สรุปผลที่สำคัญสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ. 2552

ข่าวทั่วไป Tuesday July 20, 2010 16:21 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

บทสรุปสำหรับผู้บริหาร

สำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารในครัวเรือนเป็นครั้งแรก พ.ศ. 2544 และตั้งแต่ พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา ได้ทำการสำรวจต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยสำรวจไปพร้อมกับภาวะการทำงานของประชากร ในปีนี้ได้สำรวจในไตรมาส 1 (ม.ค.- มี.ค.2552) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทราบจำนวนประชากรที่ใช้คอมพิวเตอร์ ใช้อินเทอร์เน็ตและใช้โทรศัพท์มือถือ พฤติกรรมของการใช้ และจำนวนครัวเรือนที่มีอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เช่น โทรศัพท์พื้นฐาน เครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องโทรสาร และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในครัวเรือน ตลอดจนเรื่องที่ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาควบคุมดูแลการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

การสำรวจใช้วิธีสัมภาษณ์หัวหน้าครัวเรือน และสมาชิกในครัวเรือนที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป จากครัวเรือนส่วนบุคคลและครัวเรือนพิเศษที่ตกเป็นตัวอย่างทั้งสิ้น 79,560 ครัวเรือน ผลการสำรวจสรุปได้ดังนี้

1. การใช้คอมพิวเตอร์/อินเทอร์เน็ต

จากจำนวนประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไปทั้งสิ้นประมาณ 61.3 ล้านคน ในปี 2552 มีผู้ใช้คอมพิวเตอร์ 17.9 ล้านคน หรือร้อยละ 29.3 และมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 12.3 ล้านคน หรือร้อยละ 20.1 เมื่อเปรียบเทียบระหว่างเขตการปกครอง ในเขตเทศบาล มีสัดส่วนของผู้ใช้คอมพิวเตอร์ ร้อยละ 42.0 และผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ร้อยละ 32.7 สูงกว่านอกเขตเทศบาล คือมีผู้ใช้คอมพิวเตอร์ ร้อยละ 23.6 และผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ร้อยละ 14.5

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค กรุงเทพมหานครมีสัดส่วนผู้ใช้คอมพิวเตอร์มากที่สุดคือ ร้อยละ 45.8 รองลงมาคือ ภาคกลาง ร้อยละ 29.8 สำหรับการใช้อินเทอร์เน็ต กรุงเทพมหานครมีผู้ใช้มากที่สุดคือ ร้อยละ 38.0 รองลงมาคือภาคเหนือร้อยละ 19.5 ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีสัดส่วนผู้ใช้คอมพิวเตอร์ และใช้อินเทอร์เน็ตน้อยที่สุด คือร้อยละ 25.3 และร้อยละ 16.7 ตามลำดับ

สัดส่วนการใช้คอมพิวเตอร์หรืออินเทอร์เน็ตของเพศชายใกล้เคียงกับเพศหญิง คือ ชายใช้คอมพิวเตอร์ร้อยละ 29.4 และใช้อินเทอร์เน็ตร้อยละ 19.8 ส่วนหญิงใช้คอมพิวเตอร์ร้อยละ 29.1 และใช้อินเทอร์เน็ตร้อยละ 20.4

เมื่อพิจารณาการใช้คอมพิวเตอร์และใช้อินเทอร์เน็ตในกลุ่มอายุต่าง ๆ พบว่า กลุ่มอายุ 6-14 ปี มีสัดส่วนการใช้คอมพิวเตอร์สูงสุด ร้อยละ 65.4 รองลงมาคือกลุ่มอายุ 15-24 ปี ร้อยละ 55.5 และกลุ่มอายุ 25-34 ปี ร้อยละ 28.4 แต่สัดส่วนการใช้อินเทอร์เน็ตกลับสูงสุดในกลุ่มอายุ 15-24 ปี ร้อยละ 47.3 รองลงมาคือกลุ่มอายุ 6-14 ปี ร้อยละ 29.0 และกลุ่มอายุ 25-34 ปี ร้อยละ 21.5

สำหรับสถานที่ใช้อินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่พบว่าใช้ในสถานศึกษาร้อยละ 46.8 รองลงมาคือ บ้านร้อยละ 33.4 และที่ทำงานร้อยละ 29.0 ส่วนกิจกรรมที่ใช้ ส่วนใหญ่ใช้ในการค้นหาข้อมูลหรือติดตามข่าวสารร้อยละ 80.6 รองลงมาคือเล่นเกมส์ร้อยละ 23.8 และรับ—ส่งอีเมล์ ร้อยละ 18.6 สำหรับความถี่ในการใช้อินเทอร์เน็ตพบว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตใช้ค่อนข้างบ่อย (1-4 วันใน 1 สัปดาห์) ร้อยละ 59.8 รองลงมาใช้เป็นประจำ (5-7 วันใน 1 สัปดาห์) ร้อยละ 25.4

2. การใช้โทรศัพท์มือถือ

ในปี 2552 ประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไปที่ใช้โทรศัพท์มือถือ (ไม่รวมเครื่อง PCT) มีจำนวน 34.8 ล้านคน หรือร้อยละ 56.8 โดยในเขตเทศบาลมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ ร้อยละ 68.9 และนอกเขตเทศบาล ร้อยละ 51.5 เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค กรุงเทพมหานครมีสัดส่วนของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือมากที่สุด คือร้อยละ 75.5 รองลงมา ภาคกลาง ร้อยละ 62.3 ภาคเหนือ ร้อยละ 54.8 ภาคใต้ ร้อยละ 52.6 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 50.2

3. เปรียบเทียบการใช้คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ พ.ศ. 2548-2552

เมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้ใช้คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือในระหว่างปี 2548-2552 พบว่า ผู้ใช้คอมพิวเตอร์และผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมีจำนวนเพิ่มขึ้น คือ ในปี 2548 มีจำนวนผู้ใช้คอมพิวเตอร์ 14.5 ล้านคน (ร้อยละ 25.9) และผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 7.1 ล้านคน (ร้อยละ 12.0) ต่อมาในปี 2552 มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นเป็น 17.9 ล้านคน (ร้อยละ 29.3) และ 12.3 ล้านคน (ร้อยละ 20.1) ตามลำดับส่วนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ ในปี 2548 มีผู้ใช้ 21.7 ล้านคน (ร้อยละ 36.7) ต่อมาในปี 2552 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 34.8 ล้านคน (ร้อยละ 56.8)

4. การมีอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน

4.1 ครัวเรือนที่มีอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจากจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้นประมาณ 19.1 ล้านครัวเรือน พบว่ามีครัวเรือนที่มีโทรศัพท์พื้นฐาน 4.1 ล้านครัวเรือน (ร้อยละ 21.4) มีเครื่องโทรสาร 0.3 ล้านครัวเรือน (ร้อยละ 1.5) มีเครื่องคอมพิวเตอร์ 3.9 ล้านครัวเรือน (ร้อยละ 20.3) และมีครัวเรือนที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต 1.8 ล้านครัวเรือน (ร้อยละ 9.5)

4.2 ประเภทของอินเทอร์เน็ตที่ใช้ในครัวเรือนสำหรับครัวเรือนที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้สอบถามถึงประเภทของอินเทอร์เน็ตที่ใช้ในครัวเรือน พบว่า ครัวเรือนที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตใช้อินเทอร์เน็ตประเภท Fixed Broadband มากที่สุด ร้อยละ 55.8 รองลงมาเป็นประเภท Narrowband ร้อยละ 24.0 ส่วนประเภทไร้สาย (GPRS, EDGE, CDMA, WIFI) ร้อยละ 7.7 และไม่แน่ใจว่าใช้อินเทอร์เน็ตประเภทใด ร้อยละ 12.4

5. เปรียบเทียบการมีอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ. 2548 - 2552

เมื่อเปรียบเทียบจำนวนอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารต่อ 100 ครัวเรือน พบว่า ในระหว่าง ปี 2548 — 2552 จำนวนโทรศัพท์พื้นฐานลดลงจาก 26.8 เครื่อง เป็น 22.1 เครื่องต่อ 100 ครัวเรือน จำนวนเครื่องโทรสารต่อครัวเรือน มีสัดส่วนคงเดิมคือ 1.5 เครื่องต่อ 100 ครัวเรือนส่วนจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ เพิ่มขึ้นจาก 15.5 เครื่อง เป็น 25.6 เครื่องต่อ 100 ครัวเรือน และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นจาก 6.2 ครัวเรือน เป็น 9.5 ครัวเรือนต่อ 100 ครัวเรือน

6. ความคิดเห็น

ความต้องการให้ภาครัฐเข้ามาควบคุมดูแล เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร มีดังนี้ ประมาณร้อยละ 37.2 ของครัวเรือนทั้งสิ้น ต้องการให้ควบคุมเว็บไซต์ที่ลามกอนาจาร ร้อยละ 14.9 ควบคุมราคาโทรศัพท์มือถือ/อุปกรณ์มือถือ ร้อยละ 10.7 ควบคุมผู้ให้บริการร้านอินเทอร์เน็ต/เกมออนไลน์และร้อยละ 10.3 มีบทลงโทษที่เด็ดขาดสำหรับผู้กระทำผิดเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์

สรุปประเด็นเด่น

1. ประชากรในกรุงเทพฯใช้คอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 45.8) ใช้อินเทอร์เน็ต (ร้อยละ 38.0) และใช้โทรศัพท์มือถือ (ร้อยละ 75.5) มากกว่าภาคอื่น

2. ประชากรกลุ่มอายุ 6-14 ปี ใช้คอมพิวเตอร์มากกว่ากลุ่มอายุอื่น (ร้อยละ 65.4)

3. ประชากรกลุ่มอายุ 15-24 ปี ใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่ากลุ่มอายุอื่น (ร้อยละ 47.3)

4. สถานที่ที่ประชากรส่วนใหญ่ใช้อินเทอร์เน็ต คือ สถานศึกษา (ร้อยละ 46.8) บ้าน (ร้อยละ 33.4) และที่ทำงาน (ร้อยละ 29.0)

5. กิจกรรมส่วนใหญ่ที่ประชากรใช้อินเทอร์เน็ต คือ ค้นหาข้อมูลหรือติดตามข่าวสาร (ร้อยละ 80.6) เล่นเกมส์ (ร้อยละ 23.8) และรับส่งอีเมล์ (ร้อยละ 18.6)

6. ประชากรส่วนใหญ่ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ โดยการใช้บัตรเติมเงินมากถึงร้อยละ 90.6

7. ประชากรส่วนใหญ่ (ร้อยละ 96.7) ไม่เคยจองหรือซื้อสินค้าและบริการทางอินเทอร์เน็ตเนื่องจากไม่เห็นสินค้าจริงร้อยละ 34.4 กลัวถูกหลอกลวงร้อยละ 31.9 และขั้นตอนการสั่งซื้อยุ่งยาก ร้อยละ 17.4

8. ประชากรที่เคยจองสินค้าและบริการทางอินเทอร์เน็ตมีเพียงร้อยละ 3.3 โดยส่วนใหญ่ใช้บริการ e-Ticket ร้อยละ 17.4 ซื้อเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ ร้อยละ 14.7 ซื้อหนังสือและนิตยสารต่าง ๆ ร้อยละ 14.5

9. ครัวเรือนส่วนใหญ่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ประเภท Fixed Broadband มากถึงร้อยละ 55.8

10.เรื่องที่ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาควบคุมดูแลการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารมากที่สุดคือ การควบคุมดูแลเรื่องเว็บไซต์ลามกอนาจารควบคุมราคาโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์มือถือ และควบคุมผู้ให้บริการร้านอินเทอร์เน็ต/เกมออนไลน์

สรุปผลการสำรวจ

1. การใช้คอมพิวเตอร์/อินเทอร์เน็ต

1) จำนวนผู้ใช้คอมพิวเตอร์/อินเทอร์เน็ต

ผลการสำรวจ ในปี 2552 มีจำนวนประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไปทั้งสิ้นประมาณ 61.3 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้ใช้คอมพิวเตอร์ 17.9 ล้านคน (ร้อยละ 29.3) และมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 12.3 ล้านคน (ร้อยละ 20.1) โดยในเขตเทศบาลมีผู้ใช้คอมพิวเตอร์ 7.9 ล้านคน (ร้อยละ 42.0) และมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 6.2 ล้านคน (ร้อยละ 32.7) ในขณะที่นอกเขตเทศบาลมีผู้ใช้คอมพิวเตอร์ 10.0 ล้านคน (ร้อยละ 23.6) และผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 6.2 ล้านคน ร้อยละ 14.5

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค กรุงเทพมหานครมีผู้ใช้คอมพิวเตอร์ 2.9 ล้านคน (ร้อยละ 45.8) และใช้อินเทอร์เน็ต 2.4 ล้านคน (ร้อยละ 38.0) ภาคกลาง มีผู้ใช้คอมพิวเตอร์ 4.3 ล้านคน (ร้อยละ 29.8) และใช้อินเทอร์เน็ต 2.8 ล้านคน (ร้อยละ 19.3) ภาคเหนือมีผู้ใช้คอมพิวเตอร์ 3.1 ล้านคน (ร้อยละ 27.8) และใช้อินเทอร์เน็ต 2.2 ล้านคน (ร้อยละ 19.5) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีผู้ใช้คอมพิวเตอร์ 5.3 ล้านคน (ร้อยละ 25.3) และใช้อินเทอร์เน็ต 3.5 ล้านคน (ร้อยละ 16.7) ภาคใต้มีผู้ใช้คอมพิวเตอร์ 2.3 ล้านคน (ร้อยละ 27.6) และใช้อินเทอร์เน็ต 1.5 ล้านคน (ร้อยละ 17.5)

2) เพศและอายุของผู้ใช้คอมพิวเตอร์/อินเทอร์เน็ต

การใช้คอมพิวเตอร์หรืออินเทอร์เน็ตของเพศชายมีสัดส่วนใกล้เคียงกับเพศหญิง คือ ชายใช้คอมพิวเตอร์ร้อยละ 29.4 และใช้อินเทอร์เน็ตร้อยละ 19.8 ส่วนหญิงใช้คอมพิวเตอร์ร้อยละ 29.1 และใช้อินเทอร์เน็ตร้อยละ 20.4

ประชากรกลุ่มอายุ 6-14 ปี มีสัดส่วนการใช้คอมพิวเตอร์สูงสุดคือ ร้อยละ 65.4 รองลงมาคือประชากรกลุ่มอายุ 15-24 ปี ร้อยละ 55.5 และกลุ่มอายุ 25-34 ปี ร้อยละ 28.4 ส่วนการใช้อินเทอร์เน็ตมีการใช้สูงสุดในกลุ่มอายุ 15-24 ปี ร้อยละ 47.3 รองลงมาคือกลุ่มอายุ 6-14 ปี ร้อยละ 29.0 และกลุ่มอายุ 25-34 ปี ร้อยละ 21.5

3) ระดับการศึกษาของผู้ใช้คอมพิวเตอร์/อินเทอร์เน็ต

ผู้มีการศึกษาในระดับอุดมศึกษามีสัดส่วนการใช้คอมพิวเตอร์สูงสุดคือ ร้อยละ 83.4 และใช้อินเทอร์เน็ต ร้อยละ 72.0 รองลงมาคือระดับอาชีวศึกษา/อนุปริญญาใช้คอมพิวเตอร์ ร้อยละ 58.3 และใช้อินเทอร์เน็ต ร้อยละ 43.1 และมัธยมศึกษาตอนปลายใช้คอมพิวเตอร์ ร้อยละ 39.7 และใช้อินเทอร์เน็ต ร้อยละ 30.9

4) อาชีพของผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์/อินเทอร์เน็ต

เมื่อสอบถามผู้มีงานทำอายุ 15 ปีขึ้น ในแต่ละอาชีพถึงการใช้คอมพิวเตอร์/อินเทอร์เน็ตในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ผู้ทำงานด้านวิชาชีพด้านต่างๆ มีสัดส่วนการใช้คอมพิวเตอร์สูงสุดคือ ร้อยละ 93.5 และใช้อินเทอร์เน็ตร้อยละ 81.9 รองลงมาคืออาชีพเสมียนใช้คอมพิวเตอร์ ร้อยละ 78.1 และใช้อินเทอร์เน็ต ร้อยละ 60.2 ส่วนงานด้านวิชาชีพช่างเทคนิคสาขาต่างๆ ใช้คอมพิวเตอร์ ร้อยละ 74.1 และใช้อินเทอร์เน็ต ร้อยละ 60.8

5) สถานที่และกิจกรรมที่ใช้อินเทอร์เน็ต

ผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ใช้อินเทอร์เน็ตที่สถานที่ศึกษา ร้อยละ 46.8 รองลงมาใช้ที่บ้าน ร้อยละ 33.4 และใช้ที่ทำงาน ร้อยละ 29.0 โดยกิจกรรมที่ใช้อินเทอร์เน็ต ส่วนใหญ่ใช้ค้นหาข้อมูล/ติดตามข่าวสาร ร้อยละ 80.6 รองลงมาใช้เล่นเกมส์ ร้อยละ 23.8 และรับ-ส่งอีเมล์ ร้อยละ 18.6 สำหรับความถี่ในการใช้อินเทอร์เน็ตพบว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตใช้ค่อนข้างบ่อย (1-4 วันใน 1 สัปดาห์) ร้อยละ 59.8 รองลงมาใช้เป็นประจำ (5-7 วันใน 1 สัปดาห์) ร้อยละ 25.4

6) ลักษณะและพฤติกรรมของผู้ที่เคยจองหรือซื้อสินค้าและบริการ

ทางอินเทอร์เน็ต

เพศและกลุ่มอายุ

ในจำนวนผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ต 12.3 ล้านคน พบว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ไม่เคยจองหรือซื้อสินค้าและบริการทางอินเทอร์เน็ต จำนวน 11.9 ล้านคน หรือร้อยละ 96.7 ส่วนผู้ที่เคยจองหรือซื้อสินค้าและบริการทางอินเทอร์เน็ตมีเพียงร้อยละ 3.3 โดยแบ่งเป็นชาย ร้อยละ 51.0 และหญิง ร้อยละ 49.0

เมื่อพิจารณาตามกลุ่มอายุ พบว่า ผู้ที่เคยจองหรือซื้อสินค้าและบริการทางอินเทอร์เน็ต ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 25-34 ปี ร้อยละ 38.2 รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 35-49 ปี ร้อยละ 31.6 และกลุ่มอายุ 15-24 ปี ร้อยละ 21.5

ระดับการศึกษาและสถานภาพการทำงาน

ผู้ที่เคยจองหรือซื้อสินค้าและบริการทางอินเทอร์เน็ต ส่วนใหญ่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาถึงร้อยละ 52.7 รองลงมาคือระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ร้อยละ 27.3 อาชีวศึกษา/อนุปริญญา ร้อยละ 10.1 และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ 6.6 ส่วนประถมศึกษาและต่ำกว่า ร้อยละ 3.0

เมื่อพิจารณาสถานภาพการทำงานของผู้ที่เคยจองหรือซื้อสินค้า และบริการผ่านทางอินเทอร์เน็ต ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างเอกชน ร้อยละ 47.5 รองลงมาคือ ลูกจ้างรัฐบาล ร้อยละ 20.1 ช่วยธุรกิจของครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ร้อยละ 12.9 ประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้าง ร้อยละ 12.5 และนายจ้าง ร้อยละ 7.0

ประเภทสินค้าและบริการที่เคยจองหรือซื้อทางอินเทอร์เน็ต

ผู้ที่เคยจองหรือซื้อสินค้าและบริการทางอินเทอร์เน็ต ระบุว่าเคยจองหรือซื้อสินค้าและบริการประเภท e-Ticket มากที่สุด ร้อยละ 17.4 รองลงมา เครื่องแต่งกาย/เครื่องประดับ ร้อยละ 14.7 หนังสือ ร้อยละ 14.5 สินค้าบันเทิง/เครื่องกีฬา/เครื่องเขียน ร้อยละ 13.7 และอาหารเครื่องดื่ม สินค้าสุขภาพ ร้อยละ 12.7

ค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการทางอินเทอร์เน็ต

ค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการทางอินเทอร์เน็ตของผู้ที่เคยจองหรือซื้อทางอินเทอร์เน็ตมีค่าใช้จ่ายไม่สูงมากนัก ส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายอยู่ระหว่าง 1,000 — 2,999 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 32.9 รองลงมามีค่าใช้จ่ายอยู่ระหว่าง 3,000 — 5,999 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 18.2

วิธีการชำระค่าสินค้าและบริการที่สั่งซื้อทางอินเทอร์เน็ต

ผู้ที่เคยจองหรือซื้อสินค้าและบริการทางอินเทอร์เน็ต ส่วนใหญ่ใช้วิธีชำระค่าสินค้าและบริการด้วยบัตรเครดิต/บัตรเดบิต ร้อยละ 36.3 รองลงมาเป็นการโอนเงินผ่านทางธนาคาร ร้อยละ 29.2 หักบัญชีเงินฝาก ร้อยละ 13.0 และชำระด้วยเงินสด ร้อยละ 8.9

เหตุผลของผู้ที่ไม่เคยจองหรือซื้อสินค้าและบริการทางอินเทอร์เน็ต

สำหรับผู้ที่ไม่เคยจองหรือซื้อสินค้าและบริการทางอินเทอร์เน็ต ได้ระบุเหตุผล ดังนี้ ไม่เห็นสินค้าจริง ร้อยละ 34.4 กลัวถูก หลอกลวง ร้อยละ 31.9 ขั้นตอนการสั่งซื้อยุ่งยาก ร้อยละ 17.4 ความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวและบัตรเครดิต ร้อยละ 3.9 ราคาแพงกว่าหน้าร้าน ร้อยละ 2.7 ต้องรอสินค้า ร้อยละ 1.8 กลัวสินค้าสูญหายระหว่างส่ง ร้อยละ 0.9 และอื่นๆ ร้อยละ 7.0

2. จำนวนผู้มีโทรศัพท์มือถือ

จากประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไปทั้งสิ้นจำนวน 61.3 ล้านคน พบว่ามีผู้มีโทรศัพท์มือถือ (ไม่รวมเครื่อง PCT) ทั่วประเทศ จำนวน 34.8 ล้านคนหรือ คิดเป็นร้อยละ 56.8 กรุงเทพมหานคร มีสัดส่วนผู้มีโทรศัพท์มือถือมากที่สุดคือ 4.8 ล้านคน (ร้อยละ 75.5) รองลงมาภาคกลาง 9.1 ล้านคน (ร้อยละ 62.3) ภาคเหนือ 6.2 ล้านคน (ร้อยละ 54.8) ภาคใต้ 4.4 ล้านคน (ร้อยละ 52.6) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10.5 ล้านคน (ร้อยละ 50.2)

3. การมีอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน

1) ครัวเรือนที่มีอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน

เมื่อสอบถามหัวหน้าครัวเรือนเกี่ยวกับอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารต่างๆ ที่มีในครัวเรือนซึ่งได้แก่ เครื่องโทรศัพท์พื้นฐานเครื่องโทรสาร เครื่องคอมพิวเตอร์ และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในครัวเรือนผลการสำรวจ พบว่าจากจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 19.1 ล้านครัวเรือน มีครัวเรือนที่มีเครื่องโทรศัพท์พื้นฐาน 4.1 ล้านครัวเรือน (ร้อยละ 21.4) มีเครื่องโทรสาร 0.3 ล้านครัวเรือน (ร้อยละ 1.5) มีเครื่องคอมพิวเตอร์ 3.9 ล้านครัวเรือน (ร้อยละ 20.3) และมีครัวเรือนที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต 1.8 ล้านครัวเรือน (ร้อยละ 9.5)

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า กรุงเทพมหานคร มีสัดส่วนของครัวเรือนที่มีอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศทุกประเภทมากที่สุด ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีสัดส่วนของครัวเรือนที่มีอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศทุกประเภทน้อยที่สุดเช่นเดียวกัน

2) จำนวนอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน

นอกจากการสอบถาม ครัวเรือนที่มีอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแล้วยังถามจำนวนอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศฯ ต่างๆ ที่มีในครัวเรือน พบว่า ทั่วประเทศมีจำนวนเครื่องโทรศัพท์พื้นฐาน 4.2 ล้านเครื่อง (22.1 เครื่องต่อ 100 ครัวเรือน) จำนวนเครื่องโทรสาร 0.3 ล้านเครื่อง (1.5 เครื่องต่อ 100 ครัวเรือน) และจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ 4.9 ล้านเครื่อง (25.6 เครื่องต่อ 100 ครัวเรือน) โดยแยกเป็นเครื่อง PC 3.9 ล้านเครื่อง (20.5 เครื่องต่อ 100 ครัวเรือน) เครื่อง Notebook 0.9 ล้านเครื่อง (4.9 เครื่องต่อ 100 ครัวเรือน) และเครื่อง PDA 0.04 ล้านเครื่อง (0.2 เครื่องต่อ 100 ครัวเรือน)

3) ครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์และมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต

จากครัวเรือนที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวน 3.9 ล้านครัวเรือนพบว่า มีครัวเรือนที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต 1.8 ล้านครัวเรือน (ร้อยละ 46.9) และไม่ได้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต 2.1 ล้านครัวเรือน (ร้อยละ 53.1) เมื่อพิจารณาในแต่ละภาค กรุงเทพมหานครมีสัดส่วนของครัวเรือนที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมากที่สุดคือ ร้อยละ 71.6 รองลงมาคือ ภาคกลาง ร้อยละ 46.6 ภาคใต้ ร้อยละ 43.2 ภาคเหนือ ร้อยละ 38.8 ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีครัวเรือนที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตน้อยที่สุดคือ ร้อยละ 31.7

4) ประเภทของอินเทอร์เน็ตที่ใช้ในครัวเรือน

จากการสำรวจครั้งนี้ ได้สอบถามถึงประเภทของอินเทอร์เน็ตที่ใช้ในครัวเรือน พบว่า ครัวเรือนที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ใช้บริการอินเทอร์เน็ตประเภท Fixed broadband มากที่สุด ร้อยละ 55.8 รองลงมาเป็นประเภท Narrowband ร้อยละ 24.0 และประเภทไร้สาย (GPRS, EDGE, CDMA, WiFi) ร้อยละ 7.7 ส่วนที่ตอบว่าไม่แน่ใจ มีร้อยละ 12.4

5) ค่าใช้จ่ายในการใช้อินเทอร์เน็ตของครัวเรือน

สำหรับค่าใช้จ่ายในการใช้อินเทอร์เน็ตของครัวเรือน (ไม่รวมค่าโทรศัพท์) เฉลี่ยต่อเดือน พบว่า ครัวเรือนที่เสียค่าใช้จ่ายในการใช้อินเทอร์เน็ตจำนวน 400-599 บาท มากที่สุดคือ ร้อยละ 35.3 รองลงมาเสียค่าใช้จ่าย 600-799 บาท ร้อยละ 26.1 เสียค่าใช้จ่าย 200-399 บาท ร้อยละ 16.5 เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า 200 บาท ร้อยละ 11.0 เสียค่าใช้จ่ายมากกว่า 800 บาทขึ้นไปร้อยละ 6.4 และไม่เสียค่าใช้จ่ายเลย ร้อยละ 4.7

4. ความคิดเห็น

สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาควบคุมดูแลเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารพบว่า มีครัวเรือนร้อยละ 37.2 ต้องการให้ควบคุมเว็บไซต์ที่ลามกอนาจาร ร้อยละ 14.9 ควบคุมราคาโทรศัพท์มือถือ/อุปกรณ์มือถือ ร้อยละ 10.7 ควบคุมผู้ให้บริการร้านอินเทอร์เน็ต/เกมออนไลน์ร้อยละ 10.3 ควรมีบทลงโทษเด็ดขาดสำหรับผู้กระทำผิดเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ ร้อยละ 9.9 ควบคุมราคาคอมพิวเตอร์/อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และร้อยละ 5.6 ควรควบคุมการตัดต่อดัดแปลงภาพที่ทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง เป็นต้น

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ