น
1.3 ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร
ในไตรมาส 1 ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหารมีมูลค่ารายรับขยายตัวจากไตรมาสที่ผ่านมา ร้อยละ 3.4 โดยกิจการที่มีคนทำงาน 51 - 200 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 6.7 รองลงมาคือกิจการที่มีคนทำงาน 1 - 15 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 สาเหตุที่มีรายรับเพิ่มขึ้นนั้น สถานประกอบการส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.8 รายงานว่าเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ ทำให้ประชาชนมีการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคเพิ่มขึ้น
สำหรับกิจการที่มีคนทำงาน 31 - 50 คน และมากกว่า 200 คนขึ้นไป พบว่า ในไตรมาส 1 มีรายรับลดลงสูงที่สุดร้อยละ 4.2 และร้อยละ 4.0 ตามลำดับ สาเหตุที่มีรายรับลดลงนั้น สถานประกอบการครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 50.0 รายงานว่าเนื่องจากลูกค้ามีกำลังซื้อลดลงและอีกร้อยละ 35.0 รายงานว่าภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลง
1.4 ธุรกิจการให้เช่าของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน
ธุรกิจการให้เช่าของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน เช่น การให้เช่ากล้องและอุปกรณ์การถ่ายภาพ การให้เช่าวีดีโอ วีซีดี และดีวีดี การให้เช่าเครื่องแต่งกายที่ใช้ในงานพิธีต่าง ๆ การให้เช่าโต๊ะ เก้าอี้ เครื่องครัว และการให้เช่าหนังสือ เป็นต้น พบว่า ในไตรมาส 1 มีมูลค่ารายรับขยายตัวจากไตรมาส 4 ปี 2552 ร้อยละ 3.9 โดยกิจการเกือบทุกขนาดมีรายรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกิจการที่มีคนทำงาน 1 - 15 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 4.0 รองลงมาคือกิจการที่มีคนทำงาน 16 - 25 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 สาเหตุที่มีรายรับเพิ่มขึ้นนั้น สถาน-ประกอบการส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.2 รายงานว่าเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ ทำให้มีผู้มาใช้บริการมากขึ้น และอีกร้อยละ 25.7 รายงานว่าลูกค้ามีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น
สำหรับกิจการที่มีคนทำงาน 31 - 50 คน มีรายรับลดลงในไตรมาส 1 ร้อยละ 4.5 สาเหตุที่มีรายรับลดลงนั้น สถานประกอบการร้อยละ 25.3 รายงานว่าเนื่องจากมีคู่แข่งทางการค้าเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีลูกค้าลดลง
1.5 กิจกรรมนันทนาการ สำนักข่าว และการกีฬา
ด้านกิจกรรมนันทนาการ สำนักข่าว และการกีฬา พบว่า ในไตรมาส 1 มีมูลค่ารายรับหดตัวลงร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา โดยกิจการเกือบทุกขนาดมีรายรับลดลง โดยเฉพาะกิจการที่มีคนทำงาน 1 - 15 คน มีรายรับลดลงสูงที่สุดร้อยละ 6.3 รองลงมาคือกิจการที่มีคนทำงาน 16 - 25 คน ลดลงร้อยละ 6.2 สาเหตุที่มีรายรับลดลงนั้น สถานประกอบการร้อยละ 38.0 รายงานว่าเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลง และอีกร้อยละ 20.7 รายงานว่ามีคู่แข่งทางการค้าเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีลูกค้าลดลง ธุรกิจที่มีรายรับลดลงในไตรมาส 1 ได้แก่ ฉายภาพยนตร์ วีดีโอ นันทนาการอื่น ๆ ละคร ดนตรี ศิลปะ การกีฬา ผลิต ขาย ให้เช่ารายการวิทยุ โทรทัศน์ และผลิตและจำหน่ายภาพยนตร์ วีดีโอ
สำหรับกิจการที่มีคนทำงาน 31 - 50 คน และ 51 - 200 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 1 ร้อยละ 2.6 และร้อยละ 0.2 ตามลำดับ สาเหตุที่มีรายรับเพิ่มขึ้นนั้น สถานประกอบการส่วนใหญ่หรือร้อยละ 60.8 รายงานว่าเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ ทำให้มีผู้มาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น และอีกร้อยละ 34.7 รายงานว่าลูกค้ามีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น
1.6 ธุรกิจการบริการอื่น ๆ
ธุรกิจการบริการอื่นๆ ได้แก่ บริการซักรีด ทำความสะอาด บริการเสริมสวย สถานเสริมความงามต่างๆ กิจกรรมเกี่ยวกับการทำศพ และการบริการอื่นๆ พบว่า ในไตรมาส 1 มีมูลค่ารายรับชะลอตัวลงจากไตรมาส 4 ปี 2552 ร้อยละ 3.8 โดยกิจการที่มีคนทำงานมากกว่า 200 คนขึ้นไป และ 1 - 15 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 1 สูงที่สุดร้อยละ 11.9 และร้อยละ 4.6 ตามลำดับ สาเหตุที่มีรายรับเพิ่มขึ้นนั้น สถานประกอบการร้อยละ 35.9 รายงานว่าเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ ทำให้มีผู้มาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น
สำหรับกิจการที่มีคนทำงาน 16 - 25 คน พบว่า มีรายรับลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 5.9 ส่วนกิจการขนาดอื่นๆ มีรายรับลดลงไม่เกินร้อยละ 3.0 สาเหตุที่มีรายรับลดลงนั้น สถานประกอบการร้อยละ 31.0 รายงานว่าเนื่องจากมีคู่แข่งทางการค้าเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีลูกค้าลดลง และอีกร้อยละ 30.5 รายงานว่ากำลังซื้อของลูกค้าลดลง
2. การเปลี่ยนแปลงมูลค่าขาย/รายรับระหว่างไตรมาส 1 ปี 2553 และไตรมาส 1 ปี 2552
ในไตรมาส 1 ปี 2553 ภาพรวมของธุรกิจทั่วประเทศขยายตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2552 โดยขยายตัวร้อยละ 1.9 ธุรกิจทุกประเภทมีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจการบริการอื่นๆ มีรายรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันกับปีก่อนสูงที่สุดร้อยละ 14.0 รองลงมาคือธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร มีรายรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8
เมื่อพิจารณาตามขนาดของสถานประกอบการ พบว่า ในไตรมาส 1 กิจการเกือบทุกขนาดมีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันกับปีที่แล้ว โดยกิจการที่มีคนทำงาน 16 - 25 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 13.2 รองลงมาคือกิจการที่มีคนทำงาน 31 - 50 คน และ 1 - 15 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 และร้อยละ 3.8 ตามลำดับ ส่วนกิจการที่มีคนทำงาน 26 - 30 คน กลับมีรายรับลดลงในไตรมาส 1 สูงที่สุดร้อยละ 29.5
3. การเปลี่ยนแปลงมูลค่าสินค้าคงเหลือระหว่างไตรมาส 1 ปี 2553 และไตรมาส 4 ปี 2552 ของการขายปลีก
ภาพรวมของมูลค่าสินค้าคงเหลือของธุรกิจค้าปลีก ในไตรมาส 1 ปี 2553 พบว่า หดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2552 โดยมีมูลค่าสินค้าคงเหลือลดลงร้อยละ 2.6 ในส่วนของการขายปลีกสินค้าแต่ละประเภท พบว่า การขายปลีกสินค้าทั่วไป ห้างสรรพสินค้า มีมูลค่าสินค้าคงเหลือลดลงสูงที่สุดร้อยละ 19.5 ในขณะที่การขายปลีกยา เวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง มีมูลค่าสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้นในไตรมาส 1 สูงที่สุดร้อยละ 10.1
เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงมูลค่าสินค้าคงเหลือ ตามขนาดของสถานประกอบการ พบว่า กิจการที่มีคนทำงานมากกว่า 200 คนขึ้นไป มีมูลค่าสินค้าคงเหลือลดลงสูงที่สุดร้อยละ 13.3 ส่วนกิจการที่มีคนทำงาน 31 - 50 คน กลับมีมูลค่าสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 12.1
4. การเปลี่ยนแปลงมูลค่าสินค้าคงเหลือระหว่างไตรมาส 1 ปี 2553 และไตรมาส 1 ปี 2552 ของการขายปลีก
ภาพรวมของมูลค่าสินค้าคงเหลือของธุรกิจค้าปลีก ในไตรมาส 1 ปี 2553 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2552 พบว่าหดตัวที่ร้อยละ 5.2 ในส่วนของการขายปลีกสินค้าแต่ละประเภท พบว่า การขายปลีกสินค้าทั่วไป ห้างสรรพสินค้า มีมูลค่าสินค้าคงเหลือลดลงสูงที่สุดร้อยละ 40.6
สำหรับการขายปลีกเครื่องโลหะ สีทา และกระจก มีมูลค่าสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้นในไตรมาส 1 สูงที่สุดร้อยละ 38.4
เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงมูลค่าสินค้าคงเหลือ ตามขนาดของสถานประกอบการ พบว่า กิจการที่มีคนทำงานมากกว่า 200 คนขึ้นไป มีมูลค่าสินค้าคงเหลือลดลงสูงที่สุดร้อยละ 21.2 ในขณะที่กิจการที่มีคนทำงาน 16 - 25 คน มีมูลค่าสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้นสูงที่สุด ร้อยละ 15.8
5. สรุปผลและข้อเสนอแนะ
ภาพรวมของธุรกิจทั่วประเทศในไตรมาส 1 ปี 2553 ขยายตัวเล็กน้อยจากร้อยละ 3.2 ในไตรมาส 4 ปี 2552 เป็นร้อยละ 3.9 โดยธุรกิจเกือบทุกประเภทมีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท เกสต์เฮาส์ และหอพัก มีรายรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนสูงที่สุดร้อยละ 22.9
เมื่อเปรียบเทียบไตรมาส 1 ปี 2553 กับระยะเดียวกันกับปีที่ผ่านมา พบว่า ในภาพรวมธุรกิจขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.9 โดยเฉพาะธุรกิจการบริการอื่นๆ ขยายตัวร้อยละ 14.0 และธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหารขยายตัวร้อยละ 6.8 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาวะเศรษฐกิจโลก
สำหรับความช่วยเหลือที่ต้องการจากหน่วยงานของรัฐนั้น มีผู้ประกอบการธุรกิจและบริการทั่วประเทศ ร้อยละ 17.6 แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ โดยส่วนใหญ่กว่าครึ่ง เห็นว่าต้องการให้รัฐสนับสนุนแหล่งเงินทุนให้กู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำ นอกจากนั้นผู้ประกอบการบางส่วนต้องการให้รัฐแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ กำหนดมาตรฐานการควบคุมราคาสินค้าให้เข้มงวดมากขึ้น ส่งเสริมการท่องเที่ยวและดูแลรักษาความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว ส่งเสริมสินค้า OTOP และควรสนับสนุนการแสดงพื้นบ้านทุกสาขา เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพของภาคธุรกิจต่อไป