จากภาวการณ์ของประเทศที่เผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน รัฐบาลจึงมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืน โดยให้ประชาชนในทุกภูมิภาค กลุ่มอาชีพ และกลุ่มอายุ ได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อสะท้อนปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ความยากจน ความเดือดร้อน และความต้องการที่จะให้รัฐบาลดำเนินการ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการสำรวจเพื่อสอบถามความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชนเพื่อให้ประชาชนมีช่องทางที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหา และความต้องการความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติได้เลือกประชาชนตัวอย่างที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวนทั้งสิ้น 100,920 ราย และส่งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสถิติแห่งชาติออกไปสัมภาษณ์ในระหว่างวันที่ 18 — 24 มิถุนายน 2553 จากผลการสำรวจ พบว่า ประชาชนมีลักษณะทางประชากร สังคม และเศรษฐกิจ
ผลการสำรวจความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชน สามารถสรุปประเด็นสำคัญ ได้ดังนี้
1. ความคิดเห็นในเรื่องความยากจนจากการประเมินตนเอง
เมื่อให้ประชาชนประเมินฐานะความเป็นอยู่ของตนเอง พบว่า มีคนกรุงเทพมหานครและคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่รู้สึกว่าตัวเองจนมากกว่าภาคอื่น ๆ และเมื่อพิจารณาแยกเป็นในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาล พบว่า คนที่อยู่ในเขตเทศบาลที่รู้สึกว่าตัวเองจนมีมากที่สุดในกรุงเทพมหานคร รองลงมาเป็นภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่คนภาคเหนือและภาคใต้ที่รู้สึกว่าตัวเองจนมีน้อยกว่าภาคอื่น ๆ สำหรับนอกเขตเทศบาล คนภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่รู้สึกว่าตัวเองจนมีมากกว่าภาคอื่นอย่างเห็นได้ชัด
ในเรื่องของความจนจากการประเมินตนเองอาจกล่าวได้ว่ามีปัญหามากในกลุ่มคนจนเมืองในกรุงเทพมหานครและคนจนชนบท ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จากการประเมินสาเหตุของความจน ประชาชนในภาพรวมเห็นว่าสาเหตุสำคัญ 3 อันดับ คือ ไม่มีทุนประกอบอาชีพ (ร้อยละ 65.9) ขาดโอกาส (ร้อยละ 45.3) และเรียนมาน้อย (ร้อยละ 40.2)
เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ประชาชนในทุกภาค (ยกเว้นกรุงเทพมหานคร) เห็นว่าสาเหตุสำคัญ คือ ไม่มีทุนประกอบอาชีพ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนมากกว่าภาคอื่น (ร้อยละ 70.4) สำหรับกรุงเทพมหานครเห็นว่าการขาดโอกาสเป็นสาเหตุสำคัญของความจน (ร้อยละ 55.0)
2. ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเป็นอยู่
ในเรื่องความเห็นต่อความเป็นอยู่ในปัจจุบันเทียบกับปีที่ผ่านมา แม้ว่าประชาชนประมาณครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 51.9 จะรู้สึกว่าไม่แตกต่างกัน แต่มีประชาชนถึงร้อยละ 33.9 ที่เห็นว่าความเป็นอยู่ของตนเองแย่ลง ส่วนที่เห็นว่าดีขึ้นมีอยู่ร้อยละ 14.2 และประชาชนที่เห็นว่าความเป็นอยู่แย่ลงกว่าปีที่แล้วมีสัดส่วนใกล้เคียงกันในทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ที่มีคนเห็นว่าสภาพความเป็นอยู่ดีกว่าปีที่แล้วมากกว่าที่เห็นว่าแย่ลง ที่น่าสนใจ คือ เมื่อให้คาดการณ์ว่าปีหน้าความเป็นอยู่ของตนเองจะเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับปัจจุบันคนทุกภาคมีความคาดหวังว่าความเป็นอยู่จะดีกว่าปีนี้หรือไม่แย่ไปกว่าปีนี้ โดยผู้ที่เห็นว่าความเป็นอยู่จะเหมือนเดิมและที่เห็นว่าจะดีขึ้นกว่าปีที่แล้วเพิ่มขึ้นมาก ในขณะที่ผู้ที่เห็นว่าจะแย่ลงมีสัดส่วนลดลงมาก
จากการสอบถามความพึงพอใจต่อสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน พบว่า ประชาชนในภาพรวมพึงพอใจในเรื่องสภาพเศรษฐกิจน้อยที่สุด (ร้อยละ 33.9) รองลงมา คือ รายได้และหนี้สิน (ร้อยละ 44.7) สภาพสังคม (ร้อยละ 49.2) โดยประชาชนในทุกภาคพอใจในเรื่องสภาพเศรษฐกิจในสัดส่วนที่น้อยที่สุด ทั้งนี้ ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความพอใจต่อสภาพความเป็นอยู่ในเรื่องต่าง ๆ ในสัดส่วนที่สูงกว่าภาคอื่น (ยกเว้นเรื่องระบบสาธารณูปโภค เส้นทางคมนาคม รายได้และหนี้สิน และสภาพเศรษฐกิจ) ในทางตรงกันข้ามประชาชนกรุงเทพมหานครมีความพึงพอใจต่อสภาพความเป็นอยู่ในทุกเรื่อง ในสัดส่วนที่น้อยกว่าทุกภาค
3. ปัญหาความเดือดร้อนในปัจจุบัน
ประชาชนได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อน โดยเป็นผู้ที่เห็นว่ามีปัญหาอยู่ในระดับปานกลาง และมาก มีดังนี้
1) ด้านชีวิตและความเป็นอยู่และครอบครัว พบว่า เรื่องที่ประชาชนประสบปัญหาความเดือดร้อน 3 อันดับแรก ได้แก่ สุขภาพ (ร้อยละ 29.3) ต้องรับภาระเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัวหลายคน (ร้อยละ 17.1) และขาดที่พึ่ง/ไม่มีคนดูแล (ร้อยละ 15.2) โดยประชาชนในทุกภาคประสบปัญหาความเดือดร้อนเรียงจากมากไปน้อยใน 3 อันดับแรก เช่นดียวกัน ยกเว้น กรุงเทพมหานคร ประสบปัญหาไม่มีบ้าน/ที่อยู่ อาศัยเป็นของตนเอง
2) ด้านอาชีพและการทำงาน พบว่า เรื่องที่ประชาชนประสบปัญหาความเดือดร้อน 3 อันดับแรก ได้แก่ ต้นทุนในการผลิตสูง (ร้อยละ 54.3) ขาดแคลนเงินทุนในการประกอบอาชีพ (ร้อยละ 47.8) และการทำมาหากินฝืดเคือง/ไม่มีลูกค้า (ร้อยละ 40.8) โดยประชาชนในทุกภาคยกเว้นกรุงเทพมหานคร ประสบปัญหาความเดือดร้อนเรื่องต้นทุนในการผลิตสูงในสัดส่วนที่มากกว่าเรื่องอื่นในขณะที่กรุงเทพมหานครประสบปัญหาความเดือดร้อนเรื่องขาดแคลนเงินทุนในการประกอบอาชีพในสัดส่วนที่มากกว่าเรื่องอื่น
3) ด้านรายได้และหนี้สิน พบว่า เรื่องที่ประชาชนประสบปัญหาความเดือดร้อน 3 อันดับแรก ได้แก่ รายได้ไม่แน่นอน/ราคา ผลผลิตการเกษตรไม่แน่นอน (ร้อยละ 54.9) รายได้ไม่พอกิน (ร้อยละ 50.3) และขายผลผลิตการเกษตรได้ราคาต่ำ/ถูกกดราคา (ร้อยละ 42.6) โดยประชาชนในทุกภาคยกเว้นกรุงเทพมหานคร ประสบปัญหาความเดือดร้อนเรื่องรายได้ไม่แน่นอน/ราคาผลผลิตการเกษตรไม่แน่นอนในสัดส่วนที่มากกว่าเรื่องอื่น ส่วนกรุงเทพมหานครประสบปัญหาความเดือดร้อนเรื่องรายได้ไม่พอกินมากกว่าเรื่องอื่น และมีข้อสังเกตว่าปัญหาเงินที่หามาได้ส่วนใหญ่ต้องนำมาใช้หนี้ติด 3 อันดับแรกในกรุงเทพมหานครและภาคกลาง
4) ด้านการศึกษา พบว่า เรื่องที่ประชาชนประสบปัญหาความเดือดร้อน 3 อันดับแรก ได้แก่ ต้องมีการเรียนพิเศษเพิ่มเติมเพื่อแข่งขัน (ร้อยละ 28.1) ไม่มีโอกาสให้ลูกหลานเรียนสถาบันการศึกษาที่ดี (ร้อยละ 27.1) และหลักสูตรการศึกษาเน้นศีลธรรม/จริยธรรมของนักเรียน/นักศึกษาน้อย (ร้อยละ 26.3) โดยประชาชนทุกภาค ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือประสบปัญหาความเดือดร้อนเรื่องต้องมีการเรียนพิเศษเพิ่มเติมเพื่อแข่งขัน ส่วนประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือประสบปัญหาความเดือดร้อนเรื่องไม่มีโอกาสให้ลูกหลานเรียนสถาบันการศึกษาที่ดีในสัดส่วนที่มากกว่าเรื่องอื่น
5) ด้านสภาพสิ่งแวดล้อม พบว่า เรื่องที่ประชาชนประสบปัญหาความเดือดร้อน 3 อันดับแรก ได้แก่ ภาวะโลกร้อน (ร้อยละ79.2)ภัยแล้ง/ฝนทิ้งช่วง (ร้อยละ 72.6) และมลพิษทางอากาศ/ฝุ่นละออง/หมอกควัน (ร้อยละ 35.5) โดยประชาชนในทุกภาค ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือประสบปัญหาความเดือดร้อนเรื่องภาวะโลกร้อนในสัดส่วนที่มากกว่าเรื่องอื่น สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือประสบปัญหาความเดือดร้อนเรื่องภัยแล้ง/ฝนทิ้งช่วงในสัดส่วนที่มากกว่าเรื่องอื่น
6) ด้านอื่น ๆ พบว่า เรื่องที่ประชาชนประสบปัญหาความเดือดร้อน 3 อันดับแรก ได้แก่ ความขัดแย้งทางการเมือง (ร้อยละ 50.2) การทุจริตคอรัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐ/นักการเมือง (ร้อยละ 49.3) และความรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้ (ร้อยละ 46.8 ) โดยในแต่ละ ภาคประสบปัญหาความเดือดร้อนในสัดส่วนสูงสุดแตกต่างกัน คือ กรุงเทพมหานครประสบปัญหาเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐ/นักการเมือง (ร้อยละ 78.4) ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ประสบปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองสูงกว่าปัญหาอื่น ในขณะที่ภาคใต้ ปัญหาอันดับหนึ่ง คือ ความรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้ มีข้อสังเกตว่าปัญหาเรื่องพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็กและเยาวชนติด 3 อันดับแรกในกรุงเทพมหานคร และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
4. สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ
สำหรับปัญหาด้านเศรษฐกิจ สิ่งที่ประชาชนในภาพรวมทั่วประเทศต้องการให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหามากที่สุด คือควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน (ร้อยละ 58.0) รองลงมาคือ มาตรการลดภาระค่าครองชีพ (ร้อยละ 36.9) และช่วยเหลือ/เพิ่มสวัสดิการในการครองชีพ (ร้อยละ 35.8) เมื่อพิจารณาเป็นรายเขตการปกครอง พบว่า สิ่งที่ประชาชนทั้งในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาลต้องการให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาในสัดส่วนที่สูงกว่าเรื่องอื่นคือ การควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันสิ่งที่ต้องการรองลงมาของประชาชนในเขตเทศบาลคือ มาตรการลดภาระค่าครองชีพ ช่วยเหลือ/เพิ่มสวัสดิการในการครองชีพ ส่วนสิ่งที่ประชาชนนอกเขตเทศบาลต้องการคือ ประกันราคาผลผลิตทางการเกษตร ควบคุมราคาสินค้าที่ใช้ในการเกษตร
ส่วนปัญหาด้านสังคม ประชาชนในภาพรวมต้องการให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ใน 3 อันดับแรก คือ จัดสวัสดิการรักษาพยาบาลของทุกกลุ่มให้เท่าเทียมกัน (ร้อยละ 59.6) ลดปัญหายาเสพติดในชุมชน/หมู่บ้าน (ร้อยละ 38.4) และปลุกจิตสำนึกคุณธรรม และจริยธรรมของนักการเมือง เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับประชาชน (ร้อยละ 38.3) โดยประชาชนในเขตเทศบาลต้องการให้รัฐบาลจัดสวัสดิการรักษาพยาบาลของทุกกลุ่มให้เท่าเทียมกัน ลดปัญหายาเสพติดในชุมชน/หมู่บ้าน และปลุกจิตสำนึก คุณธรรม และจริยธรรมของนักการเมือง เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับประชาชน ในสัดส่วนที่มากกว่าเรื่องอื่น ในขณะที่ประชาชนนอกเขตเทศบาลต้องการให้รัฐบาลจัดสวัสดิการรักษาพยาบาลของทุกกลุ่มให้เท่าเทียมกันในสัดส่วนที่มากกว่าเรื่องอื่น ปลุกจิตสำนึก คุณธรรม จริยธรรมของนักการเมืองเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับประชาชน และลดปัญหายาเสพติดในชุมชน/หมู่บ้าน
5. ความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการและนโยบายของรัฐบาล
จากการสอบถามประชาชนเกี่ยวกับมาตรการและนโยบายของรัฐบาล (14 โครงการ) พบว่า นโยบายที่ประชาชนมากกว่าร้อยละ 90 ทราบ ได้แก่ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 500 บาทต่อเดือน (ร้อยละ 98.8) เบี้ยยังชีพแก่ผู้พิการ 500 บาทต่อเดือน (ร้อยละ 98.2) หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (ร้อยละ 96.5) นโยบายเรียนฟรี 15 ปี (ร้อยละ 96.3) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ร้อยละ 93.5) สำหรับมาตรการหรือนโยบายที่ประชาชนทราบน้อยที่สุด คือ โครงการโฉนดชุมชน/ที่ดินทางการเกษตร มีผู้ที่ทราบ ร้อยละ 67.8 (รัฐบาลควรประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลและทำความเข้าใจให้แก่ประชาชน ให้มากขึ้น)
นอกจากนี้ เมื่อสอบถามประชาชนที่ทราบมาตรการหรือนโยบายด้านต่าง ๆ ถึงความเหมาะสมของโครงการ พบว่า เกือบทุกมาตรการหรือนโยบายของรัฐบาล มีประชาชนมากกว่าร้อยละ 90 เห็นว่าเหมาะสม ยกเว้น โครงการเบี้ยยังชีพแก่ผู้พิการ 500 บาทต่อเดือน และโครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 500 บาทต่อเดือน มีประชาชนร้อยละ 83.8 และร้อยละ 82.7 ตามลำดับ ที่เห็นว่าเหมาะสมสำหรับผู้ที่เห็นว่าไม่เหมาะสม เสนอว่าควรเพิ่มเบี้ยยังชีพให้มากกว่า 500 บาท
6. สาธารณูปโภคในชุมชน/หมู่บ้าน
จากการสำรวจ พบว่า สาธารณูปโภคที่ประชาชนในภาพรวมมากกว่าร้อยละ 90 เห็นว่า มีความเพียงพอ คือ ไฟฟ้า (ร้อยละ 95.1) และทางคมนาคมที่เข้าถึงชุมชน/หมู่บ้าน (ร้อยละ 91.1) สำหรับสาธารณูปโภคที่ประชาชนในภาพรวมมากกว่าร้อยละ 70 เห็นว่า ไม่เพียงพอ คือ เส้นทางรถไฟ ระบบขนส่งมวลชน
เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ประชาชนในกรุงเทพมหานคร เห็นว่า สาธารณูปโภคในชุมชน/หมู่บ้านทุกชนิดมีความเพียงพอในสัดส่วนที่สูงกว่าภาคอื่น (ยกเว้น ทางคมนาคมที่เข้าถึงชุมชน/หมู่บ้าน) โดยประชาชนในภาคกลาง เห็นว่า ทางคมนาคมที่เข้าถึงชุมชน/หมู่บ้านมีความเพียงพอในสัดส่วนที่สูงกว่าภาคอื่น ทั้งนี้หากพิจารณาถึงความไม่เพียงพอในสัดส่วนที่สูงที่สุด พบว่าประชาชนในภาคกลาง เห็นว่า สาธารณูปโภคในชุมชน/หมู่บ้านที่ไม่เพียงพอในสัดส่วนที่สูงกว่าภาคอื่นคือ รถโดยสารสาธารณะในการเดินทางเข้าถึงชุมชน/หมู่บ้าน ภาคเหนือ คือ เส้นทางรถไฟ และระบบขนส่งมวลชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ ไฟฟ้าเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทางคมนาคมที่เข้าถึงชุมชน/หมู่บ้าน และภาคใต้ คือ น้ำประปา โทรศัพท์สาธารณะในหมู่บ้าน
7. ความคิดเห็นเกี่ยวกับรถไฟรางคู่ และโครงข่าย 3G
เมื่อสอบถามประชาชนเกี่ยวกับรถไฟรางคู่ พบว่า ประชาชน ร้อยละ 56.3 ทราบ/รู้จักเรื่องดังกล่าว โดยประชาชนในกรุงเทพมหานครทราบในสัดส่วนที่สูงที่สุด ร้อยละ 81.1 รองลงมา คือ ภาคใต้ ร้อยละ 68.4 ภาคกลาง ร้อยละ 52.6 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 50.8 และภาคเหนือ ร้อยละ 48.1 โดยผู้ที่ทราบมากกว่า ร้อยละ 90 เห็นด้วยกับโครงการนี้
สำหรับโครงข่าย 3G ผู้ที่ทราบ/รู้จัก ร้อยละ 43.5 โดยประชาชนในกรุงเทพมหานครรู้จักในสัดส่วนที่มากกว่าภาคอื่น คือ ร้อยละ 68.5 รองลงมา คือ ภาคใต้ ร้อยละ 47.7 ภาคกลาง ร้อยละ 44.0 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 37.9 และภาคเหนือ ร้อยละ 35.9 โดยผู้ที่ทราบมากกว่า ร้อยละ 90 เห็นด้วยกับโครงการเครือข่าย 3G นี้
8. การประสบปัญหาจากการให้บริการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
จากการสอบถามเกี่ยวกับการประสบปัญหาจากการให้บริการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พบว่า ประชาชนเคยประสบปัญหาการให้บริการโดยเลือกปฏิบัติ (ลำเอียง) จากเจ้าหน้าที่ของรัฐในสัดส่วนมากที่สุด ร้อยละ 13.8 รองลงมา เคยประสบปัญหาการเรียกรับสินบน ร้อยละ 7.6 การทุจริตคอรัปชั่น ร้อยละ 7.0 และการถูกข่มขู่คุกคาม ร้อยละ 3.3
เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ประชาชนในกรุงเทพมหานคร เคยประสบปัญหาในทุกเรื่องในสัดส่วนที่สูงกว่าประชาชนในภาคอื่น รองลงมา คือ ภาคใต้ ภาคกลาง (ไม่รวม กทม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ